กสม.เผยคืบหน้า 9 เคส ‘อุ้มหายผู้ลี้ภัย’ ผู้เชี่ยวชาญ UN เชื่อ เพราะการเมืองชัวร์

กสม.รับหาหลักฐานยาก เผยคืบหน้า 9 ผู้ลี้ภัยถูก ‘อุ้มหาย’ ผู้เชี่ยวชาญ UN เชื่อ เพราะการเมืองชัวร์

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ห้องประชุมชั้นล่าง ศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 1 อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ บริเวณคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และเครือข่าย จัดกิจกรรม “บังคับใช้ความยุติธรรมแทนการบังคับบุคคลสูญหาย : 20 ปีทนายและนักปกป้องสิทธิฯ สมชาย นีละไพจิตร”

บรรยากาศเวลา 14.15 น. มีการเสวนาในหัวข้อ “ยุติการลอยนวลผู้กระทำความผิด: หนทางยาวไกลของงานสิทธิมนุษยชนไทยเรื่องการบังคับบุคคลสูญหาย” โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, สนิทสุดา เอกชัย อดีตบรรณาธิการบทความและผู้ผลิตเนื้อหาสารคดีสื่อสารประเด็นสิทธิมนุษยชนของ BANGKOK POST, น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตสมาชิกวุฒิสภาและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ดำเนินรายการโดย ปรานม สมวงศ์ ผู้แทนองค์กรโพรเท็คชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (PI)

ในตอนหนึ่ง น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า คำถามแรก กสม.ชุดนี้มีความมุ่งมั่นในการปกป้องสิทธิของนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้ที่ถูกอุ้มหายก็เป็นนักปกป้องสิทธิและเป็นเหยื่อ อย่างที่เห็นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งในสถิติคำร้องของ กสม.ชุดที่ 4 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2564-2566 ในปี 2564 มี 17 คำร้อง , 2565 มี 8 คำร้อง และ 2566 มี 10 คำร้อง

Advertisement

 

“จริงๆ ก่อนหน้านั้นมีเรื่องร้องเรียนมาที่ กสม. เรื่องกระบวนการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ค่อนข้างมาก แต่ในปี 2564 และ 2565 จากที่วิเคราะห์ มีปัญหาข้อจำกัดก่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน เพราะว่าตามหลักของ ประมวลกฎหมายพิจาณาคดีความอาญา การทำงานของอัยการค่อนข้าง ‘ตั้งรับ’ ซึ่งเราจะรู้อยู่ว่าถ้าอัยการไม่สอบสวนเชิงรุก จะได้สำนวนจากตำรวจ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นจริงหรือไม่ และญาติของเหยื่อจะมาร้องเรียน กสม.หลังผ่านไป 1 เดือนส่วนใหญ่ ซึ่งยากที่จะหาหลักฐาน และกล้องวจรปิดได้”

“ดิฉันเคยเข้าไปในศูนย์ซักถามของ ‘กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า’ ไปดูกล้องทุกตัว เราก็จะพบว่า กล้องมักเสียมาก เป็นห้องแคบๆ ที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำ แน่นอนว่ากรรมวิธีซักถาม ตามกายภาพมีโอกาสกดดันเหยื่อได้ ซึ่งเราก็เคยคุยกับ กอ.รมน.ภาค 4 ว่าการใช้คำนี้ เป็นที่ไม่น่าไว้วางใจ และตัวห้อง ค่อนข้างทำให้เหยื่อหรือผู้ที่ถูกจับกุมมีความกลัว เราได้คุยว่ามีความจำเป็นต้องปรับปรุง” น.ส.ศยามลเผย

