สแกนลึกหนังสืองานศพ ‘ชาติเมื่อวายชนม์’ 6 บทอนุสรณ์ทรงจำ คนเป็น-คนตาย

สแกนลึกหนังสืองานศพ
‘ชาติเมื่อวายชนม์’
6 บทอนุสรณ์ทรงจำ คนเป็น-คนตาย

หนังสือแจก หรือหนังสือแจกงานศพ (cremation volume) เป็นชื่อที่ ศาสตราจารย์อิฌิอิ โยะเนะโอะ ใช้เรียกหนังสือที่จัดพิมพ์เพื่อแจกให้กับผู้ที่มาร่วมงานศพ และเป็นการบำเพ็ญกุศลเป็นสาธารณประโยชน์สำหรับผู้ที่ไปร่วมงานฌาปนกิจ

สำนักพิมพ์มติชน ชวนให้ค้นหาจุดกำเนิดหนังสือแจกงานศพในสังคมไทย ที่ไม่ใช่เพียงการบอกเล่าประวัติผู้วายชนม์ แต่กลายเป็นสัญลักษณ์พื้นที่ทางความคิด และพื้นที่แห่งการแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึก จนแพร่ขยายไปสู่วัฒนธรรมการพิมพ์หนังสือแจกงานศพในภาคใต้

หนังสือแจกงานศพในสังคมไทยถือกำเนิดพร้อมๆ กับการเข้ามาของเทคโนโลยีธุรกิจการพิมพ์ ทั้งนี้ หนังสือแจกงานศพเล่มแรกของไทย มีข้อมูลและหลักฐานที่ชัดเจนในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2412 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะพิมพ์พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ถวายเป็นพระราชกุศล แต่พระราชดำริไม่บรรลุผล อย่างไรก็ตาม ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพคราวนั้นมีการจัดพิมพ์หนังสือเรื่องสามก๊ก และเรื่องพระอะไภยมะณี โดยโรงพิมพ์ครูสมิท (มิชชันนารีอังกฤษ) แทน

Advertisement

หนังสือแจกงานศพในยุคแรกไม่ลงบันทึกประวัติของผู้วายชนม์ แต่เป็นเนื้อหาที่ได้ต้นฉบับจากคณะกรรมการหอพุทธศาสนสังคหะ และหอสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร โดยเนื้อหาภายในหนังสือแจกงานศพส่วนใหญ่เป็นประเภทวรรณคดี โบราณ ตำนาน พงศาวดาร หลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งหลายตลอดจนหลักธรรมต่างๆ ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้มีการพิมพ์ขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของรัฐสมัยใหม่ที่ต้องการแสดงให้เห็นว่ารัฐสยามมีความเป็นมาที่เก่าแก่และยาวนาน ขณะเดียวกันเน้นย้ำว่าหนังสือเหล่านี้ ควรคู่แก่ความดีของผู้วายชนม์ และช่วยให้คนมีความรู้ ความสามารถสร้างความก้าวหน้าแก่ชาติบ้านเมืองสืบต่อไป

หนังสือแจกงานศพในสังคมไทยระยะแรกถือเป็นของ “ที่ระลึก” หรือ “ชำร่วย” กระจุกตัวอยู่เฉพาะหมู่ชนชั้นนำและคหบดีเป็นหลัก เนื่องจากค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดพิมพ์ที่สูง และเป็นเรื่องกรอบคิดเกี่ยวกับ “บุญ-วาสนา และบารมี” เพราะฉะนั้น การจัดพิมพ์หนังสือแจกงานศพจึงไม่ใช่เรื่องของบุคคลธรรมดาสามัญชน

ข้อมูลของเอนก นาวิกมูล กล่าวว่า การพิมพ์หนังสือแจกงานศพในคราวเดียวมากที่สุดเกิดขึ้นในงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีทั้งหมด 12 เล่ม เช่น หนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง, ปิยะราชะคุณานุศร, ดรุณศึกษา ตอน กอ ขอ, ตำราแพทย์แสดงด้วยกาฬโรค และพระธรรมเทศนาแลธรรมบรรยาย เป็นต้น

Advertisement

ขณะที่หนังสือแจกงานศพที่เนื้อหากล่าวถึงประวัติของผู้วายชนม์ล้วนๆ เล่มแรกคือ ศรีสุนทราณุประวัติ อันเป็นประวัติพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) เจ้ากรมอาลักษณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์แจกในงานศพ ณ วัดสระเกศ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ร.ศ.114 (พ.ศ.2438) ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ทำให้หลังจากนั้นการพิมพ์ประวัติผู้วายชนม์เริ่มปรากฏเพิ่มมากขึ้นในหนังสือแจกงานศพ

