สดๆ สับๆ ฉ่ำๆ ปากคำ ‘ว่าที่ ส.ว.’ และเสียงจากตัวสำรองที่ต้องฟังให้ชัด

สดๆ สับๆ ฉ่ำๆ
ปากคำ ‘ว่าที่ ส.ว.’
และเสียงจากตัวสำรองที่ต้องฟังให้ชัด

รู้ผล 200 (ว่าที่) สมาชิกวุฒิสภา เวอร์ชั่น 2567 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมด้วยรายชื่อสำรองอีก 100 หลังกรำศึก 3 ด้าน ตั้งแต่รอบอำเภอ จังหวัด จนถึงประเทศ

บ้างเซอร์ไพรส์ ตกรอบไปอย่าง งงๆ

บ้างเซอร์ไพรส์ยิ่งกว่า สำหรับ ‘ตัวเต็ง’ ระดับติดดาว ที่ชวดเก้าอี้แบบทอล์กออฟเดอะทาวน์

Advertisement

บ้างก็ต้องร้อง ‘อิหยังวะ’ กับความไม่ตรงปกไม่ตรงสาย ชวนงงใจกับสาขาอาชีพ หาใช่เพราะดูแคลนว่า ‘คนไม่เท่ากัน’

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือก ส.ว.รอบนี้ มีเสียงวิพากษ์มากมาย ทั้งแบบกระซิบกระซาบ และแบบเล่นใหญ่ จนถึงแนวออกไมค์ในวงวิชาการ

ดังเช่น เสวนา ‘ส.ว.67 ทางข้างหน้า จากสิ่งที่เห็น’ เพื่อสรุปบทเรียนและข้อสังเกตจากการเลือก ส.ว.ระดับประเทศที่ผ่านมารวมถึงร่วมมองอนาคตการเมืองไทยหลังเห็นรายชื่อว่าที่ ส.ว.

Advertisement

จัดโดย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw และ We Watch เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา
ณ ห้อง 322 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

มากมายด้วยคอมเมนต์สับๆ ปังๆ จากคณาจารย์หลากคณะวิชาและสถาบันการศึกษา ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีว่าที่ ส.ว. และผู้ติดลิสต์สำรอง ส.ว.67 มาเล่าประสบการณ์เผ็ชๆ คันๆ ค้างๆ คาๆ ของหัวใจในสมรภูมิเลือก ส.ว. อีกทั้งเป้าหมายหลังเข้ารับตำแหน่งอันทรงเกียรติ

พิรุธรอบไขว้ ‘ไม่ให้แนะนำตัว’
ย้ำ ‘ไม่ได้แปลกแค่เหตุการณ์เดียว’

เทวฤทธิ์ มณีฉาย ว่าที่ ส.ว.กลุ่ม 18 สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม เปิดประเด็นด้วยการนำเสนอข้อพิรุธของระบบที่เป็นอยู่ เช่น รอบไขว้ในรอบระดับประเทศ ไม่เปิดให้แนะนำตัว

“เราก็ทำการบ้านมาบ้างแต่ก็ไม่ได้ตกลงปลงใจแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ สำหรับคนที่เราอยากจะเลือก ก็จะไปหาเอาหน้างาน ซึ่งเขาก็ไม่ปล่อยเส้นกั้นให้เราแนะนำตัวกับผู้สมัคร

“มันแปลก ในที่นี้ไม่ได้แปลกแค่เหตุการณ์เดียว แต่บางครั้งบางเขต บางหน่วยในระดับจังหวัด หรือระดับอำเภอก็เปิด แต่ว่าระดับประเทศไม่เปิด ดังนั้นความแปลกคือความไม่คงเส้นคงวาของรูปแบบ ตอนแรกเราคาดเดาว่าจะเกิดรูปแบบแบบนี้เกิดขึ้นมันก็ไม่เกิด ก็เลยทำให้เราผิดแผน” เทวฤทธิ์ชี้

