ธุรกิจไอที ‘ไซเบอร์ซีเคียวริตี้’ รอวันเฉิดฉาย!!

ปี 2568 คาดมูลค่าการลงทุนด้าน Cybersecurity (ไซเบอร์ซีเคียวริตี้) ของไทยจะอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันเงิน ธุรกิจ การดูแลสุขภาพ และอุตสาหกรรมการผลิต มีแนวโน้มจะติดตั้งระบบ Cybersecurity ประเภท Infrastructure Protection Network Security และ Identity and Access Management มากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยี IoT ในกระบวนการผลิต 

แนวโน้มการลงทุนดังกล่าวคาดว่าจะทำให้รายได้รวมของอุตสาหกรรมระบบ Cybersecurity ของไทยเพิ่มขึ้นจาก 4.4 พันล้านบาทในปี 2565 เป็น 6.3 พันล้านบาทในปี 2568 หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 12.3%

โดยธุรกิจที่มีโอกาสขยายตัวโดดเด่นที่สุด
คือ ธุรกิจให้บริการติดตั้งระบบ Cybersecurity คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของรายได้อยู่ที่ปีละ 14.5%

ต่อประเด็นนี้ “พงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ” นักวิเคราะห์จาก Krungthai COMPASS ให้
มุมมองว่า ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอยู่ยังสามารถขยายธุรกิจไปยังกลุ่มสินค้า Cybersecurity ประเภท Cloud Security และ Data Security เพราะความต้องการใช้ระบบ
ดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามการ
ใช้ระบบคลาวด์ในไทย ประกอบกับ สัดส่วนรายได้จากสินค้าในกลุ่มนี้ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก 

Advertisement

ปัจจุบัน องค์กรทั่วโลก รวมถึงองค์กรไทยมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจไปสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น จึงมีโอกาสถูกโจมตีทางไซเบอร์และโจรกรรมข้อมูลต่างๆ สูงขึ้น ผนวกกับสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ซับซ้อนและรุนแรงขึ้น ทำให้ความเสียหายจากภัยดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดย Cybersecurity Ventures ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้าน Cybersecurity ของสหรัฐ คาดมูลค่าความเสียหายจากภัยคุกคามทางไซเบอร์จะเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2558 เป็น 10.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568

ขณะที่ CISCO บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีระดับองค์กร พบ ผู้ประกอบการในไทยที่มีความพร้อมในการรับมือกับความเสี่ยงด้าน Cybersecurity ยุคใหม่เพียง 9% เท่านั้น 

ด้วยเหตุผลข้างต้น ทำให้องค์กรต่างๆ ในไทยตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยทาง Cyber มากขึ้น จึงมีแนวโน้มลงทุนระบบ Cybersecurity เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจของ CISCO ปี 2567 พบว่า 86% ของบริษัทในไทยมีแผนเพิ่มงบประมาณลงทุนระบบ Cybersecurity อย่างน้อย 10% ในอีก 1 ปีข้างหน้า จะเป็นผลดีต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมระบบ Cybersecurity 

Advertisement

ทำความรู้จักกับระบบ Cybersecurity แต่ละประเภท 

ระบบ Cybersecurity คือ ระบบที่ใช้ในการปกป้องระบบคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฐานข้อมูล และระบบเครือข่ายจากการถูกเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต ถูกโจมตี และความเสี่ยงทางไซเบอร์ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันระบบดังกล่าวที่นิยมใช้ในไทย มีอยู่ 6 ประเภท ดังนี้ 

1.Cloud Security เป็นระบบที่ช่วยป้องกันข้อมูลแอพพลิเคชั่น และโครงสร้างระบบเครือข่ายที่อยู่บนระบบคลาวด์จากภัยคุมคามทางไซเบอร์ต่างๆ 

2.Data Security เป็นระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ช่วยปกป้องข้อมูลทางดิจิทัลจากการถูกขโมย ถูกทำลาย หรือถูกเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต 

3.Identity and Access Management เป็นระบบบริหารจัดการตัวตนและการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ผ่านการยืนยันในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบุคคลที่เข้าถึงข้อมูลหรือทรัพยากรขององค์กรเป็นบุคคลที่มีสิทธิ

4.Network Security เป็นระบบที่ทำหน้าที่ป้องกันระบบอินเตอร์เน็ตจากการถูกคุมคามจากภายนอกรวมทั้งตรวจสอบการเข้าถึงระหว่างกันภายในเครือข่ายและอินเตอร์เน็ต 

5.Consumer Security เป็นระบบ Cybersecurity ที่ทำหน้าที่ป้องกันข้อมูลในอุปกรณ์ไอทีของผู้บริโภคจากการถูกทำลาย โจมตีทางไซเบอร์ และเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

6.Infrastructure Protection เป็นระบบที่ทำหน้าที่ปกป้องโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์ไอทีต่างๆ

ปัจจุบัน ระบบ Cybersecurity ที่นิยมใช้ในประเทศไทย คือ Infrastructure Protection สัดส่วน 30% ของมูลค่าการลงทุนด้านระบบ Cybersecurity ทั้งหมด รองลงมาคือ Network Security และ Identity and Access Management คิดเป็นสัดส่วนอย่างละ 18% 

กลุ่มธุรกิจที่ลงทุนด้านระบบ Cybersecurity พบว่า กลุ่มธุรกิจสถาบันการเงินใช้เงินในการลงทุนด้านระบบ Cybersecurity และบริการที่เกี่ยวข้องมากที่สุด คิดเป็น 28% รองลงมาคือหน่วยงานภาครัฐ และธุรกิจบริการไอทีและโทรคมนาคม 21% และ 15% ตามลำดับ 

