แพทย์แนะคนออกกำลังกาย ระวัง! เส้นเอ็นร้อยหวายอักเสบ เป็นแล้วต้องรีบรักษาก่อนรุนแรง

แพทย์แนะคนออกกำลังกาย ระวัง! เส้นเอ็นร้อยหวายอักเสบ เป็นแล้วต้องรีบรักษาก่อนรุนแรง

วันนี้ (30 มิถุนายน 2567) นพ.นรุตม์ชัย โชติกกำธร ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านเท้าและข้อเท้า โรงพยาบาล (รพ.) เวชธานี เปิดเผยว่า เส้นเอ็นร้อยหวายเป็นเส้นเอ็นที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่เชื่อมต่อกล้ามเนื้อน่องกับส้นเท้า เพื่อให้การเดิน วิ่ง และกระโดดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หากเส้นเอ็นเสื่อมสภาพหรือตึงเกินไป อาจทำให้เอ็นร้อยหวายอักเสบได้ง่าย

นพ.นรุตม์ชัย กล่าวว่า อาการที่พบได้บ่อยของเอ็นร้อยหวายอักเสบ ได้แก่ รู้สึกเจ็บ ปวด บริเวณหลังส้นเท้าในขณะเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นช่วงยืน เดิน วิ่ง และกระโดด, มีอาการปวดรุนแรงหลังจากที่เพิ่งออกกำลังกายเสร็จ, มีอาการบวม และร้อนบริเวณหลังส้นเท้า, กล้ามเนื้อที่น่องจะตึงมากกว่าปกติ เมื่อสัมผัสที่น่องจะรู้สึกแน่นๆ เนื่องจากกล้ามเนื้อตึงเครียด และเวลางอเท้าจะรู้สึกว่าเคลื่อนไหวไม่ถนัด

Advertisement

“สาเหตุการเกิดเส้นเอ็นร้อยหวายอักเสบ เกิดจากการใช้งานมาก ไม่ว่าจะเป็นยืนนานๆ เดินมากๆ ออกกำลังกายในท่าซ้ำๆ จนทำให้เกิดการตึงและบาดเจ็บ การเล่นกีฬา เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล แบดมินตัน ฯลฯ การสวมรองเท้าส้นสูงเป็นประจำ การสวมรองเท้าที่ไม่พอดีกับเท้า หรือสวมรองเท้าที่พื้นรองเท้าชำรุด ตลอดจนความเสื่อมจากอายุที่มากขึ้นและภาวะน้ำหนักเกิน” นพ.นรุตม์ชัย กล่าวและว่า การวินิจฉัยนั้น แพทย์จะเริ่มด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจด้วยการทำเอกซเรย์ หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อตรวจดูความผิดปกติของเส้นเอ็นร้อยหวาย การเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อ และความผิดปกติปกติของกระดูกส้นเท้า เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยที่แม่นยำและวางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.นรุตม์ชัย กล่าวถึงการรักษาเส้นเอ็นร้อยหวายอักเสบ ว่า มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรง ดังนี้ ช่วงที่มีอาการอักเสบเฉียบพลันบวมแดง สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยวิธีพักการใช้งานข้อเท้า การรักษาด้วยการประคบเย็น การรัดผ้าพันแผลบริเวณข้อเท้าและยกขาสูง บางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้สนับข้อเท้า หรือตัวพยุงส้นเท้า เพื่อช่วยในการลงน้ำหนักหรือเดิน

“นอกจากนี้ มีการรักษาด้วยการกินยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) เช่น ไอบูโฟรเฟน และนาพรอกเซน เพื่อช่วยลดอาการปวดและการบาดเจ็บ การทำกายภาพบำบัด เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของเส้นเอ็นร้อยหวายที่อักเสบ หรือการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดต่างๆ เพื่อช่วยเสริมการทำหน้าที่ของเส้นเอ็น เช่น การใส่อุปกรณ์ในรองเท้าหรือบริเวณส้นเท้า เป็นต้น” นพ.นรุตม์ชัย กล่าวและว่า หากรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะแนะนำการผ่าตัดเพื่อรักษาและซ่อมแซมเส้นเอ็นที่ได้รับบาดเจ็บ โดยการผ่าตัดจะนำเอ็นร้อยหวายส่วนที่เสื่อมสภาพออก และซ่อมแซมเส้นเอ็นร้อยหวายที่บริเวณกระดูกส้นเท้า ทำให้ลดอาการปวดจากเอ็นร้อยหวายที่เสื่อมสภาพ ส่วนการป้องกันเอ็นร้อยหวายอักเสบ คือ ควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นทุกครั้งก่อนออกกำลังกาย เลือกใช้รองเท้าที่มีพื้นที่รองรับแรงกระแทกบริเวณส้นเท้า หากต้องสวมรองเท้าส้นสูง ควรลดความชันของส้นสูงลงมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป และควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ เพื่อทำให้เส้นเอ็นร้อยหวายไม่ต้องทำงานหนักเกินไป

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image