จากนั้น ยังเล่าบนเวที ว่า รอบระดับประเทศ เข้าใจว่ามันจะใช้เวลาระดับหนึ่งในการศึกษาคน 800 คน โดยเอกสาร ส.ว.3 ไม่ได้รับกับกลุ่มอื่น

“เราก็ไม่ได้มีโอกาสศึกษา ไปค้นในเว็บ กกต.เอาเอง ส่วนชัยชนะของผู้เล่นนั้น แน่นอนว่าระบบแบบนี้ผู้เล่นต้องเผชิญ แต่ผู้ชนะตราบใดที่เขาไม่ได้ผิด พ.ร.บ.มาตรา 77 เช่น เรื่องการจัดเลี้ยง การข่มขู่ หรือการใส่ความให้ผู้สมัครอื่นเลือกหรือไม่เลือก ตนคิดว่าสิ่งเหล่านี้ก็อยู่ในเกมกติกาเดียวกัน

ข้อสังเกตอื่น ตอนเช้าผมได้ไปสังเกตการณ์ ไปดักรอ ก็เห็นได้ชัดเลยว่า มีรถตู้อำนวยความสะดวก ผมก็เดาว่าอาจจะเป็นรถตู้ของทางโรงแรม หรือ กกต.ในการรับส่ง ซึ่งรถตู้มีลักษณะเดียวกัน มีชุดมาเป็นทีม และขอผลของมัน เช่น ผู้สมัครลำดับ 1-6 หรือบางกลุ่มถึงลำดับที่ 7 เราสามารถหาค่าความสัมพันธ์อะไรบางอย่างของผู้สมัครเหล่านั้นได้ บางคนก็จะเรียกว่า ‘บ้านน้ำเงิน’ อันนี้ก็มีความชัดเจน” บก.ประชาไทกล่าว ก่อนเน้นว่า ตั้งแต่วันที่ประกาศเข้าสมัคร รู้สึกว่ากติกานี้ มันไม่ชอบธรรม มันมีปัญหาตั้งแต่แรก ดังนั้นสำหรับตนแล้ววิธีการมันตัดสินผล แม้ว่าตนจะลงเล่นกับกติกานี้ แต่ก็พยายามจะเสนอว่า เราไม่ควรจะอ้างความชอบธรรมของผลในการไปใช้อำนาจบางประการ

“ผมจะวางหมุดหมายของผมตั้งแต่ต้นเลยว่า ถ้าหากว่าผมได้เป็น อำนาจบางประการผมก็จะไม่ไปใช้ หรือว่าใช้ไม่ได้ เพราะไม่มีความชอบธรรมในระบบการปกครอง ที่ผ่านมาของระบบไม่มีความเป็นตัวแทน แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะบอกว่า ส.ส.และ ส.ว. เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย แต่รูปแบบที่มาเราไม่สามารถสืบสาวพิสูจน์ความเป็นตัวแทนได้ นอกจากตัวแทนของคนที่สมัคร”

ว่าที่ ส.ว.จากกลุ่มสื่อ อธิบายต่อไปอีกว่า การเลือกก็สับไปสับมา จากกลุ่มอาชีพตั้งแต่ระดับอำเภอ ก็ไขว้ไปกับกลุ่มอื่น แล้วเลือกเราด้วยพินิจอะไร รวมถึงการจำกัดการมีส่วนร่วม แรกเริ่มเดิมทีโดยเฉพาะระเบียบ กกต.ที่ออกมา โดยเฉพาะระเบียบของ กกต.ที่ออกมาเรื่องการแนะนำตัวที่จำกัดอย่างยิ่ง ดังนั้นการที่ตนไปเล่นก็จะจำกัดผลของมัน จำกัดที่จะใช้อำนาจหลายประการ เช่น การเห็นชอบองค์กรอิสระที่มีบทบาทในลักษณะของการตัดสิน หรือพิพากษา ตนจะไม่เข้าไปยุ่ง

