หมอ เผย 8 กลุ่มอาการ ‘คนสูงวัย’ ชี้ สัญญาณบอกโรคไม่ตรงไปตรงมา ทำคนรู้ตัวช้า อาการหนักขึ้น

หมอ เผย 8 กลุ่มอาการ ‘คนสูงวัย’ ชี้ สัญญาณบอกโรคไม่ตรงไปตรงมา ทำคนรู้ตัวช้า อาการหนักขึ้น

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ เครือมติชน ร่วมกับองค์กรและหน่วยงานพันธมิตรสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนจัดงาน Thailand Healthcare 2024 ‘เกษียณสโมสร’ ชวนตรวจสุขภาพฟรี 30 โรงพยาบาลชั้นนำ ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้ายของการจัดกิจกรรม

เวลา 11.10 น. เข้าสู่กิจกรรม Health Talk หัวข้อ ‘กลุ่มอาการสูงอายุ..เรื่องที่ผู้ดูแล ผู้สูงวัยควรรู้ ?’ โดย นพ.อภินันทน์ อภิวัฒนันต์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอายุรกรรมและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลธนบุรี

Advertisement

นพ.อภินันทน์ กล่าวว่า สำหรับคำว่า “ผู้สูงอายุ” กับ “วัยผู้ใหญ่” มีความแตกต่างกันโดยผู้สูงอายุจะมีลักษณะพิเศษ “RAMPS” ได้แก่ R – Reduced reserve อวัยวะเริ่มเสื่อมถอย โดยจะเริ่มจากส่วนบนลงล่าง ไล่ตั้งแต่ศีรษะที่ผมเริ่มร่วง เส้นผมเปลี่ยนสีเป็นสีขาว ดวงตาที่พร่ามัว ลิ้นรับรสชาติได้ไม่ดี ไปจนถึงอวัยวะส่วนล่างที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัว A – Atypical presentation อาการที่ไม่ตรงไปตรงมา เช่น การติดเชื้อต่างๆ ที่คนวัยหนุ่มสาวจะมีไข้ ทำให้เรารู้ว่าร่างกายกำลังติดเชื้อ แต่ผู้สูงวัยอาจจะไม่มีไข้ เพราะระบบภูมิคุ้มกันไม่ได้ดีเหมือนวัยหนุ่มสาว แต่อาจเกิดอาการไอ เจ็บคอแทน เมื่อไม่รู้ว่ามีการติดเชื้อ แล้วปล่อยไว้เนิ่นนานอาการก็อาจจะแย่ลง หรืออย่างโรคหัวใจที่ควรจะมีอาการแน่นหน้าอก แต่ผู้สูงวัยที่เป็นโรคเบาหวาน ระบบประสาททำงานได้ไม่ดี ทำให้อาการแน่นหน้าอกไม่ค่อยโชว์ออกมา อาจจะมีแค่อาการเหนื่อยง่าย ทำให้ผู้สูงอายุไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคหัวใจด้วย

นพ.อภินันทน์ กล่าวว่า M – Multiple pathology มีโรคร่วมหลายอย่าง เช่น ผู้ป่วยสูงอายุมาพบแพทย์ด้วยอาการเดินลำบาก ซึ่งอาการดังกล่าวอาจจะเป็นได้ทั้งโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) โรคกระดูกทับเส้นประสาท ฉะนั้น ถ้ารักษาเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ป่วยก็จะไม่หาย หรือกลับมาเป็นซ้ำได้โดยง่าย P – Polypharmacy ได้ยาหลายชนิด ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะได้รับยาที่ต้องทานประจำมากกว่า 3 ตัวขึ้นไป บางคนก็มากกว่า 5 ตัว ฉะนั้น ก็จะเป็นปัญหาของฤทธิ์การทำงานของยาที่จะตีกัน หรือเกิดปัญหาเมื่อไปหาแพทย์ที่ไม่ใช่แพทย์ประจำ แพทย์อีกคนจะไม่ทราบว่าผู้ป่วยทานยาอะไรอยู่ อาจจ่ายยาซ้ำ หรือมีฤทธิ์ที่ตีกัน และ S -Social adversity ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะต้องไปพบแพทย์เป็นประจำ ซึ่งเวลาไป รพ. ก็ต้องมีคนพาไป อาจจะเป็นผู้ดูแลหรือเป็นลูกหลานที่ต้องลางานเพื่อไป รพ. ดังนั้น ในส่วนนี้แพทย์จำเป็นจะต้องพิจารณาดูว่านัดหมายอะไรที่สามารถรวบได้บ้าง เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องไป รพ. หลายครั้ง

