ถึงเวลาเช็กบิล ‘นอมินี’ต่างชาติ กอบโกยธุรกิจทัวร์

แม้จะรู้กันมานานแล้วว่า ตามจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในบ้านเรามีบรรดาบริษัทต่างชาติตั้งตัวแทนอำพราง หรือนอมินีคนไทยเข้ามาดำเนินกิจการ กอบโกยรายได้จำนวนมาก แตกบริษัทย่อยออกไปนับร้อยบริษัท แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาจัดการอย่างจริงจัง ปล่อยให้ลุกลามยืดเยื้อมานานนับสิบปี

แต่ล่าสุดที่ จ.ภูเก็ต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนธิกำลังกันออกกวาดล้างจับกุมบริษัทท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนแฝงตัวเข้ามาทำธุรกิจมีเครือข่ายจำนวนมาก ครอบคลุมธุรกิจท่องเที่ยวและบริการหลายประเภท

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ตำรวจภูเก็ตร่วมกับสรรพากรพื้นที่ภูเก็ต เจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดภูเก็ต เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดภูเก็ต พัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดภูเก็ต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบเอกสารการประกอบธุรกิจของบริษัท ทรานลี่ ทราเวิล จำกัด พื้นที่เป้าหมายต้องสงสัยประกอบธุรกิจในลักษณะเป็นการใช้คนไทยเป็นนอมินี

พ.ต.อ.สมาน ชัยณรงค์ รอง ผบก.ภ.จว.ภูเก็ตกล่าวว่า สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้บัญชาให้กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตรวจสอบและควบคุมการประกอบกิจการของคนต่างด้าวในประเทศไทยอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะบริษัทนำเที่ยวเกี่ยวกับธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ

Advertisement

ภูเก็ตก็เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย โดยนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้ลงพื้นที่มาประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับที่ผ่านมามีการร้องเรียนเกี่ยวกับการธุรกิจนอมินีจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงตรวจสอบบริษัทที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยว่าเข้าข่ายให้นอมินี

“การเข้าตรวจค้นบริษัทดังกล่าว เนื่องจากตรวจสอบพบว่า หุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท 2 คน เป็นต่างด้าวใช้บัตรประชาชนคนไทย นำมายื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเพื่อให้ถือหุ้นได้ 51% และพบว่าเครือข่ายนี้มีประมาณ 17-18 บริษัท ทั้งหมดเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น เรือและรถรับส่งนักท่องเที่ยว โรงแรม เป็นต้น ตั้งมาเป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้ว มีนายวีระชัย คำไผ่ประพันธ์กุล กับนายกฤชกร รุ่งมงคลนาม และเป็นกรรมการในองค์กรภาคเอกชนเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ตด้วยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่” พ.ต.อ.สมานกล่าว

สำหรับคดีนี้เจ้าหน้าที่ได้สืบเสาะเก็บหลักฐานมาล่วงหน้าแล้วในพื้นที่ จ.เชียงใหม่และเชียงราย บุคคลถูกอ้างชื่อเป็นบิดามารดาระบุว่า ชื่อดังกล่าวไม่ใช่บุตรของเขา รวมทั้งได้ตรวจสอบไปยังฝ่ายปกครองแล้วเช่นกัน ทราบว่าทั้งสองคนเป็นต่างด้าว จึงได้ออกหมายจับ ในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานในการนำเอกสารไปยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท พบว่าบัตรประชาชนที่เขานำมาใช้เป็นบัตรปลอมออกที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย และนายกฤชกร รุ่งมงคลนาม นั้นได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ อยู่ระหว่างการสอบสวน ขณะที่อีกคนได้หลบหนีไปแล้ว พบว่าน่าจะมีการหลบเลี่ยงภาษี โดยแจ้งยอดการจ่ายภาษีปีละประมาณ 200,000 บาทเท่านั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อหาความเชื่อมโยงว่าจะเกี่ยวข้องกับการเป็นนอมินีหรือไม่ อย่างไร

Advertisement

จากการตรวจสอบเอกสารการประกอบธุรกิจของบริษัท ทรานลี่ ทราเวิล จำกัด ทราบว่าบริษัทที่มีรายชื่อสำนักงานตั้งอยู่ภายในอาคารเลขที่ 29/42 หมู่ 1 ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต รวม 7 บริษัทนั้น มี 4 บริษัทยื่นขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว ก่อนมีการตรวจสอบระยะหนึ่งแล้ว แต่ในส่วนของบริษัทยังคงมีชื่ออยู่ ส่วนเครือข่ายที่เหลือมีบางส่วนตั้งสำนักงานอยู่ที่ จ.พังงาด้วย

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบท่าเทียบเรืออินทรี มารีน ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต 1 ใน 17 ธุรกิจเครือข่ายของบริษัท ทรานลี่ ทราเวิล จำกัด แต่ครั้งนี้มี พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ลงพื้นที่มาดูในเรื่องนี้ด้วยตัวเองเพื่อตรวจสอบทรัพย์สิน การยึดทรัพย์ และการฟอกเงินต่างๆ เพราะอาจมีการโยกย้ายถ่ายโอนได้ รวมทั้งยังบูรณาการร่วมกับกรมสรรพากรและกระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบเอกสารและเพิกถอนใบอนุญาตต่างๆ

ปัญหาดังกล่าวนี้ได้มีการนำผลการปฏิบัติงานเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการจังหวัด เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 โดยมี นายประเจียด อักษรธรรมกุล รอง ผวจ.ภูเก็ตเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการจดทะเบียนธุรกิจ เพื่อป้องกันการประกอบธุรกิจอันมีลักษณะใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (นอมินี) ทั้งนี้เพื่อพิจารณาว่าเข้าข่ายฐานความผิดใดบ้าง ส่วนการขยายผลจากการออกหมายจับ ขณะนี้ได้ออกหมายเรียกพยานกว่า 10 ปากเพื่อมาให้ปากคำเพิ่มเติม