“อย่าง ศาลรัฐธรรมนูญ ผมก็ประกาศเลยตั้งแต่แรกว่า ถ้าผมได้เป็นจริงๆ ผมก็จะโนโหวตให้เขา โนโหวตไปก่อน แน่นอนว่าปลายปีนี้มี 2 ท่าน เหลือ 7 คน ที่ยังทำหน้าที่ได้ แต่ว่าปี 2570 จะหมดจากองค์ประชุม ในระหว่างที่เรามีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ให้รออำนาจตรงนี้ไปก่อน ปี 2570 ก็คิดว่าน่าจะทัน ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะยืดออกไปหรือเปล่า

ส่วนอำนาจอื่นก็เสนอแนะว่า ให้ความเห็นได้ แต่จะไปคัดค้านกับอำนาจที่มีความชอบธรรมกว่าเราไม่ได้ เช่น สภาผู้แทนราษฎร อันนี้เป็นข้อเสนอของตน แต่ว่าระหว่างทางก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จะกรุยทางบางส่วนที่ทำได้ เช่น ฟ้องศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนระเบียบ กกต.เกี่ยวกับระเบียบแนะนำตัว โดยเฉพาะข้อที่จำกัดการมีส่วนร่วม หรือข้อที่จำกัดความรู้ความสามารถโดยเฉพาะกลุ่มสื่อ หรือศิลปะ วัฒนธรรมก็ฟ้อง สุดท้ายศาลก็เพิกถอนตรงนั้น

ปัญหาหลังจากเพิกถอนตรงนั้น ประธาน กกต. หรือเลขาฯกกต. ก็พยายามชี้ว่า สิ่งที่ฮั้วกันเกิดขึ้น เดิมทีระบบที่เขาวางไว้มาแก้ปัญหาตรงนี้ แต่พอมีคนไปฟ้องแล้วศาลปกครองเพิกถอนมันก็เลยเกิด ช่วยไม่ได้ มันก็เหมือนการโยนปัญหาที่เกิดขึ้น
มาเป็นปัญหาของเราที่ไปขอเพิกถอน อันนี้ก็ไม่เป็นธรรมต่อเรา เพราะคนที่ไปร้องเพิกถอนเขามีเจตนาที่อยากมีส่วนร่วม” เทวฤทธิ์เอื้อนเอ่ย

เล็งมัดรวมเพื่อนเป็นเอกภาพ
แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ดันนิรโทษกรรมประชาชน

อีกประเด็นสำคัญที่ เทวฤทธิ์ ‘วางหมุดเป็นจุดขาย’ คือ จุดยืนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ และนิรโทษกรรม

“พอเขาเห็นว่าเรามีความจริงใจไปแชร์ เอาข้อมูลไปเสนอเขา เขาก็อาจจะต่อต้านเราน้อยลง ซึ่งในเขตอำเภอของตน รู้สึกว่าประสบความสำเร็จระหว่างที่เรารณรงค์มา 2 เดือนที่ผ่านมา ตนคุยกับคนเยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นไลน์และไปเจอตัวจริง

ส่วนข้อเสนอ ผมคิดว่าถ้าเราไปดูแพตเทิร์นมันมีความชัดเจน คือ ลำดับที่ 1-6 ค่อนข้างหวังน้อยหน่อย แต่ก็ยังมีหวังมากกว่าชุดที่แล้วชุดปี 2562 ตอนเลือกนายกฯ หรือวิธีการคิดไม่เหมือนกัน ปี 2562 ก็อ้างว่าสภาผู้แทนราษฎรเขาเลือกอย่างไร ก็แค่ตามน้ำไปอย่างนั้น แต่พอปี 2566 ก็ดูไม่ใช้หลักคิดนั้นแล้ว ก็คิดว่าชุดนี้น่าจะมีหวังมากกว่านั้น โดยเฉพาะลำดับที่ 7-10 เห็นได้ชัดว่าเขาแตกต่าง ช่วงนี้ยังมีหวังที่จะคุยให้เห็นด้วยกับจุดยืนการแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ยังมีหวัง” เทวฤทธิ์เชื่ออย่างนั้น