แนวโน้มลงทุน Cybersecurity ขององค์กรในไทย

Krungthai COMPASS คาดว่า มูลค่าการลงทุนด้านระบบ Cybersecurity และบริการที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มขึ้นจาก 1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2565 เป็น 1.8 หมื่นล้านบาทในปี 2568 หรือเติบโตปีละ 13.3% 

การที่องค์กรทั้งภาคเอกชนและภาครัฐในไทยให้ความสำคัญและมีแนวโน้มลงทุนด้าน Cybersecurity มากขึ้น ส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมระบบ Cybersecurity แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

1.เจ้าของผลิตภัณฑ์ระบบ Cybersecurity (Vendor) ทำหน้าที่พัฒนาและขายระบบ Cybersecurity ให้กับตัวแทนจำหน่ายระบบ Cybersecurity หรือผู้ให้บริการติดตั้งระบบดังกล่าว เช่น IBM CISCO Check Point และ Palo Alto 

2.ตัวแทนจำหน่ายระบบ Cybersecurity (Dealer) ทำหน้าที่สั่งซื้อระบบ Cybersecurity จากเจ้าของผลิตภัณฑ์เพื่อมาจำหน่ายต่อกับผู้ให้บริการติดตั้งระบบ Cybersecurity (System Integrator) โดยเจ้าของผลิตภัณฑ์บางรายกำหนดให้ซื้อสินค้าและบริการผ่าน Dealer ที่ลงทะเบียนกับเจ้าของผลิตภัณฑ์เท่านั้น

3.ธุรกิจให้บริการติดตั้งระบบ Cyber security และธุรกิจให้บริการด้านความปลอดภัยแบบจัดจ้าง 

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยทั้งอุตสาหกรรมระบบ Cybersecurity มี 36 ราย อยู่ในธุรกิจตัวแทนจำหน่ายระบบ Cybersecurity ธุรกิจให้บริการติดตั้งระบบ Cybersecurity และธุรกิจให้บริการด้านความปลอดภัยแบบจัดจ้าง 5 ราย 20 ราย และ 11 ราย ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มเจ้าของผลิตภัณฑ์ระบบ Cybersecurity ไม่มีผู้ประกอบการไทย เพราะไทยพึ่งพาการนำเข้าระบบ Cybersecurity จากต่างประเทศ เช่น สหรัฐ เป็นต้น 

เมื่อพิจารณารายละเอียดของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมระบบ Cybersecurity พบว่า การลงทุนด้าน Cybersecurity ของไทยในปี 2567-68 มี 3 กลุ่ม ได้แก่

-กลุ่มธุรกิจให้บริการติดตั้งระบบ Cyber security (System Integrator) เติบโตโดดเด่นที่สุด คาดรายได้รวมจากการให้บริการติดตั้งและซ่อมบำรุงระบบ Cybersecurity จะเพิ่มจาก 1.3 พันล้านบาทในปี 2565 เป็น 2 พันล้านบาทใน
ปี 2568 หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 14.5%

-กลุ่มธุรกิจให้บริการด้านความปลอดภัยแบบจัดจ้าง (Managed Security Service Provider) มีทิศทางเติบโตโดดเด่นรองลงมา คาดรายได้ทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นจาก 0.9 พันล้านบาทในปี 2565 เป็น 1.2 พันล้านบาทในปี 2568 หรือเติบโตปีละ 11.4% ตามทิศทางค่าใช้จ่ายของการใช้บริการที่เกี่ยวข้องกับระบบ Cybersecurity ของไทย 

โดยค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้บริการของธุรกิจนี้ มีสาเหตุหลัก 3 ประการ คือ 1.ภัยคุกคามที่เกิดจากความพยายามเจาะเข้าระบบผ่านจุดอ่อนหรือช่องโหว่ของระบบ Cybersecurity (Intrusion Attempts) ของทั่วโลกเพิ่มขึ้นราว 7% ในปี 2566 2.ไทยยังขาดแคลนบุคคลด้านดิจิทัล ซึ่งรวมถึง Cybersecurity จำนวนมากปีละ 30,000 คน แต่มีบุคลากรใหม่ที่มีทักษะด้านดิจิทัลเข้ามาในสายงานดังกล่าวเพียงปีละ 5,000 คน และ 3.การจ้างผู้ให้บริการ Managed Security Service Providers จะช่วยให้สามารถยับยั้งภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้เร็วขึ้น ลดระยะเวลาในการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ 

-กลุ่มธุรกิจตัวแทนจำหน่ายระบบ Cyber-security (Dealer) มีแนวโน้มเติบโตตามความต้องการใช้ระบบ Cybersecurity ประเภท Network Security คาดรายได้รวมจากจัดจำหน่ายระบบ Cybersecurity ของกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นจาก 2.2 พันล้านบาท ในปี 2565 เป็น 3 พันล้านบาท ในปี 2568 หรือ มีเติบโตปีละ 11.3% 

ปัจจุบันมูลค่าการลงทุนระบบ Cybersecurity และบริการที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะธุรกิจสถาบันการเงิน หน่วยงานของภาครัฐ ธุรกิจ Healthcare และอุตสาหกรรมการผลิตมีแนวโน้มใช้ระบบ Cybersecurity ประเภท Infrastructure Protection Network Security และ Identity and Access Management รวมทั้งใช้บริการด้านความปลอดภัยแบบจัดจ้าง (Managed Security Service Provider) มากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลและป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ที่ซับซ้อนขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ยังมีตลาดกลุ่มสินค้าระบบ Cybersecurity บางประเภท อย่าง Cloud Security และ Data Security มีแนวโน้มเติบโตรวดเร็ว มีผู้ประกอบการในตลาดไม่มาก 

จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมระบบ Cybersecurity ที่จะขยายธุรกิจไปยังกลุ่มสินค้าดังกล่าว!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image