Advertisement

น.ส.ศยามลกล่าวอีกว่า เมื่อมีการร้อง กสม.จะเข้าไปดูทันที ดังนั้น ในกระบวนอาชญากรรม จำเป็นที่ต้องรู้หลักฐาน ณ ตอนนั้น ซึ่งจุดนี้เป็นข้อจำกัดอย่างมากทำให้คำร้อง มักไม่สามารถหาคนผิด หรือหลักฐานได้ ด้วยลักษณะสืบสวนแบบตั้งรับ จึงมีการเรียกร้องให้มี พ.ร.บ.อุ้มหายฉบับนี้ ซึ่งหลังกฎหมายบังคับใช้ก็มีคนร้องเรียนเข้ามา เราก็ใช้ พ.ร.บ.นี้ เป็นหลักวินิจฉัย

“จริงๆ แล้วถ้าเราใช้หลักกฎหมาย ไม่มีทางได้รับความเป็นธรรม เพราะกฎหมายบ้านเรายังต้องปรับปรุงอีกมาก ไม่ว่า อาญา กฎหมายปกครอง หรือแพ่ง รวมทั้งกระบวนการวิธีพิจารณาความอาญาของเรา การมี พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน มันเหมือนเป็นกฎหมายที่ไปลัดขั้นตอนของหลักการสอบสวนแบบปกติ ที่น่าสนใจของกฎหมายนี้คือ มีการเสนอว่า เวลาฟ้องคดีให้เข้า ‘ศาลคดีทุจริตหรือประพฤติมิชอบ’ ซึ่งถ้าเข้าศาลทหาร บางครั้งทหารเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง

“มีพระธรรมนูญศาลทหารเคยถามดิฉันว่า การที่กฎหมายซ้อมทรมานใช้หลักนี้ แล้วให้เข้าสู่ศาลคดีทุจริต ขัดหรือไม่ ซึ่งไม่ขัดหรอก เพราะว่ามันมีลักษณะของกฎหมายเฉพาะ ที่ไม่ได้ตั้งศาลขึ้นมาใหม่” น.ส.ศยามลชี้

น.ส.ศยามลกล่าวอีกว่า อีกประเด็นที่มีข้อถกเถียง หากไม่สามารถหาผู้กระทำความผิดได้ ซึ่งในมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.เขียนไว้ชัดว่าเป็น ‘เจ้าหน้าที่’ แต่พอเป็นมาตรา 7 การบังคับให้บุคคลสูญหาย หรือซ้อมทรมาน มีลักษณะเป็นอาชญากรรมพิเศษ มีความยากในการหาหลักฐานว่าใครจะเป็นผู้ประทำความผิด เมื่อ ม.7 ได้เขียนรับรองไว้ มันทำให้สามารถใช้กฎหมายซ้อมทรมานในการปูพื้นฐานความรับผิดชอบของภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึง ม.10 ที่ขยายรวมไปถึง ‘การถูกบังคับสูญหายนอกราชอาณาจักรไทย’ ที่กฎหมายจะไปถึง

น.ส.ศยามล ชี้ว่า ประเด็นสำคัญคือ ม.22 ที่ต้องมีการบันทึกภาพกล้องวงจรปิดอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะล่าสุดเพิ่งมีรายงานชิ้นสำคัญ ที่ผู้เสียหายถูกตำรวจจับ ข้อหายาเสพติด แล้วตำรวจมักบอกว่ามีความจำเป็น แต่หลักความมั่นคงต้องอยู่บนหลักสิทธิมนุษยชนด้วย ฉะนั้นไม่ว่าผู้ต้องหาอะไร ต้องได้รับการคุ้มครอง เพราะเป็นมนุษยชนคนหนึ่ง หลักสิทธิไปไกลกว่าหลักความมั่นคง ต้องได้รับความคุ้มครอง ไม่ให้ถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกซ้อม

