สมเด็จพระสังฆราช เจริญพระพระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศล พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

สมเด็จพระสังฆราช เจริญพระพระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จลงพระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในการประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย(มท.) เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย โดยได้รับเมตตาจากพระสงฆ์สมณศักดิ์ 10 รูป ได้แก่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระพรหมวชิรมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม พระธรรมวชิรมุนี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พระเทพปฏิภาณกวี วัดประยุรวงศาวาส พระเทพวชิรโสภณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระเทพวชิรดิลก วัดบุรณศิริมาตยาราม พระราชธรรมาภรณ์ วัดสุทัศนเทพวราราม พระราชสิทธิวิมล วัดสุทัศนเทพวราราม พระสุธีรัตนาภรณ์ วัดเศวตฉัตร พระวชิรคณาภรณ์ วัดบวรนิเวศ และพระเถรานุเถระ รวม 73 รูป ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ โดย คณะผู้บริหาร พร้อมด้วยข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย สมาคมแม่บ้านมหาดไทย และมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้า ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และพุทธศาสนิกชน ร่วมประกอบพิธีเป็นจำนวนมาก

เมื่อเสด็จถึงพระวิหาร ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ถวายเครื่องสักการะ และถวายธูปเทียนแพ ถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล พระสงฆ์ให้ศีล ผู้ร่วมพิธีรับศีล เจ้าหน้าที่อาราธนาพระปริตร พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ถวายผ้าไตรจีวรและพวงมาลัยแด่เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ผู้ร่วมพิธีถวายผ้าไตรจีวรและพวงมาลัยแด่พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ พระสงฆ์อนุโมทนา ประธานในพิธี กรวดน้ำ รับพร กราบลาพระรัตนตรัย และถวายความเคารพเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นอันเสร็จพิธี

Advertisement

นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า ในวันนี้นับเป็นมงคลฤกษ์ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นเดือนแห่งวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พวกเราคนไทยจะร่วมกันน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2567 โดยกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ที่ตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา พระองค์ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ ด้วยความวิริยอุตสาหะ ก่อเกิดคุณประโยชน์อันไพศาล ปวงชนชาวไทยได้รับการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน กระทรวงมหาดไทย และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย จึงได้ร่วมกับมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้า ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลดังกล่าว โดยได้รับเมตตาจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จลงเป็นองค์ประธาน ตลอดจนถึงพระมหาเถระ และพระเถระ นำประกอบพิธี

สำหรับบทเจริญพระพุทธมนต์ในวันนี้ ประกอบด้วย 1. บทสวดชุมนุมเทวดา 2. บทนอบน้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า 3. พระไตรสรณคมน์ 4. นมการสิทธิคาถา สัมพุทเธ 5. นมการสิทธิคาถา โย จักขุมา 6. นโมการอัฏฐกคาถา 7. บทขัดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร 8. ธัมมจักกับบปวัตตนสูตร 9. บทมงคลสูตร 10. บทรตนสูตร (ย่อ) 11. บทกรณียเมตตสูตร 12. บทขันธปริตร 13. บทโมรปริตร 14. บทวัฏฎกปริตร 15. บทอนุสสรณปาฐะ 16. บทอาฎานาฏิยปริตร 17. บทอังคุลิมาลปริตร 18. บทโพชฌังคปริตร 19. บทอภยปริตร 20. บทสักกัต๎วา 21. บทนัตถิ เม 22. บทยังกิญจิ 23. ทะสะมะปะระเมนทะมะหาราชาภิฤติคาถา 24. บทเทวตาอุยโยชนคาถา 25. บทชัยปริตร 26. บทภะวะตุ สัพพะมังคะลัง และ 27. บทนักขัตตยักษ์