เมื่อเทคโนโลยีธุรกิจการพิมพ์ขยายตัว เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการดำรงตำแหน่งนายกหอพระสมุดสำหรับพระนครของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฐานะที่ทรงรับผิดชอบตรวจสอบชำระต้นฉบับเอกสารดังกล่าว แต่ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณในการจัดพิมพ์จึงมีนโยบายชักชวนให้ผู้มีจิตศรัทธาจัดพิมพ์หนังสือสำหรับแจก โดยหอพระสมุดฯ จะดำเนินการเป็นผู้จัดหาต้นฉบับที่จะพิมพ์และดำเนินการจัดพิมพ์ให้เรียบร้อย แต่มีเงื่อนไขว่าผู้พิมพ์ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายและมอบหนังสือเป็นค่าตอบแทนแก่หอสมุดแห่งชาติร้อยละ 20 ของจำนวนที่พิมพ์ หรือที่เรียกว่า “ค่าภาคหอ”

การดำเนินการของหอพระสมุดฯ ในลักษณะดังกล่าวมีส่วนสำคัญในที่ทำให้หนังสือแจกงานศพค่อยๆ แพร่หลายไปสู่ชนชั้นนำและคหบดี รวมถึงกระจายออกสู่หัวเมืองตามลำดับ โดยเฉพาะในหัวเมืองทางใต้ ซึ่งปรากฏว่าหนังสือแจกงานศพได้เกิดขึ้นในเวลาที่ไล่เลี่ยกับราชสำนักกรุงเทพฯ

หนังสือแจกงานศพในหัวเมืองทางใต้ปรากฏขึ้นนับตั้งแต่ทศวรรษ 2460 เป็นต้นมาและได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในทศวรรษ 2470 เมื่อเทคโนโลยีธุรกิจการพิมพ์ปรากฏขึ้นตามเมืองใหญ่ๆ ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากระบบความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักกรุงเทพฯ กับหัวเมืองทางใต้ที่กระทำผ่านระเบียบของระบบราชการและการศึกษาสมัยใหม่ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการเกิดขึ้นของชนชั้นกระฎุมพีท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นชนชั้นกลุ่มใหม่ของสังคม

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของเนื้อหาในหนังสือเล่มใหม่ที่อยู่ในกระแสความสนใจ ในชื่อ ‘ชาติเมื่อวายชนม์ อุดมการณ์รัฐไทยในอนุสรณ์ฯผู้ดับสูญ’ โดย พรชัย นาคสีทอง ที่ไม่อาจพลาดได้ด้วยประการทั้งปวง

 

ร่วมเปิดอนุสรณ์งานศพ
หล่อหลอมความกลมเกลียวกลายเป็น
“อุดมการณ์รัฐ” ในสายเลือดของคนใต้ ผ่าน 6 บทสำคัญ

บทที่ 1 กำเนิดหนังสือแจกงานศพ จากรัฐกรุงเทพฯ สู่อาณานิคมทางใต้
บทที่ 2 แรกเริ่มอารมณ์ความรู้สึกและความใฝ่ฝันแบบรัฐชาติกับสำนักของสังคมท้องถิ่นภาคใต้
บทที่ 3 คนล้มหาย(แต่ชาติไม่)ตายจาก การสร้าง “ชีวิตคนใต้”ยุคสงครามเย็น
บทที่ 4 หลอมใต้รวมไทย ความผูกพันทางอารมณ์และความรู้สึกใหม่ต่อท้องถิ่นของชาติ
บทที่ 5 “คนเป็น” ในพื้นที่ “คนตาย” การแสดงออกซึ่งเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และการเข้าสู่พระบรมโพธิสมภาร
บทที่ 6 อนุสรณ์ทรงจำแห่ง “ชาติ” ของผู้ดับสูญอันเป็นนิรันดร์
ราคาเพียง 276.- จากราคาเต็ม 330.- (จัดส่งฟรี)

Pre-order
วันนี้-5 กรกฎาคม 2567
เริ่มจัดส่งหนังสือตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม
ติดตามทุกช่องทางของสำนักพิมพ์มติชนที่
Line : @matichonbook
Youtube : Matichon Book
Tiktok : @matichonbook
Twitter : matichonbooks
Instagram : matichonbook

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image