บทนำ : ผูกขาดการเมือง-ศก.

อีกหนึ่งเสียงที่วิเคราะห์ความเป็นไปของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน คือเสียงของ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ วิเคราะห์ปัญหาทางเศรษฐกิจการเมืองว่ากำลังถูกผูกขาด ทั้งการผูกขาดทางเศรษฐกิจ และการผูกขาดทางการเมือง โดยเกรงว่าการผูกขาดดังกล่าวจะกลายเป็นต้นเหตุของการทุจริต เกิดความไม่ยุติธรรม และความเหลื่อมล้ำในสังคม กระทั่งกลายเป็นปัญหาสังคม

รศ.ดร.พิชายวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ประเทศเป็นเช่นนั้นว่า ผู้บริหารประเทศทราบดีว่าต้องทำอย่างไรในการแก้ไขปัญหา เพราะมีงานการศึกษางานวิจัยต่างๆ มากมายที่สามารถทำให้หลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำ แต่ที่ไม่ทำ เพราะเครือข่ายอำนาจทั้งรัฐและทุนตระหนักดีว่า หากทำลงไป ผลประโยชน์ของตนเองจะลดลง หรืออาจหมดไป และทำให้อภิสิทธิ์ต่างๆ ที่ได้รับจากสังคมลดลง จึงไม่อยากทำสิ่งที่ลดความเหลื่อมล้ำ กลายเป็นพฤติกรรมการดองกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ดองกฎหมายภาษีทรัพย์สิน ดองอำนาจไว้ในส่วนกลาง ไม่ยอมกระจายไปสู่ประชาชนในท้องถิ่น เป็นต้น

รศ.ดร.พิชายเสนอทางแก้ไขปัญหาการผูกขาดและเหลื่อมล้ำว่า ต้องให้ประชาชนรับรู้ เข้าใจ ตระหนักถึงสาเหตุและเภทภัยของการผูกขาดทางเศรษฐกิจและการเมืองที่กระทบต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม ต้องพยายามสร้างแรงกดดันทางสังคมเพื่อแก้กฎหมาย แก้ระเบียบ แก้มาตรการ แก้แนวทางการประพฤติ แก้บรรทัดฐานค่านิยมต่างๆ ที่เป็นเงื่อนไขค้ำยันความเหลื่อมล้ำและการผูกขาดให้หมดไป ต้องขยายเครือข่ายการตรวจสอบจากภาคประชาชน และสื่อมวลชนให้มากขึ้น

คำถามจากความเห็นของ รศ.ดร.พิชาย ก็คือ ณ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นไปดังที่ว่าหรือไม่ มีการผูกขาดทางเศรษฐกิจ มีการผูกขาดทางการเมือง มีการรวมศูนย์อำนาจ มีการดองกฎหมายหลายฉบับด้วยเหตุแห่งการรักษาอภิสิทธิ์ของกลุ่มตัวเองจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริงย่อมหมายถึงความเสื่อมทรุดของประชาชน แต่เป็นความแข็งแกร่งของชนชั้น ถ้าเป็นเช่นนั้นแสดงว่าแนวทางการบริหารประเทศด้วยวิธีที่เป็นอยู่ มิได้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมไทยต้องการแก้ไข อย่าลืมว่าปัญหาเรื่องการผูกขาดเหล่านี้เป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการรัฐประหาร และฝ่ายทหารที่เข้ามาบริหาร มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แล้วทำไมจวบจนขณะนี้ รูปธรรมการดำเนินการ อาทิ กฎหมายที่จะแก้ไขความเหลื่อมล้ำ เช่น กฎหมายปฏิรูปที่ดิน กฎหมายภาษีทรัพย์สิน การกระจายอำนาจ จึงยังไม่เกิดขึ้นสักที

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image