รุมซัด รบ.ชิงออกกฎกระทรวงล้ม กม.สุราก้าวหน้า ‘พิธา’ เหน็บ ที่เถื่อนคือกฎหมายไม่ใช่เหล้า-ภท.ส่อไม่เอาด้วย

ฝ่ายค้านรุมซัด รบ.ชิงออกกฎกระทรวงล้ม กม.สุราก้าวหน้า “พิธา” เหน็บ ที่เถื่อนคือกฎหมายไม่ใช่เหล้า ด้าน ภท.ส่อไม่เอาด้วย

ภาษีสรรพสามิตฯ ฝ่ายค้านรุมซัดรัฐบาล ชิงออกกฎกระทรวงฯ ล้ม กม.สุราก้าวหน้า ด้าน ‘พิธา’ เย้ย ที่เถื่อนคือกฎหมาย ไม่ใช่เหล้า ส่วน ‘ธีรัจชัย’ ขอ ส.ส.ยืนข้าง ปชช. อย่าตามคำสั่ง ‘ประยุทธ์’ ต้อยๆ ขณะที่ ‘ภูมิใจไทย’ ส่อแววไม่เอาด้วย ชี้ เหล้าต้มเองอาจสกปรก

เมื่อเวลา 11.20 น. วันที่ 2 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง เป็นวันแรก โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต หรือ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว มีทั้งหมด 7 มาตรา โดยเป็นการพิจารณาวาระ 2 เรียงตามมาตรา

สำหรับมาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 153 พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เพื่อไม่ให้เกิดการกีดกันการแข่งขันผ่านกำลังการผลิต กำลังแรงม้า ทุนจดทะเบียน และจำนวนพนักงาน โดย นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) อภิปรายว่า เท่าที่ตนรับรู้การผลิตสุราที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งบางครั้งมีการจำหน่ายด้วย มีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และผลิตที่บ้าน ใช้กรวยสังกะสีเป็นสนิม บางครั้งชาวบ้านใส่กรัมม็อกโซนเพื่อเร่งการเกิดปฏิกิริยา และส่งกลิ่นเหม็นให้พื้นที่ใกล้เคียง จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ตนจึงไม่ติดใจในการปฏิบัติตามกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 เพราะกฎหมายนี้ไม่ได้มีการควบคุมชาวบ้านไม่ให้ผลิตสุราเลย

ทำให้นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะ กมธ. ท้วงว่า เรื่องคุณภาพ และสิ่งแวดล้อมไม่ได้ระบุในร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้านี้ก็จริง แต่ก็มีกฎหมายฉบับอื่นควบคุมอยู่แล้ว โดยกฎหมายฉบับนี้คือการให้อำนาจไปแก้ไขกฎกระทรวงฯ ซึ่งมีการปลดล็อก แต่มีอีกล็อกขึ้นมา เช่น การเอากำลังการผลิตเบียร์ 10 ล้านลิตรออก และให้ไปทำ EIA หรือการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแทน ทั้งที่จริงการทำ EIA อาจจะไม่สำคัญกับการทำโรงเบียร์ขนาดเล็กมาก ส่วนการทำสุราพิเศษ เช่น บรั่นดี และลิเคียวร์ ซึ่งกฎกระทรวงก็ยังไม่มีการแก้ไขในส่วนนี้ กฎหมายฉบับนี้ จึงไม่กำหนดกำลังแรงม้า และเครื่องจักร เพื่อให้เกิดการปลดล็อกการผลิตสุรา กฎหมายนี้จึงสำคัญอย่างยิ่ง เพราะออกโดยสภาผู้แทนราษฎร จึงอยากให้ช่วยกันปลดล็อกโซ่ตรวนนี้ไปให้ได้

