ประธานส.วัฒนธรรมเพชรบูรณ์คาดกำแพงป้อมโบราณเมืองเพชรบูรณ์สร้างในสมัยขุนหลวงนารายณ์

หลังจากกระแสออเจ้า!จากละครดังบุพเพสันนิวาสที่ยังแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่ในเวลานี้ ทำให้ประชาชนทั้งประเทศไม่เว้นแม้แต่ชาวเพชรบูรณ์ ต่างให้ความสนใจหันมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์อยุธยาในยุคสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือ “ขุนหลวงนารายณ์”กันอย่างคึกคัก

ล่าสุดนายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ในฐานะผู้สนใจและศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพชรบูรณ์ ได้ออกมาไขปริศนาถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเมืองเพชรบูรณ์ ร่วมสมัยแผ่นดินขุนหลวงนารายณ์อย่างน่าสนใจ เกี่ยวกับกำแพงและป้อมปราการโบราณของเมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งถูกสั่งให้สร้างขึ้นในสมัยขุนหลวงนารายณ์ นอกจากนี้ยังได้ตั้งข้อสังเกตไปไกลว่า “ฤาอาจจะเป็นไปได้ที่เจ้าพระยาวิชเยนทร์(คอนสแตนติน ฟอลคอน)เคยเดินทางมาเพชรบูรณ์ เพื่อดูแลการสร้างป้อมปราการและกำแพงเมืองในสมัยนั้น”

โดยนายวิศัลย์ตั้งสมมุติฐานไว้อย่างน่าฟังว่า “ในสมัยนั้นขุนหลวงนารายณ์โปรดให้หัวเมืองสำคัญทุกแห่ง ได้สร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการเพื่อสามารถใช้เป็นเครื่องป้องกันปืนไฟหากมีการสู้รบกับข้าศึกแทนคันดินคูน้ำ ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและเพชรบูรณ์ก็เป็นหนึ่งในหัวเมืองสำคัญนั้น”

Advertisement

นายวิศัลย์ยังเล่าถึงที่มาที่ไปของกำแพงป้อมปราการเมืองเพชรบูรณ์ด้วยว่า แนวกำแพงเมืองและป้อมปราการโบราณของเมืองเพชรบูรณ์สร้างมาตั้งแต่สมัยกลางอยุธยา กำแพงก่อด้วยอิฐ ป้อมก่อด้วยหินทราย ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสด้านละประมาณ 500 เมตร ประกอบด้วยป้อมหัวลูกศรที่มุมทั้งสี่ด้าน คือ ป้อมศาลเจ้าพ่อ ป้อมหลักเมือง ป้อมสนามชัย ป้อมศาลเจ้าแม่ และมีประตูเมืองด้านละ 1 ประตูอยู่กึ่งกลางแนวกำแพงทั้งสี่ด้าน คือ ประตูชุมพล ประตูโพธิ์เย็น ประตูดาว ประตูประชาสรรค์ มีลำน้ำสักไหลผ่านเข้ามาภายในกำแพงเมือง

“สำหรับป้อมประตูชุมพลและศาลเณรมั่นเณรคงปัจจุบันจะเห็นอยู่ที่สี่แยกถนนเพชรรัตน์ทางไปวัดไตรภูมินั้น เป็นประตูทางทิศตะวันตกของเมืองเพชรบูรณ์ในสมัยโบราณ สร้างมาตั้งแต่สมัยกลางกรุงศรีอยุธยา ประมาณ 400-500 ปีที่แล้ว โดยมีแนวกำแพงเมืองทั้ง 4 ด้านและมีป้อมปราการทั้ง 4 มุม โดยมีประตูเมืองอยู่กึ่งกลางกำแพงแต่ละด้าน”นายวิศัลย์กล่าว

Advertisement

นายวิศัลย์กล่าวว่า ป้อมประตูเมืองแห่งนี้เป็นที่เชื่อตามตำนานที่เล่าขานกันสืบต่อมาว่า เป็นที่ฝังทั้งเป็นเณรมั่นเณรคง โดยตำนานเล่าว่า เมื่อจะสร้างเมืองพร้อมประตูเมืองและกำแพงเมืองในสมัยก่อนนั้นมีคติความเชื่อว่าจะต้องนำคนมาฝังทั้งเป็นไว้ที่ประตูเมืองเพื่อเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เฝ้าปกปักรักษาเมือง โดยจะใช้คนที่ชื่อว่า อินทร์ จันทร์ มั่น คง ในการสร้างเมืองเพชรบูรณ์ก็เช่นเดียวกัน เจ้าเมืองได้ประกาศให้หาคนมาฝังทั้งเป็นที่ประตูแห่งนี้ เนื่องจากเพชรบูรณ์เป็นเมืองเล็ก จึงทำให้หาคนที่มีชื่อตามต้องการได้ลำบาก จึงให้ประกาศให้หาเฉพาะชื่อมั่นและชื่อคง

