“เพชรบูรณ์”ประกาศตั้งอุทยานธรณีวิทยา-ตั้งเป้าดันขึ้นบัญชียูเนสโก

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ และนายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อม ดร.สมบุญ โฆษิตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณีวิทยา ร่วมกันแถลงถึงการผลักดันให้จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นอุทยานธรณีวิทยา (จีโอปาร์ค) ว่า ขอใช้โอกาสนี้ประกาศให้เพชรบูรณ์เป็นดินแดนมหัศจรรย์แห่งธรณีวิทยา เพื่อก้าวเข้าสู่การนำเสนอเป็นจีโอปาร์คกับยูเนสโกในระยะต่อไป ทั้งนี้ในราวประมาณ 350-300 ล้านปีได้เกิดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกเก่าและใหม่ที่เรียกว่า อนุแผ่นผิวโลกเก่า อินโด-ไชน่า (Indo-China Micro Plate) ทางฝั่งตะวันออก และอนุแผ่นผิวโลกใหม่ ชาน-ไทย (Shan-Thai Micro Plate) ทางฝั่งตะวันตก ทำให้แผ่นดินเกิดการยกระดับภาคอีสานกับภาคกลางโดยเกิดริ้วรอยขึ้นในฝั่งเพชรบูรณ์

นายพิบูลย์กล่าวว่า จากรอยเลื่อนของเปลือกโลกดังกล่าวทำให้เกิดคุณค่าทางธรณีวิทยา และเกิดคุณค่าต่อการศึกษาค้นคว้าซึ่งเป็นเรื่องราวของมนุษยชาติไม่ใช่เป็นเรื่องราวของคนไทยหรือชาวเพชรบูรณ์เพียงอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น บ่อน้ำมัน, เหมืองทองคำ, รอยเท้าสัตว์ดึกดำบรรพ์อาร์โคซอร์(archosaur)อยู่บนหน้าผา, ผาแดงขอบแผ่นดินโบราณ, ฟอสซิสปลา ฯลฯสิ่งเหล่านี้อายุ 150 ล้านปีขึ้นปีที่ตกมาอยู่ที่เพชรบูรณ์ แม้แต่เสาหินดึกดำบรรพ์ที่เป็นหินอัคนีหินบะซอลต์ (Basalt) ที่มีน้ำตกก็มีปรากฏด้วยเช่นกัน ซึ่งจากการสำรวจในเบื้องต้นมีกว่า 20 จุดที่มีคุณค่าทางธรณีวิทยา

Advertisement

“ก่อนหนานี้ทาง ดร.สมบุญได้นำเสนอที่การประชุมใหญ่เกี่ยวกับการพัฒนาอุทยานธรณีวิทยาโลกที่จ.ขอนแก่น ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักวิชาการมากเพราะมีสิ่งแปลกๆอยู่เยอะมาก ตอนนี้จึงอยู่ที่การเจียรไนหรือขัดสีฉวีวรรณเพื่อทำให้ปรากฏอย่างชัดเจน และนำเสนอทางวิชาการเพื่อจะเข้าสู่ยูเนสโกเป็นมรดกทางธรณีวิทยาหรือจีโอปาร์ค”นายพิบูลย์กล่าว

ดร.สมบุญกล่าวว่า เพชรบูรณ์มีของดีมากมายแต่ยังไม่เคยนำออกไปให้ใครรู้ และไหนจะมีการจัดตั้งอุทยานธรณีวิทยาขึ้นก็สมควรเปิดตัวให้ชาวโลกได้รับรู้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาอุทยานธรณีวิทยาที่จ.สตูลเพิ่งได้รับการประกาศเข้าไปอยู่ในยูเนสโกเรียบร้อยแล้วเป็นแห่งแรก แต่เพชรบูรณ์ที่เด่นๆยังมีถ้ำใหญ่น้ำหนาวเป็นที่สะสมตัวของกลุ่มมีชีวิตสมัยโบราณต่อเนื่องในยุค 280-240 ล้านปี โดยมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีวิวัฒนาการที่ต่อเนื่อง และมีการศึกษาวิจัยตีพิมพ์จนได้รับการยอมรับไปทั่วโลกแล้ว เชื่อว่าแม้จะจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาภายหลังในหลายจังหวัด แต่ในโอกาสหน้าเพชรบูรณ์อาจจะเป็นอันดับ 2 ที่จะเข้ายูเนสโก

Advertisement

ทั้งนี้สำหรับแหล่งธรณีวิทยา “มหัศจรรย์ธรรมชาติบนแผ่นดินเพชรบูรณ์” มี 21 จุดคือ 1.ถ้ำใหญ่น้ำหนาว บ้านห้วยลาด ต.หลักด่าน อ.น้ำหนาว 2.รอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์อาร์โคซอร์ บ้านนาพาสอง ต.น้ำหนาว อ.น้ำหนาว 3.แคนยอนน้ำหนาว บ้านโคกมน ต.โคกมน อ.น้ำหนาว 4.เลยดั้นลานหินมหัศจรรย์ บ้านห้วยตะโปะ ต.หลักด่าน อ.น้ำหนาว 5.ผาแดง แหล่งรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ 6.จุดชมวิวผาหงษ์ ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก 7.สะพานห้วยตอง เชื่อมแผ่นโลก ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก 8.แหล่งซากดึกดำบรรพ์ปลาน้ำจืดโบราณ บ้านหนองปลา ต.น้ำก้อ อ.หล่มสักและต.ท่าพล อ.เมืองฯ 9.น้ำตก ธารทิพย์ ต.บุงน้ำเต้า อ.หล่มสัก

10.โนนหัวโล้น ต.บ้านติ้ว อ.หล่มสัก 11.ภูเขาหินปะการัง บ้านเขาเพิ่มพัฒนา ต.ซับพุทธา อ.ชนแดน 12.ผาเจ็ดสี บ้านเนินตูม อ.วังโป่ง 13.แหล่งซากดึกดำบรรพ์หอยตะเกียง บ้านวังปลา ต.พญาวัง อ.บึงสามพัน 14.น้ำตกเสาหินอัคนี น้ำตกซับพลูปาก บ้านซับเจริญ ต.ยางสาว อ.วิเชียรบุรี 15.สุสานหอยสิบล้านปี บ้านน้ำเดือด ต.โคกปรง อ.วิเชียรบุรี 16.แหล่งข้าวสารหิน วัดถ้ำเทพบันดาล ต.สามแยก อ.วิเชียรบุรี 17.บ่อน้ำเดือด บ้านน้ำเดือด ต.น้ำร้อน อ.วิเชียรบุรี 18 แหล่งไม้กลายเป็นหิน ตงท่าพล องเมืองฯ 19.แหล่งหินคลอนหรือนวลสารพอก วัดโนนน้ำทิพย์ ต.นางั่ว อ.เมืองฯ 20.ฟอสซิลกระดูกสะโพกไดโนเสาร์ 21.พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยาจังหวัดเพชรบูรณ์หนองนารี อ.เมืองฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image