Advertisement

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค ก.ก. อภิปรายในมาตรา 3 ว่า ศักยภาพของผู้ประกอบการไทยไม่ว่าจะอยู่จังหวัดไหน ก็เป็นผู้ประกอบการระดับโลกทั้งนั้น ถ้าใช้กฎกระทรวงคุม ผู้ประกอบการไทยก็ไม่ได้รับการปลดล็อกเลย แต่มาตรา 3 ที่ให้ยกเลิกความในมาตรา 153 พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต 2560 เพื่อที่จะไม่ให้มีการกีดกันการแข่งขันผ่านกำลังการผลิต กำลังแรงม้า ทุนจดทะเบียน และจำนวนพนักงาน ตรงนี้ต่างหากที่จะเป็นการปลดปล่อยศักยภาพของผู้ประกอบการไทยอย่างแท้จริงที่จะไปในระดับโลก ซึ่งนโยบายสุราก้าวหน้าไม่ใช่แค่ความเท่าเทียบทางการผลิต แต่เป็นนโยบายเศรษฐกิจ การเกษตรในการแปรูปสินค้าการเกษตร และเป็นนโยบายการท่องเที่ยวไปในตัวด้วย

“ผมจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนร่างที่ กมธ.ฯ แก้ไขมาแล้วว่า สิ่งเหล่านี้ถ้าจะปลดปล่อยศักยภาพได้รัฐต้องเล็ก เรื่องแบบนี้รัฐจะใหญ่ไม่ได้ เพราะทำให้ศักยภาพไปต่อไม่ได้ เปลี่ยนแค่จากจดแจ้งของ กมธ.ไปเป็นอนุญาต นี่ก็เรื่องใหญ่แล้ว เพราะการขออนุญาตจากราชการไทยที่รวมศูนย์ยากมาก และเป็นการเปิดดุลพินิจให้ข้าราชการเรียกไถจากประชาชน พี่น้องชาวสุราเรื่องใหญ่ ชอบไปหาโรงงานผลิตเหล้าตอน 3 ทุ่ม แล้วไปขอตรวจดูบัญชี ตรวจการดำเนินงาน ถ้าอยากให้เรื่องหายไป จ่ายมา 5 หมื่นบาท นี้คือการมีกฎหมายที่หยุมหยิม กฎหมายที่พายเรืออยู่ในอ่าง กฎหมายที่ลดกำแพงอันหนึ่งแล้วสร้างกำแพงขึ้นมาอีกอันหนึ่ง จึงเป็นดุลพินิจที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถไปถึงศักยภาพระดับโลกของเขาได้ และโดนขูดรีดไถ ที่นายกฯ และรัฐบาลบอกว่ากลัวเหล้าเถื่อน ผมว่าที่เถื่อนไม่ใช่เหล้าแต่เป็นกฎหมาย” นายพิธากล่าว

นายพิธากล่าวต่อว่า กฎหมายนี้อาจจะไม่มีความหมายมากกับท่าน แต่สำหรับพี่น้องเกษตรกร และผู้ประกอบการที่เขาสู้มา 30-40 ปี ตั้งแต่เครือข่ายเหล้าไทย จนมาถึงทุกวันนี้ นี่คือโค้งสุดท้ายที่จะทำให้เขามีความฝันอยู่ในประเทศนี้ ต้องเรียนว่าเรามาไกลเกินกว่าจะแพ้ กับสิทธิชุมชนในการทำธุรกิจ ในการเปลี่ยนเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการ เปลี่ยนโภคภัณฑ์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ และหาวิถีในการที่จะหาฐานะภาษีใหม่ๆ หางบประมาณใหม่ๆ ในการที่จะดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสุรา ไม่ว่าจะสุรานายทุนหรือสุรานำเข้า หรือสุราพื้นบ้าน นั่นคือการเก็บภาษีจากฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่จะได้จากสุราก้าวหน้าเพื่อมาดูแลเยาวชน นักดื่มรุ่นใหม่ ให้ดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ

