สะพานแห่งกาลเวลา : ระบบชาร์จเร็วสำหรับรถอีวี

(ภาพ-Nyobolt)

สะพานแห่งกาลเวลา : ระบบชาร์จเร็ว สำหรับรถอีวี

เ มื่อเร็วๆ นี้ ที่ประเทศอังกฤษ มีการทดลองที่เชื่อกันว่าจะยังผลให้เกิดการปฏิวัติวงการรถอีวีกันขึ้น ที่มิลล์บรูก พรูฟวิง กราวด์ การทดลองที่ว่านี้เป็นการพิสูจน์ให้เห็นกันสดๆ ว่าเราจะสามารถชาร์จประจุแบตเตอรี่สำหรับใช้ขับเคลื่อนรถอีวีให้เร็วกว่าหรือใกล้เคียงกับการใช้เวลาในการเติมน้ำมันได้อย่างไร

ผู้ที่จัดการทดสอบดังกล่าวขึ้นคือบริษัทสตาร์ตอัพของอังกฤษเอง ชื่อบริษัท นีโอโบลท์ (Nyobolt) ซึ่งนำเอาระบบชาร์จเร็วที่เป็น “โปรโตไทป์” หรือ “ต้นแบบ” ของบริษัทมาทดลองให้ดูในสภาพแวดล้อมจริง แบบสดๆ กัน

ผลปรากฏว่าระบบชาร์จเร็วของนีโอโบลท์ สามารถชาร์จประจุแบตเตอรี่รถยนต์อีวี จาก 10 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ได้ภายในระยะเวลาเพียง 4 นาที กับอีก 37 วินาที เท่านั้นเอง

Advertisement

ความเร็วดังกล่าว ถือว่าเร็วกว่าระบบซุปเปอร์ชาร์จใดๆ เท่าที่มีใช้กันอยู่ในเวลานี้ ตัวอย่างเช่น ระบบซุปเปอร์ชาร์จของเทสล่า ชาร์จแบตเตอรี่รถอีวีถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของความจุได้ ต้องใช้เวลาถึง 15-20 นาที

หรือจะเปรียบเทียบกับระบบชาร์จประจุที่ได้ชื่อว่าเร็วที่สุดเท่าที่มีในท้องตลาดในเวลานี้อย่าง ไอโอนิค 6 (Ioniq 6) ก็เห็นได้ชัดเจนว่า “นีโอโบลท์”ทำได้ดีกว่า เพราะไอโอนิค 6 กว่าจะชาร์จประจุจาก 10 เปอร์เซ็นต์ จนได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องใช้เวลานานถึง 18 นาที

ดร.ไส ศิวะเรดดี ผู้ร่วมก่อตั้งนีโอโบลท์ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไว้ว่า การทดสอบสดๆ นั้น แตกต่างออกไปจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการทดลอง เพราะมีอุปสรรคอยู่ไม่น้อยในการทดลองครั้งนี้ และแม้จะได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้เหมือนอย่างที่เคยทำไว้ในห้องทดลอง

Advertisement

ในห้องทดลองของบริษัท ต้นแบบของนีโอโบลท์ สามารถชาร์จประจุจาก 0 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ได้ในเวลาเพียงแค่ 6 นาที เท่านั้นเอง

ที่น่าสนใจก็คือ นีโอโบลท์ไม่ได้ตั้งใจจะผลิตรถอีวีของตนออกมาแข่งกับเจ้าอื่นๆ ที่มีอยู่มากมายในท้องตลาดในเวลานี้ แต่ตั้งใจจะจับมือเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทรถยนต์ที่ผลิตรถอีวีอยู่แล้วในเวลานี้ ซึ่งหมายความว่าระบบแบตเตอรี่และระบบชาร์จประจุของนีโอโบลท์ จะสามารถเปิดตัวในตลาดได้อย่างรวดเร็ว โดยมีความเป็นไปได้สูงว่าจะพบเห็นในรถอีวีบางยี่ห้อภายใน 1 ปีนับจากนี้

นีโอโบลท์อ้างด้วยว่า นอกจากจะชาร์จประจุได้เร็วกว่ามากแล้ว ยังจะช่วยยืดเวลาเสื่อมของแบตเตอรี่ออกไปได้ด้วยอีกต่างหาก

เพราะนีโอโบลท์ระบุว่า ด้วยการชาร์จประจุตามแบบของตนเอง จะช่วยให้แบตเตอรี่ยังคงมีสมรรถนะสูง สามารถชาร์จได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของความจุต่อไปหลังจากที่ใช้ชาร์จไปแล้ว 4,000 รอบ

การชาร์จประจุรอบหนึ่งๆ หรือที่เรียกกันว่า เป็นไซเคิลหนึ่ง ก็คือการชาร์จประจุจาก 0 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์หนึ่งครั้ง (ดังนั้น การชาร์จเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องนับการชาร์จ 2 ครั้ง ถึงจะนับเป็น 1 รอบ หรือ 1 ไซเคิล)

ตัวอย่างเช่น แบตเตอรี่ของไอโฟนรุ่นล่าสุดนั้นบริษัทแอปเปิลอ้างว่ายังสามารถชาร์จได้ 80 เปอร์เซ็นต์หลังจากชาร์จไปแล้ว 1,000 รอบ หรือ 1,000 ไซเคิลครับ

นีโอโบลท์ใช้เทคโนโลยีอะไรถึงสามารถชาร์จประจุได้เร็วถึงขนาดนั้น คำตอบก็คือ ความเร็วที่ว่านี้ได้มาจากการผสมผสานระหว่างคุณสมบัติใหม่ของวัสดุที่นำมาใช้ทำขั้วแบตเตอรี่ บวกกับการออกแบบเซลล์แบตเตอรี่เสียใหม่ และการคิดค้นพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งช่วยให้การชาร์จประจุมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง

การออกแบบแบตเตอรี่ของนีโอโบลท์ ออกจะตรงกันข้ามกับแนวคิดทั่วไปอยู่ไม่น้อย นั่นคือ แทนที่จะออกแบบให้แบตเตอรี่มีขนาดใหญ่ ซึ่งจะยังผลให้การชาร์จประจุทำได้ช้าเหมือนอย่างบริษัททั่วไป กลับทำให้แบตเตอรี่เล็กลง แต่ชาร์จได้เร็วขึ้น กระนั้นก็ส่งผลให้เกิดข้อเสียอย่างสำคัญคือ ความจุของแบตเตอรี่ลดลงน้อยกว่าที่มีอยู่ในท้องตลาดไม่น้อยเลยทีเดียว

แต่ในเวลาเดียวกันก็มีผลพลอยได้ที่เป็นข้อดีมาด้วยเช่นกัน นั่นคือ แบตเตอรี่ของนีโอโบลท์ที่เป็นต้นแบบนั้น มีน้ำหนักน้อยกว่าเอามากๆ เลยทีเดียว

กระนั้นการทำระยะทางได้ถึง 250 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้งของนีโอโบลท์ ก็ยังน่าทึ่ง และน่าจะเป็นการปฏิวัติวงการอีวีครั้งใหญ่ในอนาคตอันใกล้นี้

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image