ด้าน นายนิมิต ฆังคะจิตร พัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากการตรวจสอบบริษัท ทรานลี่ ทราเวิล จำกัด พบว่ามีบริษัทในเครือข่าย 17 บริษัท จากการตรวจสอบคำขอ ทางนายทะเบียนได้มีคำสั่งเพิกถอนคำขอเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นใน 7 บริษัท จำนวนดังกล่าวมีบริษัทตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.พังงา 2 บริษัท ได้ส่งรายละเอียดไปให้กับทางสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดพังงาตรวจสอบแล้ว

จากการตรวจสอบการถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ดังกล่าว ผู้ต้องหาทั้งสองคนถือหุ้นใหญ่ในบางบริษัทและบางช่วงเวลา ทำให้บริษัทต่างๆ ดังกล่าวมีคนต่างด้าวถือหุ้นมากกว่าคนไทย และส่งผลให้บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทสัญชาติต่างด้าว หากมีการประกอบธุรกิจไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิดตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ต่างด้าว พ.ศ.2542

ในส่วนของการใช้เอกสารออกโดยไม่ถูกต้อง มาเป็นเอกสารประกอบคำขอจดทะเบียน หากเข้าข่ายความผิด ตามกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 และจากการตรวจสอบการจดทะเบียนในบริษัทต่างๆ ที่มีบุคคลทั้งสองเข้าไปเกี่ยวข้อง พบว่ายื่นคำขอจดทะเบียนที่บุคคลทั้งสองเข้าไปเกี่ยวข้องใน 9 บริษัท มีกว่า 30 คำขอ เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดและแจ้งความดำเนินคดีต่อไป

ต่อมาตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ตสนธิกำลังกับตำรวจท่องเที่ยว ทัพเรือภาคที่ 3 เข้าปฏิบัติตามยุทธการตรวจยึดทรัพย์สินของบริษัททัวร์จีนของบริษัท ทรานลี่ ทราเวิล จำกัด หลังจากสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ สาขาภาคใต้เขต 2 ภูเก็ต ได้ยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการด้านการท่องเที่ยวของบริษัทดังกล่าว โดยทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่อายัดไว้มีทั้งรถยนต์และรถบัสกว่า 117 คัน และเรือ 35 ลำ

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่า บ.ทรานลี่ ทราเวิล จำกัด นั้นเป็นเครือข่ายใหญ่ มีบริษัทในเครือรวม 17 บริษัท ได้แก่ 1.บ.ทรานลี่ ทราเวิล จำกัด 2.บ.หยางกวง จำกัด 3.บ.แมนตา มารีน จำกัด 4.บ.ภูเก็ต ปิง เฟรนด์ จำกัด 5.บ.เหมยลี จำกัด 6.บ.บลู เฮเว่น ไดฟ์วิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด 7.บ.เคนย่า แอนด์ แฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 8.บ.ไทลี่ อิมพอร์ต จำกัด 9.บ.ทีแอล แบตเตอร์เวย์ จำกัด 10.บ.อินทรีมารีน จำกัด 11.บ.บลูเวฟ รีสอร์ท จำกัด 12.บ.บลูเบย์ รีสอร์ท จำกัด 13.บ.เนเชอรัลเบย์ รีสอร์ท จำกัด 14.บ.เวนิส ซีวิว จำกัด 15.บ.ราชาสปา จำกัด 16.บ.สปันงาสปา จำกัด และ 17.บ.เซียน ชาบู ชาบู จำกัด

ทั้ง 17 บริษัทนั้นอยู่ภายใต้การบริหารและถือหุ้นใหญ่โดย นายวีระชัย คำไผ่ประพันธ์กุล หรือนายหน้อย ไม่ทราบนามสกุล กับนายกฤชกร รุ่งมงคลนาม หรือนายไอ่สาม เสียงลี และเป็นกรรมการสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ตด้วย ทั้ง 2 คนเป็นต่างด้าวใช้บัตรประชาชนคนไทยนำมายื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเพื่อให้สามารถถือหุ้นได้ 51% เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาได้จัดตั้งบริษัทที่เกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยว เช่น เรือและรถรับส่งนักท่องเที่ยว โรงแรม ก่อนขยายกิจการเป็นจำนวนมาก

สำหรับที่เชียงใหม่ แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่ง นายมนตรี ปิยากูล ผู้อำนวยการท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า ขณะนี้พบว่ามีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วเช่นกัน ตรวจพบกลุ่มของเกสต์เฮาส์ เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบ 5-10 แห่ง มีชาวจีนมาลงทุนผ่านคนไทย และกระทำผิดตาม พ.ร.บ.โรงแรมหลายส่วน ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อผู้ประกอบการ

นอกจากภูเก็ตและเชียงใหม่แล้ว เชื่อว่าน่าจะยังมีบริษัทนอมินีต่างชาติตามแหล่งท่องเที่ยวอีกจำนวนมาก เช่น พัทยา หรือจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ มีบริษัทเหล่านี้เข้ามาทำมาหากิน แย่งอาชีพคนไทย กอบโกยผลประโยชน์มานาน

ภาครัฐควรเอาจริงเอาจังกับปัญหานี้ ดีกว่าปล่อยให้ผลประโยชน์เข้ากระเป๋าใครบางคนต่อไป หลังจากปัญหานี้เรื้อรังมานานเต็มที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image