Advertisement

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงมีพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นแน่วแน่ ในการสืบสานรักษาและต่อยอดพระราชดำริทั้งปวงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังพระปฐมบรมราชโองการที่พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ด้วยทรงครองแผ่นดินด้วยทศพิธราชธรรม หรือราชธรรม 10 อันประกอบด้วย จริยวัตร 10 ประการที่ทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์ อันได้แก่ 1. ทานํ : ทาน คือ การให้ 2. สีลํ : ศีล คือ การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย 3. ปริจาคํ : บริจาค คือ ความเสียสละ 4. อาชฺชวํ : อาชชวะ คือ ความซื่อตรง 5. มทฺทวํ : มัททวะ คือ ความอ่อนโยน 6. ตปํ : ตบะ คือ การข่มกิเลส, ความเพียร 7. อกฺโกธํ : อักโกธะ คือ ความไม่โกรธ 8. อวิหิงสา : อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียน 9. ขนฺติ : ขันติ คือ ความอดทน 10. อวิโรธนํ : อวิโรธนะ คือ ความไม่คลาดจากธรรมหรือความเที่ยงธรรม ยังประโยชน์สุขและความชื่นชมยินดีโสมนัสบังเกิดแก่พสกนิกรชาวไทย สะท้อนผ่านพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ที่ทรงพากเพียรปฏิบัติเสมอมา” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งในพระราชกรณียกิจที่สำคัญ คือ พระราชกรณียกิจในด้านพระพุธศาสนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนานับตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ โดยเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศ “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณสวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร” ได้ทรงเข้าพระราชพิธีแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2509 ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมา เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 ทรงมีพระราชศรัทธาออกบวชในพระพุทธศาสนา โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณ (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) วัดจักรวรรดิราชาวาส ถวายอนุสาสน์ ได้รับถวายพระสมณนามว่า “วชิราลงฺกรโณ” และได้ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศ พระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาล ผนวชอยู่ 15 วันจึงลาผนวช ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2521

“ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภก ความว่า “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ แต่เดิมมาข้าพเจ้าได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส และได้เข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะด้วยวิธีนั้น ๆ อยู่แล้ว ฉะนั้น บัดนี้ ข้าพเจ้าได้เถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว จึงขอมอบตัวแด่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสังฆเจ้า จะได้รับการจัดการให้ความคุ้มครอง รักษาพระพุทธศาสนาโดยชอบธรรมตลอดไป ข้าแด่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงจำไว้ด้วยดีว่า ข้าพเจ้าเป็นพุทธศาสนูปภัมภกเถิด” ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า โดยเมื่อปี 2560 ทรงสถาปนาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร ) ผู้มีพระจริยวัตรเรียบง่าย สมถะ เคร่งในพระธรรมวินัย ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และต่อมาในปี 2562 ทรงสถาปนาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระราชอุปัธยาจารย์ และสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระราชกรรมวาจาจารย์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ด้วยมีพระราชหฤทัยระลึกถึงพระคุณูปการที่มีต่อพระองค์และพุทธศาสนจักรอันไพศาล นอกจากนี้ ในโอกาสที่มหาเถรสมาคม และพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับประชาชน และเพื่อความเป็นสิริมงคลของประเทศชาติในโอกาสต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์หนังสือสวดมนต์บทเจริญพระพุทธมนต์ และพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้เชิญอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. และภาพวาดฝีพระหัตถ์ สำหรับจัดพิมพ์หน้าปก เพื่อพระราชทานแก่ประชาชนที่ร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ อีกด้วย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตนเป็น “พุทธมามะกะ” ผู้ซึ่งเปี่ยมด้วยพระราชศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา ด้วยทรงสืบทอดประเพณีทางพระพุทธศาสนา โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เคารพยึดมั่นในพระรัตนตรัย พรั่งพร้อมด้วยพระปัญญาอันสามารถเข้าพระราชหฤทัยในพระสัทธรรม เพื่อน้อมนำไปปฏิบัติโดยทรงตั้งอยู่ในธรรม และทรงดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่พสกนิกรชาวไทย รวมถึงการที่ทรงเป็น “พุทธศาสนูปถัมภก” ทรงอุปถัมภ์ค้ำชู จรรโลงพระพุทธศาสนา โดยทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสมณศักดิ์ถวายแด่พระสงฆ์ผู้มีปฏิปทาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัยและหลักปฏิบัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในโอกาสต่าง ๆ เพื่อให้บวรพระพุทธศาสนา เป็นหลักชัยเสริมสร้างความร่มเย็นเป็นสุขให้กับพุทธศาสนิกชนทั่วราชอาณาจักรไทย อีกทั้งพระราชทานหลักการทรงงานตามศาสตร์พระราชา คือ “บวร” อันได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน และราชการ เพื่อเป็นหลักการทำงานให้เกิดภาคีเครือข่ายสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามต่อประเทศชาติบ้านเมือง ดังพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและภาคีเครือข่ายได้น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งความผาสุกร่มเย็นและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนคนไทย และขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ได้ร่วมกันปฏิบัติบำเพ็ญสิ่งที่ดีงาม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ด้วยความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณตลอดปี 2567 โดยพร้อมเพรียงกัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image