ผู้ให้-รับบริการ และ อปท.ยื่นข้อเสนอ สปสช.ปรับปรุงพัฒนาระบบบัตรทอง

ผู้ให้-รับบริการ และ อปท.ยื่นข้อเสนอ สปสช.ปรับปรุงพัฒนาระบบบัตรทอง

วันนี้ (30 มิถุนายน 2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดการประชุมสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เพื่อพัฒนาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2567 ซึ่งได้ดำเนินการตาม มาตรา 18 (13) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2567 ทั้งนี้ ได้แบ่งการสรุปข้อคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย สปสช. จะทำการรวบรวมเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ต่อไป

นพ.อนุชิต หิรัญกิตติ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาล (รพ.) วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ตัวแทนกลุ่มผู้ให้บริการ สรุปข้อเสนอต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า ในเรื่องมาตรฐานบริการสาธารณสุข มีประเด็นนำเสนอ คือ

Advertisement

1.เสนอให้มีเกณฑ์การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่ได้คุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สนับสนุนงบประมาณตามศักยภาพการบริการ สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ 2562 และมีระบบการจ่ายชดเชยตามศักยภาพการให้บริการ

2.เสนอให้จัดระบบออกใบส่งตัว แยกค่าใช้จ่ายตามศักยภาพการให้บริการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับหน่วยบริการ สนับสนุนการตรวจสอบก่อนจ่าย สร้างความมั่นใจบริการที่คลินิกเวชกรรมเพื่อลดความแออัดใน รพ. เมื่อเกินศักยภาพของคลินิกไม่ต้องขอใบส่งตัวซ้ำ และให้แยกการจัดสรรงบบริการแบบ Global budget ระหว่างคลินิกและโรงพยาบาลออกจากกัน

3.ปรับโมเดล 5 เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ 4.มีข้อกำหนดการส่งทุติยภูมิที่ชัดเจนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้สื่อสารทำความเข้าใจการเข้ารับบริการตามสิทธิ 5.ให้สื่อสารทำความเข้าใจแก่ประชาชนและผู้ให้บริการ ในการรับบริการตามสิทธิ ในแนวทางเดียวกัน

Advertisement

6.ให้ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก เพื่อการเกิดโรคเรื้อรังและโรคต้นทุนสูง สร้างแรงจูงใจและตระหนักรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชน มีการจัดแพ็คเกจในระบบปฐมภูมิ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของหน่วยบริการปฐมภูมิ

7.บูรณาการดูแลสุขภาพผู้ป่วยไต ตั้งแต่คัดกรอง ชะลอการเจ็บป่วยและฟอกไต 8.เสนอให้บริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น (กปท.) ให้มีประสิทธิภาพและให้จัดบริการตามกลุ่มอายุ และ 9.เสนอให้มีบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่สอดคล้องกับภาวะสังคมสูงวัย เพิ่มศักยภาพหน่วยบริการ
นวัตกรรม เช่น ร้านยาชุมชนอบอุ่น เพื่อช่วยในการดูแลเบื้องต้นและเชื่อมโยงระบบบริการ

นพ.อนุชิต กล่าวอีกว่า ในด้านบริหารจัดการสำนักงาน ให้ทบทวนเงื่อนไขการออกจากระบบให้มีความเหมาะสม เช่น กรณีคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ต้องการออกนอกระบบแต่ติดเงื่อนไข 180 วัน ส่วนการบริการจัดการกองทุนฯ มี 4 ข้อเสนอย่อย คือ 1.ทบทวนระบบการจ่าย อัตราการจ่าย และจัดงบประมาณให้เหมาะสมแก่คลินิกชุมชนอบอุ่น เช่น ใช้รูปแบบการจ่ายแบบเดียวกับหน่วยบริการนวัตกรรม รวมทั้งจัดกระบวนการตรวจสอบการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่ได้มีการส่งตัว ให้มีการตรวจสอบระหว่างกันได้ว่าการเบิกจ่ายถูกต้องหรือไม่ 2.คลินิกชุมชนอบอุ่นเสนอปรับค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายรายหัวเป็น 1,000 บาทต่อประชากร และมีกองทุนมารองรับภาระการตามจ่ายกรณีส่งต่อผู้ป่วยนอก 3.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ขอให้โอนงบผู้ป่วยนอก และงบสร้างเสริมสุขภาพฯ 100% ไปยัง รพ.สต. โดยตรงตามจำนวนประชากรพื้นที่ และ 4.อัตราเหมาจ่ายสร้างเสริมสุขภาพฯ ในกรุงทพฯ ขอให้ได้รับเช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ และขอให้เพิ่มค่าใช้จ่ายด้วย

