แพทย์แนะผู้ปกครอง ระวัง! บุตรหลานติดไวรัส RSV ชี้มักระบาดในช่วงหน้าฝน

แพทย์แนะผู้ปกครอง ระวัง! บุตรหลานติดไวรัส RSV ชี้มักระบาดในช่วงหน้าฝน

วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจ สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มักพบระบาดในฤดูฝน โดยไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก ผ่านการสัมผัสฝอยละอองจากการไอ จามของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV การสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งและเชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายชั่วโมงและอยู่ที่มือของเราได้นานประมาณ 30 นาที ดังนั้น ผู้ปกครองควรเน้นย้ำให้บุตรหลานล้างมือบ่อยๆ

อาการของผู้ที่ติดเชื้อไวรัส RSV มักจะมีอาการน้อยคล้ายไข้หวัดธรรมดา น้ำมูกไหล ไอ จาม มีไข้ แต่ในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี หรือทารกคลอดก่อนกำหนด หรือในกลุ่มเด็กที่มีโรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจมีอาการรุนแรงเป็นหลอดลมฝอยอักเสบ และปอดบวม ไข้สูง ไอมีเสมหะ หายใจหอบจนอกบุ๋ม หายใจแรง หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงวี้ด ซึม ตัวเขียว ในบางรายอาจไอมากจนอาเจียน ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ผู้ปกครองจึงควรสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรงดังกล่าว ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์” นพ.ไพโรจน์กล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมการแพทย์ และผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาล (รพ.) เด็ก กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง ได้แก่ เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคปอดเรื้อรัง เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือภาวะทุพโภชนาการ ประเทศไทยยังไม่มียารักษาจำเพาะต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ การรักษาจึงเป็นรักษาตามอาการ

Advertisement

“ในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น กินได้น้อย มีอาการขาดน้ำอาจต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ หรือในรายที่มีภาวะพร่องออกซิเจน จำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน RSV โดยตรง ผู้ปกครองสามารถลดความเสี่ยงและป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ในลูกน้อยได้โดยดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นล้างมือให้สะอาด แยกผู้ป่วย RSV เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในที่แออัดหรือในที่สาธารณะ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเมื่อมีน้ำมูกค้างในโพรงจมูก ดื่มน้ำที่สะอาดในปริมาณที่ควรได้รับ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ” นพ.อัครฐานกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image