“แม้กระนั้นก็ดีการหาคนชื่อมั่นชื่อคงก็ยังหายากลำบาก เหล่าทหารได้ออกค้นหามาหลายวันก็ยังไม่พบ จนถึงวันกำหนดพิธีซึ่งจะต้องจัดตอนเที่ยงเวลาใกล้เพล เหล่าทหารก็ประกาศหาคนชื่อมั่น ชื่อคง มาจนถึงวัดไตรภูมิ ตะโกนว่า “กระจองงอง ๆ เจ้าข้าเอ้ย ใครชื่อมั่นชื่อคง ให้ออกมาหน่อย” ก็มีเณร 2 รูปในวัดไตรภูมิตะโกนขานรับออกมา “โว้ย…” เหล่าทหารจึงรีบเขาไปคุมตัวจะนำมาเข้าพิธี เจ้าอาวาสได้ออกมาห้ามปราม แต่เหล่าทหารได้อธิบายความจำเป็นที่จะต้องนำตัวไปร่วมพิธีเพื่อบ้านเพื่อเมืองดังกล่าว”นายวิศัลย์กล่าว

ประธานสภาวัฒนธรรมฯกล่าวอีกว่า เจ้าอาวาสเห็นเป็นเช่นนั้นก็ยอม แต่ขอให้เณรทั้ง 2 ได้ฉันเพลก่อนแล้วค่อยนำตัวไป แต่เหล่าทหารเห็นว่าเวลาใกล้จะเริ่มพิธีแล้ว จึงได้นำตัวไปทันทีโดยไม่ยอมให้ฉันเพล ทำให้เจ้าอาวาสโกรธและสาปแช่งเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ทุกคนไว้ว่า เจ้าเมืองเพชรบูรณ์คนใดครองเมืองเพชรบูรณ์เกินกว่า 3 ปี ขอให้มีอันเป็นไป จากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีเจ้าเมืองเพชรบูรณ์คนใดครองเมืองเกินกว่า 3 ปีแม้แต่คนเดียวจนกระทั่งทุกวันนี้”

“ส่วนดวงวิญญาณเณรมั่นเณรคง ก็ได้สิงสถิตย์อยู่ที่ประตูเมืองเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ให้การปกปักรักษาและให้พรแก่คนเพชรบูรณ์มาช้านาน โดยคนเพชรบูรณ์ได้สร้างศาลไว้ที่บนป้อมประตูเมืองด้วย และคนรุ่นเก่า ๆ ที่อาศัยอยู่ในเมืองจะรู้ดีถึงเรื่องนี้ มีการไปขอพร บนบานศาลกล่าวต่าง ๆ และเมื่อผ่านไปมาก็จะยกมือไหว้กันทุกคนจนทุกวันนี้”นายวิศัลย์กล่าว

นายวิศัลย์กล่าวว่า ในการฝังคนทั้งเป็นให้เฝ้าเมืองนั้นเป็นคติความเชื่อในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีอิทธิพลความเชื่อมาจากศาสนาพราหมณ์ ซึ่งก็ตรงกับหลักฐานทางประวิติศาสตร์ของการก่อสร้างกำแพงเมืองเพชรบูรณ์และในที่อื่นๆ ส่วนที่ศาลหลักเมืองปัจจุบันนี้ ก็ตั้งอยู่บนป้อมปราการเช่นเดียวกันแต่เป็นมุมกำแพง ไม่ใช่ประตูเมือง ซึ่งเสาหลักเมืองนี้เพิ่งมีการปักเมื่อประมาณ 100 กว่าปีที่แล้วนี่เอง ซึ่งตอนนั้นบ้านเมืองเป็นพุทธแล้วจะไม่มีการฝังคนทั้งเป็นอย่างเด็ดขาด

“เณรมั่นเณรคงจึงไม่ได้ถูกฝังอยู่ที่ศาลหลักเมืองในปัจจุบันนี้แต่อย่างใด หากแต่เมื่อมีการตั้งเสาหลักเมืองขึ้นมา ก็อาจจะมีการอัญเชิญดวงวิญญาณเณรมั่นเณรคงไปสถิตอยู่ที่ศาลหลักเมืองดังกล่าวในภายหลังก็อาจจะเป็นได้”นายวิศัลย์กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image