สติธร ชี้ ยุทธศาสตร์ พท. 310 เสียง รุกฆาต ทำ ‘ก้าวไกล’ ปวดหัว เจอกระแทกชุดใหญ่

‘ผอ.สำนักนวัตกรรมฯ’ เทียบยุทธศาสตร์ 310 เสียงเพื่อไทยคือรุกฆาต พุ่งเป้าแรกที่ ‘ก้าวไกล’ หวังดึงเสียงปี’62 กลับ

วันที่ 20 มีนาคม ที่ชั้น G บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) มีการจัดเวทีวิชาการ “วิเคราะห์เลือกตั้ง 2566 จากฐานคะแนนและการแบ่งเขตเลือกตั้ง” ซึ่งนับเป็นเวทีที่ 2 ในแคมเปญ “มติชน เลือกตั้ง’66 บทใหม่ประเทศไทย”

เวลา 11.05 น. มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ภูมิทัศน์การเมืองจากเลือกตั้ง 2562 ถึงเลือกตั้ง 2566” โดย
รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย, ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตกรรมการบริหาร-โฆษกพรรคไทยรักไทย อดีตรัฐมนตรีและเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ดร.สติธร กล่าวว่า เมื่อมีจำนวนเขตมากขึ้น แน่นอนว่าจะมีจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคได้เพิ่ม แต่โอกาสจะไปอยู่ที่ใครก็อยู่ที่วิธีการแบ่งเขตด้วย ซึ่งหลายๆ ที่ดูเหมือนมีการจงใจมากๆ ในการที่จะเอาฐานคะแนนมารวมกัน ตนมักจะพูดเสมอในตอนที่มีการแบ่งเขตกันว่าจำเป็นต้องมีการไปตรวจสอบ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างที่เราน่าจะสนใจจากข้อมูลที่เราแปลงจากปี 2562 ถึงปี 2566 ก็คือเราอยากท้าทายมันว่านั่นคือปี 2562 แต่นี่คือปี 2566 คนจะเลือกเหมือนเดิมหรือ?

Advertisement

“วันนี้เราอาจจะมองว่าเราแบ่งขั้วการเมืองของการเมืองไทยเป็นสองฝ่าย เสรีนิยม กับ อนุรักษนิยม และวันนี้ก็มีมายาคติจากฝ่ายเสรีนิยม ที่บอกว่าวันนี้ดูจากข้อมูลแล้วจากปี 2562 ถึง 2566 ฝ่ายเสรีนิยมน่าจะมีสัก 60 แต่อนุรักษนิยม 40 จากเดิมที่ปี 2562 มีประมาณ 50-50 แต่จะชวนให้ดูว่าถ้าใช้วิธีคิดแบบนำเสรีนิยมและอนุรักษนิยมไปจับกับข้อมูลในการแบ่งเขตที่ รศ.ดร.ธนพรเสนอเพื่อประเมิน ส.ส.บัญชีรายชื่อไปในตัว ผมคิดว่าอาจจะต้องเข้าใจเสรีนิยมให้ชัดขึ้นอีกสักนิด

การเมืองไทยมีการแบ่งขั้วก็จริง มันไม่เป็นตัวเลขกลมๆ 50-50 หรือ 60-40 ย้อนไปดูข้อมูลย้อนหลังปี 2562 ก็ได้ ถ้าเราดูคะแนนรวมทั้งประเทศเราจะพบว่าจริงๆ แล้วนอกเหนือจากคนที่ลงคะแนนให้กับ 5 พรรคใหญ่ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ ยังเหลือคนที่เลือกพรรคอื่นๆ อีก 14% ซึ่งเป็นขั้วที่เป็นพรรคขนาดเล็กของฝ่ายเสรีนิยม เช่น พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคเพื่อชาติ กับที่เป็นขั้วรัฐบาลปัจจุบัน เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา

แปลว่าเวลาที่เราคิดถึงขั้วอุดมการณ์เสรีนิยมและอนุรักษนิยม เราต้องคิดให้ละเอียดว่าในเสรีนิยมมีทั้งแบบสุดขั้วประเภทอยากจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง อยากจะเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน แนวโน้มก็อาจจะไปทางพรรคก้าวไกล แปลว่าฐานเดิมของพรรคอนาคตใหม่ถ้าจับคนกลุ่มนี้ไว้ได้ พรรคก้าวไกลก็จะเกาะคนกลุ่มนี้ไว้ได้เหมือนเดิม และจะเกาะแบบไหนต้องไปดูแต่ละเขตที่แชร์คะแนนแบบแบ่งเขตใหม่นั้นคนกลุ่มนี้อยู่ที่ไหน ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีเสรีนิยมแบบค่อยๆ เปลี่ยน กลุ่มนี้ก็อาจจะมีแนวโน้มอยู่ทางพรรคเพื่อไทยมากกว่า และอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นเสรีนิยมที่ไม่เอาพรรคใหญ่ ถ้าเราคิดการเมืองเชิงอุดมการณ์จากข้อมูลที่มี นักเลือกตั้งทั้งหลายสามารถเอาไปคิดต่อได้” ดร.สติธรกล่าว

