แพทย์ เผย มะเร็งปอดเจอเยอะขึ้นในผู้หญิงอายุน้อย ซ้ำไม่สูบบุหรี่ คาดโยงระบบพันธุกรรม

แพทย์ เผย มะเร็งปอดเจอเยอะขึ้นในผู้หญิงอายุน้อย ซ้ำไม่สูบบุหรี่ คาดโยงระบบพันธุกรรม

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ เครือมติชน ร่วมกับองค์กรและหน่วยงานพันธมิตรสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนจัดงาน Thailand Healthcare 2024 ‘เกษียณสโมสร’ ชวนตรวจสุขภาพฟรี 30 โรงพยาบาลชั้นนำ

จัดเต็ม 6 โซนเด่น 4 ไฮไลต์เพื่อสุขภาพ เพื่อฉลองครบรอบปีที่ 16 งานแฟร์สุขภาพอันดับ 1 ของประเทศ ระหว่างวันที่ 27 – 30 มิถุนายนนี้ ซึ่งโดยวันนี้เป็นวันสุดท้าย

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ 10.00 น. พบประชาชนจำนวนมาก นั่งรอคอยต่อแถวในจุดตรวจสุขภาพโดยมีทั้งรอบเช้า รอบบ่ายและคลินิกพิเศษในรอบเย็น โดยประชาชนยังให้ความสนใจกับบูธตรวจสุขภาพจากวันแรกจนถึงวันสุดท้าย เป็นอย่างจำนวนมาก

Advertisement

เวลา 13.00 – 13.45 น. มีเวทีเสวนา Health Talk หัวข้อ ฝ่าวิกฤต PM 2.5 เรื้อรังอันตรายเสี่ยงภัย “มะเร็งปอด” โดย พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ แพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวว่า ฝุ่น PM2.5 มีผลต่อการกำเริบของโรคที่เกี่ยวกับปอด ขึ้นอยู่กับความมากน้อยของฝุ่นในระยะเวลานั้นๆ โดยในช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 มากในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ คนไข้ที่มีโรคปอดเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืดจะมีอาการมากขึ้น และจะมีสัดส่วน % ที่เยอะขึ้นกว่าช่วงที่ไม่ค่อยมีค่าฝุ่น PM2.5

“โรคปอดขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคปอดที่เกิดอะไร เช่น เกิดจากถุงลมโป่งพอง ก็อาจจะสัมพันธ์กับการกระทำของเรา การรับสิ่งกระตุ้น การสูบบุหรี่ หรืออยู่ในที่ที่มีค่า PM2.5 สูง กลุ่มโรคหอบหืด ขึ้นอยู่กับกรรมพันธ์ุ เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับเบสิคของเรา หรือกลุ่มโรคปอดอักเสบจากการได้รับเเบคทีเรีย ก็ขึ้นอยู่กับการได้รับเชื้อโรคในช่วงเวลานั้นๆ“ พญ.เปี่ยมลาภ กล่าว

Advertisement

พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวต่อว่า สัดส่วนผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับปอดก็พบได้จำนวนมาก ทั้งถุงลมโป่งพองเพิ่มขึ้น โรคหอบหืดที่ดูกำเริบขึ้น ส่วนมากเป็นการกำเริบขึ้นจากโรคพื้นฐาน

สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นเยอะมาก และกำลังจะขึ้นมาเป็นอันดับ 2-3 ของประเทศไทย ในอดีตโรคมะเร็งปอด จะสัมพันธ์กับผู้ที่สูบบุหรี่และเป็นผู้ชาย แต่ในปัจจุบันพบในผู้หญิงอายุน้อยลงที่ไม่ได้สูบบุหรี่มากขึ้น อาจจะเกี่ยวกับระบบกรรมพันธุ์ หรือการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมบางอย่าง ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงของมะเร็งมากขึ้น

“ค่าเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ก็ยังอยู่ในเกณฑ์สูงอายุราว 50-60 ปีขึ้นไป แต่ก็ยังพบได้ในเด็กที่อายุน้อยลง ประมาณ 30-40 ปีก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดและมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นได้“ พญ.เปี่ยมลาภ เผย

พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวว่า ปัจจัยของมะเร็งปอดนอกจากฝุ่น PM2.5 อันดับ 1 คือ บุหรี่ เพราะเป็นการหายใจอัดตัวบุหรี่เข้าไป โดยสารที่ก่อมะเร็งอยู่ข้างในบุหรี่จะนับจำนวนได้ สามารถบอกได้ว่าอัดเข้าไปเท่านี้ ระยะเวลาเท่านี้จะทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ เรียกว่า ‘การคำนวณค่า pack-year‘ เช่น หากสูบเข้าไป 20 มวน (1 ซอง) คูณระยะเวลา 20 ปี จะคำนวนได้เป็น 20 แพคเยียร์ ก็สามารถบอกได้ว่ามีเปอร์เซ็นต์การเกิดมะเร็งปอดได้มากกว่า