Advertisement

จากนั้นนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะ กมธ.ฯ เสียงข้างมาก อภิปรายว่า การแก้กฎกระทรวงฯ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำอย่างเร่งด่วน มีการประกาศในราชกิจจาฯ ภายในวันเดียว ซึ่งไม่ค่อยปรากฏในกระบวนการที่จะออกกฎกระทรวงฯ หรือออกกฎหมายใดๆ แสดงให้เห็นถึงความเร่งรีบ อาจจะเพื่อให้มีผลกระทบกับกระบวนการพิจารณาในสภาฯ ก็เป็นได้ แต่กระบวนการในสภาฯ ไม่ควรเอาปัจจัยภายนอกเข้ามาเป็นปัจจัยในการพิจารณาตัวกฎหมาย ซึ่งศักดิ์สูงกว่ากฎกระทรวงฯ เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของสภาฯ ว่าทิศทางการเปิดเสรีสุราเป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดการเสมอภาคกับประชาชนไม่ให้รายใหญ่ผูกขาดอีกต่อไป ถ้าเราหวังพึ่งว่ามีกฎกระทรวงฯ มาแล้ว ซึ่งไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันให้เกิดความมั่นใจได้เลยว่า ในอนาคตทิศทางของตลาดสุราจะเป็นไปอย่างไร ถ้ากฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ได้ แปลว่ากฎหมายที่เป็นแม่ของกฎกระทรวงไม่มีผลบังคับใช้ วันนี้มีกฎกระทรวงซึ่งออกเมื่อวาน มะรืนอาจจะมีกฎกระทรวงไปแก้ไขเปลี่ยนกลับก็ยังได้ ดังนั้นเราต้องยืนยันด้วยกฎหมาย

ด้านนายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า ที่ผ่านมาเห็นชัดว่ามีการผูกขาดและกีดกัน แต่กฎหมายฉบับนี้เป็นการแก้ไม่ให้มีการกีดกันและผูกขาด กฎกระทรวงที่ออกมาเมื่อวาน (1 พฤศจิกายน) ทำให้มีคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ยังต้องแก้กฎหมาย แต่กฎกระทรวงฯ เป็นเพียงวิธีปฏิบัติ แต่ถ้าเราไม่มีกฎหมายที่ระบุชัดเจนว่าวิธีปฏิบัติต้องยึดโยงกับหลักการอะไรก็จะทำให้อำนาจของการกำกับไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามกฎหมายก็ได้ และฝ่ายบริหารสามารถเปลี่ยนใจได้หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ผ่านสภาฯ วันนี้ใช้กฎกระทรวงที่เพิ่งออกมา พรุ่งนี้แก้ใหม่ก็ได้ เพราะไม่มีความจำเป็นต้องยึดโยงหลักการของกฎหมาย ซึ่งกฎกระทรวงเปลี่ยนเมื่อไหร่ก็ได้ แต่กฎหมายถ้าจะแก้ต้องมาที่สภาฯ และกฎกระทรวงแทนกฎหมายไม่ได้ ดังนั้นตอนนี้ถึงเวลาที่เราต้องตัดสินใจว่า เราอยากจะเห็นกฎหมายนี้ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ แต่หลักนี้ต้องไม่ใช่เป็นเรื่องของกฎกระทรวง ดังนั้นส่วนตัวคิดว่าควรสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ และอย่าเข้าใจผิดว่ากฎกระทรวงนี้คือคำตอบ

ขณะที่ นายชาดา ไทยเศรษฐ ส.ส.อุทัยธานี พรรค ภท. อภิปรายว่า ในฐานะที่ตนเป็นมุสลิม อย่างไรเสียก็ต้องลงมติงดออกเสียงร่างกฎหมายฉบับนี้แน่นอน ขอเรียนว่าเราไม่ควรนำกฎกระทรวงที่ออกเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เกี่ยวกับเรื่องนี้มาเป็นตัวชี้วัดว่าจะรับหรือไม่รับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะ พ.ร.บ.ที่กำลังจะออกอยู่ใหญ่กว่ากฎกระทรวง แต่สิ่งที่ตนกังวลคือ ปัญหาตัวเลขผู้เสียชีวิตช่วงเทศกาลต่างๆ ทั้งปีใหม่และสงกรานต์ คุณและโทษของสุรา รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเยาวชน และจำนวนรายได้ของรัฐจะลดหรือเพิ่มขึ้นอย่างไร

ส่วนนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. กล่าวว่า วันนี้เป็นการวัดใจ ส.ส.ว่าจะกดตามต้อยๆ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งมาหรือไม่ ถ้ากฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่าน แสดงว่ายังมี ส.ส.เชื่อฟัง พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ เรื่องนี้เป็นการวัดใจว่าเราจะยืนข้างทุนผูกขาด หรือยืนข้างประชาชน จึงขอให้ประชาชนไปเช็กชื่อ ส.ส.ที่โหวตได้เลย เรื่องนี้ไม่ต้องรอรัฐบาลหน้าแล้วค่อยทำ จึงอยากขอให้สมาชิกมายืนข้างประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image