ส่วนประเด็นที่เกิดข้อสังเกตเรื่อง ‘บ้านน้ำเงิน’ เจ้าตัวประเมินรายชื่อ 1-6 ได้ว่า มาเป็นการรวมกันเฉพาะกิจ คือ ไม่ได้เป็นเอกภาพ บางทีจะไปเหมารวมว่าบ้านน้ำเงิน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่บางส่วนอาจจะเป็นการรวมกันเฉพาะกิจ ที่เขามีเครือข่ายเป็นของเขาเอง พูดแบบเชิงบวกคือการพยายามไปทำความรู้จักและแนะนำตัวกับอีกเน็ตเวิร์กหนึ่งที่มีคนกลุ่มวิชาชีพหนึ่ง ก็จะสามารถทำให้มีเอกภาพในการเลือก

“ย้ำอีกครั้งว่าตราบใดที่เขาไม่ได้ทำผิด ม.77 เขาก็มีสิทธิชอบธรรมในกติกานี้ แม้กระทั่งฝั่งเราเอาที่มีจุดยืนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็พยายามที่จะสื่อสาร หาเพื่อนเพิ่ม เราก็พยายามจะมัดรวมเพื่อนเหล่านั้นให้เป็นเอกภาพ ปัจจัยที่จะประสบความสำเร็จในกติกาหรือเกมนี้ คือ จำนวน ถ้าเราจำนวนมากพอ โอกาสเราจะประสบความสำเร็จมากขึ้น เราจะร้อยรวมคนได้อย่างไร กลุ่มเราก็พยายามที่จะร้อยคนเหล่านั้นด้วยอุดมการณ์การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือนิรโทษกรรมประชาชน” เทวฤทธิ์ทิ้งท้าย

คะแนนโดดจนต้องรู้สึก
‘เชื่อ’มีเบอร์ล็อกในใจ

ด้าน นุชนารถ แท่นทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค ส.ว.รายชื่อสำรองกลุ่ม 17 ประชาสังคม จากสมุทรปราการ ร่วมแชร์ประสบการณ์

ว่าตนทำเรื่องคนจนเมือง ที่อยู่อาศัย ตลอดจนความเป็นธรรมทางสังคม เรียนจบ ป.3 มีโอกาสสมัคร ส.ว.ซึ่งในรอบอำเภอ ก็ไม่เห็นความแตกต่าง เพราะมีชาวบ้านในเครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมโครงการที่รณรงค์ให้คนออกไปเลือก ส.ว. ในขณะที่ชาวบ้านที่พอมีสตางค์ ก็ช่วยออกสตางค์ และไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย ซึ่งเห็นบรรยากาศว่าเวลากลุ่มเราเข้าไป จะถูกมองว่ากลุ่มพวกนี้จ้างมา

“เราได้เข้าไปถึงรอบจังหวัด ก็ยิ่งถูกครหา เขาอาจจะไม่เห็นความสามารถของเรา แต่ดูจากความรู้แล้วก็ติดสินแล้วว่าเรามาจากไหน ทำให้เรารู้สึกว่าเวทีนี้กูต้องไปให้ได้ เพื่อพิสูจน์ว่าเราเป็น ส.ว.ของประชาชนจริงๆ พอเข้าไปในรอบจังหวัด ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่รอบคัดเลือกระดับประเทศ ตื่นตี 3 นอนไม่หลับ ตี 4 ออกไปถึง ตี 5 กลับ 6 โมงเช้าของอีกวัน เพราะไม่ว่าจะเข้ารอบหรือไม่ ก็ต้องรอนับคะแนนจนเสร็จสิ้น” นุชนารถเล่า ก่อนลงดีเทลเพิ่มเติมว่า บรรยากาศข้างในมีคนหลากหลายมาก มีทั้งใส่สูทผูกไท ตลอดจนแม่บ้าน มีอาชีพหลากหลาย