Advertisement

ดร.สติธรกล่าวต่อว่า ตัวเลข 310 เสียงของพรรคเพื่อไทย มีความหมายคือเหมือนรุกฆาตประมาณหนึ่ง โดยรุกฆาตตัวแรกไปที่พรรคก้าวไกล เพราะถ้าเป้าหมายจะแลนด์สไลด์สำเร็จต้องเอาคะแนนที่พรรคก้าวไกลเคยแชร์ไปเมื่อตอนปี 2562 กลับคืนมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งได้ 6.3 ล้านเสียง หารด้วย 350 เขต ได้ประมาณ 18,000 คะแนนต่อเขต ซึ่งแปลว่านี่คือคะแนนที่พรรคเพื่อไทยเคยได้เมื่อปี 2554 แล้วจะเอาคืนมาได้อย่างไร ถ้าเอาคืนมาได้จะมีโอกาสแลนด์สไลด์ขนาดไหนต้องไปดูที่ปี 2554 พรรคเพื่อไทยเคยชนะเลือกตั้ง 204 เขตถ้าเทียบกับปีนี้คือ 210 เขตโดยประมาณ วันนี้ต้องเอาคะแนนจากพรรคก้าวไกลมาครึ่งเดียวก่อน 210 เขตมีโอกาสแล้วไปลุ้นกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นอกจากนี้ตัวเลข 310 คือหนึ่งในกระบวนการที่จะนำไปสู่การจูงให้คนอยากจะเลือกเชิงยุทธศาสตร์ เพราะเมื่อวาง 310 ลงไปแล้วคนในฝ่ายเสรีนิยมคิดว่ามันเป็นไปได้แปลว่าต้องทำให้พรรคเพื่อไทยชนะด้วยตัวเลขเท่านี้ใช่หรือไม่ แปลว่าเขตก็ต้องยกให้พรรคเพื่อไทยไปเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่พรรคก้าวไกลก็ต้องปลอบใจด้วย ส.ส.บัญชีรายชื่อ

“แล้ววันนี้พอวางยุทธศาสตร์ 310 เสียง วันนี้พรรคก้าวไกลปวดหัวเพราะนอกจาก 310 เขากระแทกด้วยนโยบายชุดใหญ่ อะไรที่มันไม่ทะลุหลังคาที่ก้าวไกลเคยพูดไว้เพื่อไทยเอามาหมดเลย แปลว่าเกมนี้คือบีบให้ก้าวไกลไปทะลุหลังคาอีกเพื่อแยกโหวตเตอร์ นี่คือแผนระดมเสียงที่ต้องการเรียกคืนส่วนที่เคยถูกแชร์ไปเมื่อปี 2562

อีกส่วนหนึ่ง 310 ก็จะไปกระแทกบรรดาพรรคที่คิดยุทธศาสตร์รอบนี้ว่าอย่างไรก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีสองพรรคหลักตอนนี้ เพราะตัวเลข 310 อาจจะพรรคใดพรรคหนึ่งก็พอ ไม่จำเป็นต้องเอามาทั้งคู่ แปลว่าการที่จะไปหาเสียงว่าพรรคเราอย่างไรก็ร่วมรัฐบาลไม่ว่าขั้วไหนมามันจะดรอปลงในเชิงกระแส เวลาเราทำโพลประชาชนจะตอบว่าเลือกผู้สมัครจากอะไร ส่วนใหญ่จะตอบว่านโยบาย ซึ่งมีหลายชั้นในการคิด ต้องเปรียบเทียบในเชิงเนื้อหา และต้องดูด้วยว่าใครเสนอมา คนนี้เสนอมาแล้วเคยทำก็ได้เปรียบ แต่วันนี้ประชาชนจะคิดต่อจากที่ว่าเขาวางตัวว่าฝีมือดี เคยทำมาแล้ว นโยบายใช้ได้ จะได้ทำเหรอ? นี่คือโจทย์ เพราะมีสองพรรคที่ร่วมรัฐบาลแน่ๆ เพราะฉะนั้นวันนี้ต้องคิดกันแบบนี้” ดร.สติธรกล่าว

อ่านข่าว ‘สติธร’ วอน กกต. ใส่ ‘ชื่อ’ ในบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ช่วย ปชช.ไม่มึน สารภาพ ‘กาผิดเบอร์’ ตอนเลือก อบจ.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image