ส่วนปัจจัยของฝุ่น PM2.5 นั้น ยังไม่มีความแน่นอนเพราะเราอยู่ในที่ที่มีปริมาณ PM2.5 ไม่เท่ากันและยังไม่มีรายงานข้อมูลออกมาอย่างชัดเจนที่จะบอกระยะเวลาว่าเกิดกี่ปีๆ ถึงจะเป็นมะเร็งปอด โดยค่าของ PM2.5 มีสองค่า คือ ความเข้มข้นที่อยู่ในอากาศ และ ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ ( AQI ) โดยจะเข้าไปทำข้อมูลในกลุ่มประเทศที่มีระดับฝุ่น PM2.5 เกิน 100 มิลลิกรัมต่อมิลลิตร และต้องสูงต่อเนื่องเป็นเวลาครึ่งวัน และเอามาพล็อตดูผล ซึ่งการเพิ่มขึ้นของฝุ่น PM2.5 ทุก 10 มิลลิกรัม มีผลทำให้เกิดโอกาสเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นประมาณ 8% ของคนไข้มะเร็งทั้งหมด

“PM 2.5 มีขนาด 2.5 ไมครอน เปรียบเทียบกับการเอาเส้นผม 1 เส้นที่มีขนาด 10 ไมครอน และหารสัดส่วน 1 ใน 4 ของเส้นผม หากมีละอองเข้าไปในร่างกายขนาดเกินกว่า 5 ไมครอน จะตกอยู่บริเวณหลอดลมส่วนบน ส่วนขนาดที่เล็กกว่า 5 ไมครอน จะลงไปลึกกว่า และมีความสามารถในการทะลุทะลวง เข้าไปในกระแสเลือดได้เล็กน้อย ซึ่งก็จะไปเกี่ยวข้องกับระบบส่วนอื่น เช่นระบบหัวใจ” พญ.เปี่ยมลาภ อธิบาย

สำหรับผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เมื่อรับเข้าฝุ่น PM 2.5 เข้าไป จะทำให้ภูมิตกเพิ่ม อาจจะมีผลทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น มีโอกาสป่วยง่ายขึ้น และทำให้โรคเบสิค เช่น โรคหัวใจ หอบหืด หรือมะเร็งอยู่แล้ว จะเกิดการกำเริบขึ้น ไอเพิ่ม เหนื่อยเพิ่ม หรืออาการฉับพลันขึ้นมาได้ นี่เป็นเสียของฝุ่น PM2.5

พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวต่อว่า โดยเบสิคแล้ว ร่างกายจะมีการปัดทิ้ง แต่ฝุ่น PM2.5 มีขนาดเล็ก จึงมีความสามารถค่อยๆ ผ่านเข้าไปได้ การที่ได้รับสิ่งกระตุ้นเข้าไป ร่างกายพยายามจะโต้ตอบ ทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากการที่เราโต้ตอบกับสิ่งกระตุ้น ทำให้เกิดการสสารอักเสบออกมาทำให้เราแย่ลง

สำหรับอาการเริ่มต้นของมะเร็งปอด พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวว่า มะเร็งปอด มีหลายกลุ่ม แต่ส่วนมากที่พบบ่อยคือ กลุ่มอะดีโนคาร์ซิโนมา มักมีจุดกำเนิดที่บริเวณปอด อาจจะจุดเล็กนิดเดียวและกระจายไปยังส่วนอื่น เช่น ต่อมน้ำเหลือง และปอดส่วนอื่น หรือบางคนมาพบแพทย์ด้วยอาการกระจายไปแล้ว หรือบางคนมาด้วยตำแหน่งที่เป็นใหญ่ขึ้น กดทำลายเนื้อปอดจึงมีอาการ ซึ่งคนเราจะแย่ลง เนื้อปอดต้องหายไปกว่า 50%

ข้อเสียของมะเร็งปอดคือ อาจจะยังไม่แสดงอาการในตอนแรก อาจเป็นจุดมีก้อนในปอด แต่พอไปตรวจเพิ่ม คือกระจายแล้ว เพราะเบสิคของโรคนี้คือ ส่งกระจายและอาการน้อย ต้องเกิดจากกการตรวจเอกซเรย์แล้วเจอ