“และสุดท้าย ประเด็นเรื่องนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เนื่องจากเกรงว่านโยบายดังกล่าวอาจสร้างค่านิยมให้ผู้รับบริการเรียกร้องให้โรงพยาบาลปฐมภูมิส่งตัวไปโรงพยาบาลขั้นสูงเลย จึงเสนอให้ทบทวนรูปแบบการจ่าย เป็นระบบการจ่ายแบบปลายเปิดแทน” นพ.อนุชิต กล่าว

ด้าน น.ส.ศิริวรรณ อาษาศรี มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน ตัวแทนผู้รับบริการ กล่าวว่า ในประเด็นเกี่ยวกับประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข เสนอให้ 1.เพิ่มสิทธิประโยชน์คัดกรองตรวจสุขภาพประจำปีในกลุ่มอาชีพเสี่ยงและแรงงานนอกระบบ เช่น กลุ่มที่สัมผัสสารเคมี 2.เสนอให้มีคลินิกเยาวชนเฉพาะ ที่จัดบริการให้กลุ่มเยาวชนและวัยรุ่น 3.จัดบริการให้คำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์กรณีการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และเพิ่มให้มีบริการคลินิกเพื่อนใจวัยรุ่นและขยายไปในหน่วยบริการ ในการให้บริการด้านสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชน พร้อมทั้งเสนอให้มีวัคซีนป้องกันโรคในเด็กและเยาวชนทุกคนในประเทศ 4.ปรับกลไกในการจัดซื้อยาต้านไวรัส ลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก 5.เพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อยืนยันเพศในกลุ่มหลากหลายทางเพศ ครอบคลุมผ่าตัดเปลี่ยนเพศ ยา รวมถึงการดูแลหลังผ่าตัด 6.เสนอให้การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิทธิของคนทุกคนไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะกลุ่มเสี่ยง 7.เพิ่มสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มความหลากหลายและคัดกรองมะเร็งทวารหนัก 8.กรณีมีอุบัติเหตุที่ต้องได้รับการตกแต่งอวัยวะเพศ เสนอให้เป็นสิทธิประโยชน์เรื่องการรักษาพยาบาล

น.ส.ศิริวรรณ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุข มีข้อเสนอให้หน่วยบริการเพิ่มความระมัดระวังในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้รับบริการ ขณะที่ด้านการบริหารจัดการสำนักงาน สปสช.นั้น ให้ทบทวนกระบวนการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางค่าเบี้ยประชุมค่าพาหนะและค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องให้กับภาคประชาชนอย่างรวดเร็วภายใน 1 – 2 วัน ด้านการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ระบบสาธารณสุขเป็นระบบเดียวมาตรฐานเดียวและให้ สปสช.เป็น Clearing House นอกจากนี้ ให้เพิ่มหน่วยบริการสำหรับกลุ่มความหลากหลายทางเพศให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ที่ปัจจุบันมีเฉพาะในกรุงเทพฯ

“ขณะที่ การบริหารจัดการ กปท.มีข้อเสนอ 4 ข้อ 1.ให้คลินิกและโรงพยาบาลมีสิทธิในการพิจารณาผู้ที่ต้องได้รับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ 2.ให้สามารถปรับเปลี่ยนชนิดผ้าอ้อมให้เหมาะสมกับผู้รับบริการเฉพาะราย 3.เพิ่มศักยภาพคณะกรรมการ กปท. ให้ได้รับรู้และเข้าใจหลักการระบบหลักประกันสุขภาพ โดยระบุเป็นแผนการสร้างการรับรู้สิทธิหลักประกันสุขภาพ 4.มีการกำหนดวงเงินงบประมาณที่ชัดเจนที่สนับสนุนภาคประชาชนในการดูแลบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ หรือ กปท. เช่น ร้อยละ 10” น.ส.ศิริวรรณ กล่าว