“แต่เจออาชีพที่ใกล้เคียงกัน คนสถานะเดียวกัน ก็ยินดีที่มันเป็นโอกาสของพวกเรา แต่พออยู่ไปนานๆ อยู่กันทั้งคืนก็เริ่มรับรู้ว่า กระบวนการเลือกตั้งมีทุกกลุ่มที่เป็นแบบนี้ คือเหมือนเขาจะรู้จักกันหมด เขาไม่ต้องเดิน เพราะ กกต.ห้ามเดินเพ่นพ่านไปกลุ่มอื่น ให้อยู่ในกลุ่มตัวเอง เวลาจะเข้าห้องน้ำจะมีคนพาไป ไม่มีโอกาสได้ทักทายคนอื่นเลย

พอเลือกรอบแรก เราจะเห็นว่า การเลือก ส.ว. มันมีเบอร์ที่โดดบ้าง เวลาเลือกแล้วไปจับกลุ่มเพื่อมาช่วยกัน อย่างน้อยก็น่าจะได้ 10 คะแนน แต่คะแนนกลับโดดไปถึง 30-40 คะแนนในกลุ่ม เราก็คิดว่าเขามีพวกเยอะขนาดนี้เลยหรอ แล้วเบอร์ที่โดด ก็ชัดเจนมากจนเราเริ่มรู้สึก”

นุชนารถเล่าต่อไปว่า เมื่อประกาศผลรอบแรก ว่าตนเป็น 40 คนที่จะไปไขว้กับกลุ่มอื่น ก็ตื่นเต้นมาก เพราะทราบมาว่า ส.ว.ฝั่งประชาชนตกไปเกือบหมดเลย เหลือกลุ่มละไม่กี่คน หรือไม่ถูกเลือกเลยด้วยซ้ำ

“เราจะมี ส.ว.ประชาชนหรือเปล่าหนอ เพื่อจะไปแก้กฎหมาย เราก็คิดเพราะเราไม่รู้จักเขาเลย แม้ว่าสถานะชนชั้นเดียวกัน แต่เหมือนพูดกันไม่รู้เรื่อง เมื่อเลือกไขว้ได้อยู่กับกลุ่ม 1 ความมั่นคง กลุ่ม 4 สาธารณสุข กลุ่ม 6 ทำสวน เราอยู่กลุ่ม 17 ประชาสังคม รู้สึกหนักใจมากเพราะเราไม่รู้จักใครเลย ไม่มีโอกาสได้เดินไปพบใคร มันเป็นความยากลำบากมาก มองไปทางไหนก็หมดหวังในการที่จะเข้ามาเป็น ส.ว.แน่นอน เพราะเราก็ไม่รู้จะโหวตใครเหมือนกัน ดูจากโปรไฟล์แล้วเลือก

สิ่งที่เห็นคือหลังเลือกเสร็จ ช่วงนับคะแนน คนที่สมัครมาเป็น ส.ว.ตั้งใจมา ก็ต้องนั่งลุ้นคะแนนตัวเอง แต่มีคนบางกลุ่มไม่ได้สนใจ เหมือนหมดหน้าที่ฉัน เอกสาร ส.ว.3 ก็ทิ้งตามโต๊ะ เดินกันไปห้องน้ำ คนที่นับก็นับไป ส่วนคนอย่างเราที่ตั้งใจเป็น ส.ว.ก็นั่งลุ้น จะได้สักคะแนนจากใครไหม เลข 23 56 130 คือเราจำแม่นสุดเลย 3 เบอร์นี้ เพราะว่าเราเบอร์ 57 ใกล้กับเขา ก็นั่งหมดหวัง ความอยากเป็น ส.ว.นั่งลุ้นคะแนนมาก แต่สิ่งเหล่านั้นมันสะท้อนให้เราเห็นว่า มี 6-7 เบอร์ นำโด่งมาก จนไม่มีพื้นที่ให้เรา เราได้มาคนละนิดละหน่อย” นุชนารถเล่ายาว

จากนั้น เอ่ยถึงรายชื่อบุคคลที่ตนรู้จักในกลุ่มเดียวกัน อย่าง อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ประหยัด จตุพรพิทักษ์กุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาชนบทและวิสาหกิจชุมชน

“ส่วนตัวมองว่า กกต.ก็มีส่วนเหมือนกัน ที่ว่าแต่ละกลุ่มไม่ให้ออกจากกลุ่มตัวเอง แต่เขาไม่ต้องออกจากกลุ่ม เขาก็ได้คะแนน ไม่ต้องสื่อสารหรือปฏิสัมพันธ์กับใคร เบอร์มันถูกล็อกมาในใจอยู่แล้ว มันถึงได้ออกมาเป็นแบบนี้ในความรู้สึก ตกกลางคืน เขาทิ้งเอกสารแล้ว ไม่สนใจแล้วใครจะได้ไม่ได้ เพราะหมดหน้าที่เขาแล้ว เราก็เก็บที่หนีบสีดำกลับบ้าน พอเป็นแบบนี้ เรารู้เลยว่าเขามีหน้าที่มาเลือก หลังลงคะแนนเสร็จ เปิดหีบ เขาก็ไม่ได้สนใจ ก็จะแอบนอนตามกลุ่มเดิมที่ให้เอาเอกสารและกระเป๋าไปไว้ เรานั่งจนถึงวินาทีสุดท้าย รู้ว่าเราไม่มีหวังแล้ว แต่ด้วยความเป็นเรา ก็ยังนั่งกันอยู่จนถึงที่สุด” นุชนารถเผย

ห้อยพระ บนไข่
ส.ว.ประเทศไทย กับความตั้งใจที่ ‘พ่ายดวง’

จากนั้น ปิดท้ายด้วยเรื่องเล่าๆ เบาๆ แต่แอบตลกร้ายขำขื่น ที่การเลือก ส.ว. ประเทศไทย ต้องอาศัย ‘ดวง’ เป็นตัวเสริม

นุชนารถเปิดใจว่า รู้สึกว่า ถึงแม้เราจะมีความสามารถ อยากเข้ามาทำงาน แต่โอกาสน้อย เพราะเราแพ้การจัดตั้งที่มีมวลชนแต่ละจังหวัดมาได้ขนาดนี้ ตนเป็นอันดับที่ 12 หรือ ส.ว. ตัวสำรองอันดับที่ 2 แม้มีความตั้งใจแต่แพ้ดวง มีการจับสลากเพื่อเข้ารอบ รู้สึกว่า ส.ว.บ้านเราต้องอาศัยดวง

“เราไม่เคยห้อยพระเลยนะ ห้อยหลวงพ่อโสธร บนไข่ 100 ฟอง ก็ยอมรับว่าไม่เคยคิดเรื่องนี้ จนเพื่อนเอาพระมาให้ใส่ รู้สึกว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่ ไม่เสียใจที่ได้มาถึงขนาดนี้ แต่ถามว่าอยากเป็นไหม อยาก อยากมีส่วนร่วมทางการเมืองที่มันเกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ แต่พอเห็นสิ่งที่ได้จากการเลือก ส.ว.แล้ว ก็คิดว่าการเมืองไม่เปลี่ยนแล้ว กฎหมาย องค์กรอิสระ ต้องผ่านด้วยสภานี้ มันเป็นความหมดหวังเหมือนกัน ที่พวกเราเข้าไปได้น้อยมาก แต่ถึงอยู่ข้างนอกไม่ได้เป็น ส.ว.จะรณรงค์เรื่องการแก้รัฐธรมนูญต่อไป” นุชนารถยืนยัน

นับเป็นเรื่องเล่าหลากสีสันจากสมรภูมิการเมืองไทยในวันที่ภาคประชาชนตื่นตัวพร้อมใจลงสนาม ท่ามกลางคำถามมากมายทั้งก่อนหน้า, ระหว่าง และภายหลังกระบวนการที่ควรเป็นบทเรียนให้แก้ไข ไม่ปล่อยผ่านสำหรับหนหน้าให้ต้องออกมาวิพากษ์ซ้ำ

อธิษฐาน จันทร์กลม
ภูษิต ภูมีคำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image