โดยการตรวจเอกซเรย์ปอดจะมีความหยาบ มากกว่า เพราะเห็นภาพเป็น 2 มิติ ความละเอียดต่ำ วันนี้เอกซเรย์ไม่เห็น แต่ผ่านไป 3-4 เดือนอาจจะเห็นขึ้นมาได้ และการเอกซเรย์ปอดยังไม่ใช่คัดกรองที่ดีที่สุด เพราะการคัดกรองที่ดีที่สุด คือ หากเราตรวจวันนี้แล้วไม่เจอ การคัดกรองที่ดีต้องช่วยคาดคะเนว่าปีต่อไป เราจะยังไม่ตรวจเจออยู่ แต่ภาพเอกซเรย์ปอด 2 มิติ ไม่สามารถบอกได้ว่าอีก 3 เดือนจะไม่มีปัญหา แต่อาจจะเริ่มเห็น 6-9 เดือน

ปัจจุบัน มีวิธีการที่เรียกว่าการ ‘ฉีดสี’ ใช้ความเข้มข้นของรังสีที่มากระทบตัวคนต่ำลง มีข้อดีคือ มักจะเป็น 3 มิติ สามารถเห็นจุดเล็กๆได้ หากทำทุกปี ก็จะสามารถบอกได้ว่า ยังไม่เป็นอะไร แต่ข้อเสียคือ การได้รับอันตรายจากแสงรังสีในทุกๆปี และเกิดความไม่คุ้มค่ากับการที่จะหาจุดเล็กๆบนปอดในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่ำ จะหาไม่ค่อยเจอ เพราะฉะนั้นจึงมีการเลือกกลุ่มของคนไข้ในการตรวจ คือ กลุ่มผู้สูงอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป (มาตรฐานของต่างประเทศ) ที่ต้องมีความเสี่ยงสูงร่วมกับการสูบบุหรี่มากกว่า 20 แพคเยียร์ จึงจะแนะนำให้มาตรวจ

ส่วนแนวทางป้องกันสำหรับผู้สูงวัย พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวว่า สำหรับกลุ่ม PM2.5 ที่เป็นปัญหาการกำเริบของโรคเดิม มีผลทำให้อาการแย่ลง แนะนำให้หลีกเลี่ยงอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่น PM 2.5 หนาแน่น หรือเลือกใช้เครื่องกรองอากาศในบ้าน โดยแนะนำให้เปลี่ยนรอบในอากาศให้เยอะที่สุด 2-4 รอบ จะทำให้อากาศสะอาดขึ้น สร้างความหมุนเวียนของอากาศให้เหมาะสม อย่างน้อยอากาศในห้องเปลี่ยน คนไข้ก็จะดีขึ้น และปิดแมสอยู่ในห้องปิด และใช้อุปกรณ์เหล่านี้ช่วย อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงออกกำลังกายกลางแจ้ง

“สำหรับแมสก์ที่ดีที่สุด คือ n95 กรองความละเอียดประมาณ 5 ไมครอนได้ แต่เนื่องด้วยราครที่ค่อนข้างสูงมาก อาจจะปรับมาใช้การใส่แมสก์ซ้อนสองชั้น เหมือนทำตะแกรงกรองปลาตัวเล็ก ปลาตัวเล็กมันก็รอดไม่ได้ เพราะตะแกรงซ้อนและเหลื่อมกัน ก็จะติดชั้นถัดไป ทำให้หลงเหลือเข้าไปในร่างกายน้อยลง เป็นการป้องกันเบื้องต้นและผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ต่างๆได้” พญ.เปี่ยมลาภ กล่าว

ส่วนผู้ที่อายุน้อยๆ แนะนำหลีกเลี่ยงควันหรือการสูบบุหรี่ พยายามเลี่ยงอากาศไม่ปลอดภัย แต่ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือการรักษาใดๆ ที่รักษาแล้วให้หาย หรือป้องกันได้ 100% ว่าจะไม่เกิดมะเร็งปอด ส่วนการเสริมสร้างให้ปอดเเข็งแรง ทำได้โดยการสวมแมสก์ หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง ร่วมกับการออกกำลังกาย ที่ทำให้มีภูมิที่ดีชัดมากจึ้น เช่น เต้นแอโรบิคให้หัวใจเต้นเรทที่สูงกว่าปกติ ต่อเนื่อง 30 นาทีต่อวัน หรือ 150 ต่อสัปดาห์ หรือปั่นจักรยาน วิ่ง เดินไว และว่ายน้ำก็ได้ด้วยเช่นกัน

“ออกกำลังกายสำคัญที่สุด และช่วยกันลดสิ่งที่จะมากระตุ้นเรา การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ลดการใช้รถบนถนน เปลี่ยนมาใช้รถสาธารณะ ลดการเผาป่า และเช็คระดับควันดำต่างๆ“ พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ที่สนใจเดินทางร่วมได้อย่างสะดวกด้วยรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ลงสถานีสามย่าน ทางออก 2

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image