ส่วนด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและการรับรู้การคุ้มครองสิทธิ น.ส.ศิริวรรณ กล่าวว่า มี 5 ข้อเสนอ คือ 1.มีกลไกติดตามและป้องกันการถูกเรียกเก็บเงินจากบริการฟอกไตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี HIV และเพิ่มหน่วยฟอกไตให้เพียงพอ 2. เพิ่มการประชาสัมพันธ์ศูนย์คุ้มครองสิทธิ์บัตรทอง เพื่อให้ประชาชนและหน่วยบริการรับทราบเนื่องจากเพิ่งมีการเปลี่ยนชื่อใหม่ 3.ให้มีกลไกการทำงานคุ้มครองสิทธิร่วมกันระหว่างหน่วยนวัตกรรม ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง หน่วยมาตรา 3 ตามแนวทางของระบบหลักประกันสุขภาพ 4.เสนอให้มีกลไกคุ้มครองสิทธิกระจายครบทุกตำบล และ 5.ปรับปรุงเกณฑ์การเบิกจ่ายชดเชย ม.41 กรณีเด็กคลอดและเสียชีวิตจากเดิม 37 สัปดาห์เป็น 32 สัปดาห์

“ส่วน 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ให้เพิ่มการสื่อสารประชาสัมพันธ์นโยบายบัตรประชาชนใบเดียว และเชื่อมโยงบูรณาการฐานข้อมูล ให้ผู้ให้บริการรู้ประวัติการรักษาของรับการผู้รักษา” น.ส.ศิริวรรณ กล่าวและว่า ยังมีข้อเสนอเพิ่มเติม คือ ให้มีห้องน้ำสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในหน่วยบริการและในโรงเรียน ให้มีตึกผู้ป่วยในเฉพาะกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เพิ่มแพทย์เฉพาะทางให้คำปรึกษาในระดับโรงพยาบาลชุมชนเฉพาะโรงพยาบาลที่เข้าโครงการ และประชาสัมพันธ์การใช้คำนำหน้านามเป็น “คุณ” หรืออื่นๆ แทนการเรียกคำว่า นาย/นาง หรือ นางสาว

ด้าน นายธีรนันต์ ปราบราย ปลัดเทศบาล ต.นาชะอัง อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร ตัวแทน อปท. กล่าวถึงข้อเสนอว่า ในด้านการบริหารจัดการกองทุน กปท. เสนอให้เพิ่มเงินงบประมาณมากกว่า 45 บาทต่อคน และการขอเงินเพิ่มเติมระหว่างปี อปท.ไม่ต้องสมทบ หรือจ่ายสมทบในสัดส่วนที่น้อยกว่า สปสช. นอกจากนี้ สปสช. ควรมีโครงการตัวอย่าง มีพี่เลี้ยง หลักสูตร และหนุนเสริมกำกับติดตามระดับจังหวัด และ เสนอให้ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เป็นผู้กำกับดูแลติดตามการดำเนินการกองทุนเสนอ และให้ปรับราคาผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้มากกว่า 9.5 บาท และเพิ่มจำนวนชิ้นผ้าอ้อมผู้ใหญ่จาก 3 ชิ้นเป็น 5 ชิ้น

“ประเด็นกองทุนระบบการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงด้านสาธารณสุขระยะยาว (Long Term Care) เสนอทบทวนเงื่อนไขระเบียบและให้ สสอ.ช่วยกำกับติดตาม รวมทั้งให้ สปสช. ประสานงานร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนนโยบายระดับประเทศ ส่งเสริมให้เกิดศูนย์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ มีการจัดทำมาตรฐานหลักสูตรอบรม Care Giver ให้ครบถ้วนและแนวทางปฏิบัติและตรวจสอบที่ชัดเจน สอดคล้องทั้งระเบียบของกรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และของ สปสช. ส่วนการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปสู่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ควรมีกองสาธารณสุขให้ครบทุกแห่ง และ สปสช. ควรมีกองทุนสร้างเสริมสุขภาพฯ ที่จัดสรรให้ รพ.สต. โดยเฉพาะ รวมทั้งควรมีนโยบายระดับประเทศส่งเสริมให้เกิดศูนย์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุครอบคลุมทุกพื้นที่ และประเด็นเรื่องบัตรประชาชนใบเดียวเสนอให้ยกเลิกการยืนยันตัวตนเนื่องจากประชาชนบางคนทำไม่ได้จึงเกิดปัญหาในการรับบริการ” นายธีรนันต์ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image