หัวหน้าอุทยานแก่งกระจานโพสต์ภาพเสือโคร่งในวนอุทยานแห่งชาติ

วันที่ 23 มิถุนายน นายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ป่าต้องใหญ่ และมีเหยื่อ เสือถึงอยู่ได้ ความพยายามอนุรักษ์ผืนป่า แก่งกระจาน ซึ่งเป็นป่าผืนใหญ่ต่อเชื่อมกับแนวป่าของประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบไปด้วยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน อุทยานแห่งชาติกุยบุรีและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี พื้นที่แก่งกระจานจึงเป็นพื้นที่ความหวังในการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่สำคัญ เสือโคร่ง จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย ช้างป่า วัวแดง และสรรพสัตว์อีกหลายชนิด

ปัจจัยที่นำสู่ความสำเร็จ หรือเกิดความก้าวหน้าในปัจจุบันในการดำเนินการ คุ้มครองดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
1. การควบคุมการขยายพื้นที่ทำกินในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติไม่เพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่เดิม โดยใช้แนวทางตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พศ. 2562 มติคณะรัฐมนตรี 26 พฤศจิกายน 2561 คณะมนตรี 30 มิถุนายน 2541 และคำสั่งคสชที่ 66/2557 เป็นฐานประกอบแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมภาพถ่ายอากาศ

2. การพัฒนาระบบ ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ การพัฒนาระบบการลาดตระเวนให้ครอบคลุมพื้นที่ สร้างความรู้และเทคนิคในการบริหารจัดการระบบการลาดตระเวนให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

3. การพัฒนาการระบบลาดในแนวเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่อนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรและอุทยานแห่งชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่อยู่รอบข้างจัดกิจกรรมการลาดตระเวนอย่างมีส่วนร่วมระหว่างอุทยานแห่งชาติ ทุกแห่งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในรอยต่อและรวมถึงการลาดตระเวนร่วมกับองค์กรที่ดูแลทรัพยากรและมีหน่วยกำลังในพื้นที่ทั้งอำเภอ ทหาร ตชด และ อส

Advertisement

4. การพัฒนาระบบลาดตระเวนร่วมกับชุมชนเพื่อดูแลคุ้มครองรักษาพื้นที่ ที่ได้รับการตรวจสอบตามมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายอุทยานแห่งชาติ พ. ศ. 2562 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและมีการนำร่องหมู่บ้าน ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติที่เป็นชุมชนพื้นเมือง ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ ให้จัดตั้งชุดลาดตระเวนคุ้มครองดูแลรักษาแนวเขตที่ดินและแนวเขตป่า ที่ได้รับการผ่อนปรนตามกฎหมาย รวมถึงเป็นแนวร่วมในการดูแลรักษา สัตว์ป่าในพื้นที่ในอนาคต

5. การจัดชุดกำลังเจ้าหน้าที่ในการคุ้มครองดูแลสัตว์ป่า ที่ออกนอกเขตป่า จัดการอนุรักษ์ และป้องกันการลักลอบทำลายป่าไม้และสัตว์ป่ามาหลายปีหลายๆพื้นที่อนุรักษ์ต่างประสบปัญหามีสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น และออกนอกพื้นที่เพื่อหากินในพื้นที่ชุมชนการจัดตั้งชุดผลักดันคุ้มครองช่วยเหลือช่วยชีวิตสัตว์ป่าจะเป็นงานหนึ่งที่เริ่มดำเนินการในหลายพื้นที่อนุรักษ์และยังคงต้องการเทคนิคความรู้อุปกรณ์ที่ใช้ในการช่วยชีวิตสัตว์ป่ามากขึ้น เพื่อลดปัญหาผลกระทบ ของคนกับสัตว์ป่า ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อมีการคุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรอย่างเข้มงวด

ผลพวงจากการคุ้มครองดูแลสัตว์ป่าเวลาหลายปี การติดตามประชากรสัตว์ป่า ความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า จำนวน ชนิด ปริมาณ จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการปัจจุบัน โดยความร่วมมือกับ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า และ กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ในการสำรวจทรัพยากรสัตว์ป่า เสือดาว เสือโคร่ง และกำลังดำเนินการในชนิดพันธุ์ต่างๆเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

ล่าสุดจากการสำรวจของนักวิชาการป่าไม้ นายวิสูจน์ สุพงษ์ (ฉายา one camera trap one tiger)ได้ออกลาดตระเวนบริเวณรอยต่อระหว่างพื้นที่อนุรักษ์ และติดกล้อง Camera Trap ไว้จำนวน 1 ตัว เพื่อติดตามและศึกษาประชากรสัตว์ป่า โชคดีพบภาพเสือโคร่งซึ่งบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จึงนับว่าเป็นข่าวดี ที่ยังคงมีสัตว์ป่า และชนิดพันธุ์ที่หายากหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ รอการฟื้นฟูจำนวนประชากร แต่การที่ทรัพยากรสัตว์ป่าสามารถอาศัยอยู่ได้ ยังคงต้องการพื้นที่สันโดษที่ไม่ถูกรบกวนโดยมนุษย์ การที่มีชุมชนอยู่ใกล้เขตป่า และในเขตป่าจึงเป็นปัจจัยคุกคามกับความอยู่รอดของประชากรสัตว์ป่าที่สำคัญ การสร้างกลไกความร่วมมือในการอนุรักษ์กับชุมชนจึงเป็นสิ่งท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image