“เผอิญกรณีนั้นตำรวจชี้แจงไม่ได้ว่า ทำไมกล้องวงจรปิด ถึงมาๆ หายๆ ซึ่งเมื่อ กสม.ไปหาหลักฐาน ก็หายาก และเขาก็ไม่เหตุผล เราจึงชี้ว่า ‘ละเมิดทันที’ เพื่อให้ตำรวจมีความเข้มงวดในการดำเนินการตามกฎหมาย จึงเกิดการผลักดัน จนกระทั่งตั้งกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (NPM ) ในหน่วยของ กสม. เพื่อรองรับและเตรียมความพร้อมเรื่องนี้ เพราะเรากำลังการทำวิจัย รองรับการตรวจเยี่ยม ร่วมกับสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ด้วย และในแผนการตรวจเยี่ยมนี้ มีการเตรียมทำแผนยุทธ์ศาสตร์การป้องกันการซ้อมทรมานระดับภูมิภาค และมีแผนในการขับเคลื่อนงาน

ซึ่งการซ้อมทรมานไม้ใช่แค่สถานีตำรวจหรือเรือนจำ แต่มีทุกสถานควบคุมตัวของรัฐ ตั้งแต่เรือนจำ สถานีตำรวจ ศูนย์ควบคุมตัวก่อนแจ้งข้อหา ศูนย์ซักถามที่ชายแดนใต้ สถานพินิจ สถานกักตัวคนต่างด้าว สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โรงพยาบาลจิตเวช สถานสงเคราะห์ พักฟื้น/ฟื้นฟูเด็ก คนชราและคนพิการ ทั้งหมดนี้มีหลักฐานหลายกรณีที่เกิดการทำร้ายร่างกาย เข้าข่ายซ้อมทรมานเหมือนกัน

“ไหนๆ กระทรวงยุติธรรมไม่มา จะบอกความคืบหน้าของกระทรวง แทนเขา เราเพิ่งจัดสัมมนาไป จริงๆ แล้ว กรมคุ้มครองสิทธิ อาจจะค่อนข้างอุ้ยอ้าย เขาเรียกประชุมช้า แต่มีแผนจะทำระเบียบรองรับ และการช่วยเหลือเยียวยา, ตำรวจบอกว่าเขากำลังเตรียมความพร้อมอยู่ ในการตั้งกลไกทำงาน และจะซื้อกล้ออวงวงจรปิดเพิ่มอีก 40,000 ตัว ที่จะได้รับส่งมอบงบสิ้นเดือนมีนาคมนี้, กรมการปกครองก้าวหน้าเขาเปิดศูนย์รับแจ้งเหตุ 878 อำเภอทั่วประเทศ, สำนักงานอัยการสูงสุด เตรียมเจ้าหน้าที่รับแจ้งเรื่องร้องเรียน ครอบคลุมทั่วประเทศ ตลอด 24 ชม.” น.ส.ศยามลเผย

น.ส.ศยามลกล่าวอีกว่า ด้วยเหตุของกลไกนี้ กสม.ได้ประชุมกับทุกหน่วยงาน เราขอให้ตั้ง ‘กลไกส่งต่อ’ ระหว่างอัยการ ไปที่ตำรวจ เมื่อมีการแจ้งเหตุ ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศในช่วงท้าย น.ส.ศยามล กล่าวรายงาน 9 กรณีที่มีความคืบหน้า ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกรณีของ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และ นายสุรชัย แซ่ด่าน

น.ส.ศยามลกล่าวว่า กรณี 9 คนที่ถูกบังคับให้สูญหายคือ อิทธิพล สุขแป้น, วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, ชัชชาญ บุปผาวัลย์, ไกรเดช ลือเลิศ, ชีพ ชีวะสุทธิ์, กฤษณะ ทัพไทย, สยาม ธีรวุฒิ และ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ คำร้องเสนอเมื่อปี 2564 ซึ่งกฎหมาย พ.ร.บ.อุ้มหาย ยังไม่บังคับใช้ เราจงตั้งคณะอนุกรรมการเป็นชุดเดียว ประกอบด้วย อัยการ อีเอสไอ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ทนายความ, กสม.และที่ปรึกษา