Advertisement

นพ.อภินันทน์ กล่าวว่า กลุ่มอาการสูงอายุจะมีหลักๆ 8 กลุ่ม ได้แก่ 1.ภาวะหกล้ม เนื่องจากปัญหาความเสื่อมของร่างกาย หรือปัญหาข้อเข่าเสื่อม 2.การสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว โดยพบว่าผู้สูงอายุหลายคนเลือกที่จะไปนอนที่เตียง ไม่ออกไปเดินทำกิจกรรม เพราะมีอาการปวดหลัง ปวดขา ทำให้กว่าร้อยละ 50 ของกิจกรรมแต่ละวันคือการนอนที่เตียง ทำให้ผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องการติดเตียง ตรงนี้แพทย์ก็จำเป็นจะต้องค้นหาแผลกดทับในร่างกาย 3.ความสามารถทางสติปัญญาบกพร่อง ซึ่งจะมี 3 กลุ่มหลักคือ ภาวะซึมสับสนเฉียบพลัน โดยผู้สูงอายุจะจำเหตุการณ์ในช่วงนั้นๆ ไม่ได้ หรือบางคนบอกว่าเห็นคนที่เสียชีวิตไปแล้ว ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ และภาวะสมองเสื่อม 4.ภาวะกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ซึ่งอาจจะมีปัญหาจากหลายๆ โรค มักพบบ่อยในผู้ชาย เนื่องจากสาเหตุต่อมลูกหมากโต ทำให้ปัสสาวะไม่พุ่งแล้วถูกกักเอาไว้ แล้วเมื่อมีแรงดัน อย่างเช่นไอ จามก็จะเล็ดออกมาได้ หรืออุจจาระ โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีอาการท้องผูก เพราะขยับร่างกายน้อย ทำให้ลำไส้ไม่ได้เคลื่อนไหว ก็ทำให้เกิดท้องผูก

นพ.อภินันทน์ กล่าวต่อว่า 5.ภาวะขาดสารอาหาร เนื่องจากผู้สูงวัยมักจะทานน้อยลง จากหลายปัจจัยอย่าง เช่นเรื่องอารมณ์ ที่ผู้สูงอายุมักจะรอกินข้าวกับลูกหลาน หรือเกิดจากการทานยาบางตัว และเกิดจากต่อมรับรสของลิ้นที่เสื่อมลง เช่น รสเค็ม ทำให้ต้องกินเค็มมากขึ้น ส่งผลต่อโรคความดัน โรคไต แต่สำหรับรสที่ยังรับได้ตามปกติ คือ หวานและเปรี้ยว ทำให้ผู้สูงอายุชอบกินผลไม้ แล้วก็ต้องระวังเรื่องของน้ำหวานในผลไม้ด้วย 6.โรคที่เกิดจากการปฏิบัติทางการแพทย์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ยา ฉะนั้น ผู้ป่วยอายุจำเป็นต้องเอายาไปพบแพทย์ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการจ่ายยาซ้ำซ้อน และอีก 2 กลุ่มอาการที่ถูกบรรจุเพิ่มเข้ามา คือ 7.ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยลง และ 8.ภาวะเปราะบาง อย่างเช่นการเข้า รพ. ที่ตอนแรกผู้สูงอายุเดินมา แต่พอกลับบ้านต้องใช้รถเข็น เพราะความเสื่อมของร่างกายที่ถดถอยทำให้ร่างกายฟื้นฟูได้น้อยลง

“ทั้งนี้ ความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยสูงอายุคือการดูแลแบบองค์รวม เริ่มต้นจากที่บ้านคือ อาหารการกินเป็นประเด็นหลัก ต้องทานให้พอ อาคารครบ 5 หมู่และเน้นในเรื่องของการทานโปรตีนให้มากขึ้น แต่ด้วยฟันของผู้สูงวัยเคี้ยวได้ไม่ดี ก็เลยกินเนื้อสัตว์น้อยลง ไม่ดื่มนมเพราะท้องเสีย กลับไปได้คาร์โบไฮเดรตเยอะ เช่นแป้ง ของหวาน และผลไม้ ต่อมาคือออกกำลังกาย แนะนำผู้สูงอายุออกกำลังกายวันละ 30 นาที เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน หรือทำอะไรที่เราพึงพอใจ โดยสัปดาห์หนึ่งจะต้องออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที ถัดไปคือการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และการดูแลเรื่องการจัดยาอย่างเหมาะสม เพื่อลดปัญหาการทานยาผิด ยาขาดหรือทานยาเกิน” นพ.อภินันทน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image