“ไปหาข้อเท็จจริงด้วยการมอบหมายให้อาจารย์ที่ มศว ไปสืบข้อมูลทั้งหมดของญาติ ที่มีการออกข่าวเรื่องนี้ และทุกคำสั่ง คสช. ใช้เวลาประมาณ 1 ปี เสียดายที่เราพยายามาเครือข่ายหาข้อมูลในต่างประเทศ แต่เนื่องจากไม่ปลอดภัยและอยู่ในช่วงโควิด เครือข่ายที่กัมพูชา ค่อนข้างกังวลมาก จึงไม่รับที่จะพาไป” น.ส.ศยามลเผย

น.ส.ศยามลชี้ว่า ประเด็นอยู่ตรงที่ ‘ลักษณะของการกระทำ’ กล่าวคือทุกท่านถูกคำสั่ง คสช.มาก่อน ให้ไปรายงานตัว ซึ่งทั้ง 9 ตัดสินใจอพยพไปอยู่ต่างประเทศ ทั้งลาว กัมพูชา เวียดนาม ลักษณะการหายตัวคล้ายคลึงกันหมด ในแง่ที่มีการติดต่อกับญาติในช่วงเวลานั้น แล้ววันดีคืนดีก็หายไปเลย มีกรณีของ วันเฉลิม ที่เห็นกล้องวงจรปิด คุณสุรชัย ไม่พบศพ แต่อีก 2 คนพบศพคือ ชัชชาญ และ ไกรเดช ซึ่งทางอัยการก็ให้ค่าเสียหายแก่ญาติไปเรียบร้อยแล้ว

แต่กรณีที่ไม่พบศพ มีลักษณะแพทเทิร์นเดียวกัน หากตีความตาม ม.7 ของ พ.ร.บ.อุ้มหาย ว่ารูปแบบไม่ทราบชะตากรรม มีการจับกุม หรือลักพาตัวบุคลทั้ง 9 ในรูปแบบเดียวกัน มีการดำเนินการอย่างรัดกุม แล้วไม่ปรากฏหลักฐาน เราจึงไปศึกษากรณีของต่างประเทศ ว่าเขามีการค้นหา และใช้วิธีวิเคราะห์การกระทำนี้อย่างไร พบว่ามีลักษณะคล้ายกันมาก ซึ่งถ้าเราไม่มีกฎหมายซ้อมทรมาน จะไม่สามารถเอาผิดได้เลย

“มันล็อกไว้ใน ม.7 ว่าในราชอาณาจักร ก็ยังเป็นความรับผิดชอบของรัฐ โชคดีที่กรณีนี้มีความเห็นของผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ของยูเอ็น ทั้ง 7 หน่วยงาน ชี้แจงว่ากรณีนี้เป็นการบังคับให้สูญหาย เพราะผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า มีนักกิจกรรมหลายคนถูกบังคับให้สูญหายในประเทศเพื่อนบ้าน ที่แน่ๆ ทั้ง 9 ไม่ได้มาจากเหตุผลส่วนตัว เป็นเหตุผลการเมือง สภาพแวดล้อมบ่งบอกได้ ด้วยเหตุนี้ เราเลยวิเคราะห์เพื่อที่จะมีข้อเสนอให้ร่วมกันวิเคราะห์ดังนี้”

1.ข้อมูลทั้ง 9 ไม่เพียงพอว่าใครเป็นผู้ลงมือ แม้กระทั่งการลักพาตัวของ นายวันเฉลิม ปรากฏภาพถ่ายใบหน้า ก็ยังไม่สามารถระบุตัวผู้ก่อเหตุ 2.มีการกระทำความผิดในดินแดนต่างประเทศ 3.เป็นผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง มีความละเอียดอ่อนในยุคสมัย คสช.

น.ส.ศยามลกล่าวอีกว่า เรื่องการเยียวยาและชดเชยมี 5 เรื่องคือ 1.ทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิม 2.จ่ายสินไหมทดแทน 3.บำบัดฟื้นฟู 4.ทำให้พอใจ และ 5.การประกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ซึ่งการเยียวยายต้องตกไปถึงญาติที่รอคอยโดยไม่รู้ชะตากรรมด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image