กมธ.องค์กรอิสระวุฒิสภา แนะ กกต. ใช้ม.59 เลื่อนเลือกสว. หลังเจอปัญหาถูกร้องศาลรธน.-คุณสมบัติผู้สมัครเพียบ

กมธ.องค์กรอิสระวุฒิสภา แนะ กกต. ใช้ม.59 เลื่อนเลือกสว. หลังเจอปัญหาถูกร้องศาลรธน.-คุณสมบัติผู้สมัครเพียบ

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน นายกษิดิศ อาชวคุณ สว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา เปิดเผยถึงการประชุมกมธ.เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ซึ่งมีประเด็นพิจารณากระบวนการเลือก สว.ที่มีปัญหา โดยเชิญ นายแสวง บุญมี เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าร่วมประชุม ว่า ช่วงแรกรับแจ้งว่า นายแสวง จะเข้าร่วมประชุมด้วยตัวเอง แต่กลับแจ้งในเวลาต่อมาว่า ไม่สามารถมาได้ จึงส่งรองเลขาธิการ กกต. จำนวน 3 คนเข้าร่วมประชุมแทน ทั้งนี้ กมธ.ได้สะท้อนประเด็นข้อห่วงใย โดยเฉพาะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การตรวจสอบคุณสมบัติ และมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายตามมา เช่น กรณีของผู้สมัคร สว. กลุ่ม 4 ที่พบว่ามี อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) สมัครเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้มีปัญหา หาก อสม. เลือกพวกเดียวกันเอง แต่แพทย์ พยาบาล อาจเสียโอกาส ทั้งนี้รองเลขาธิการ กกต. ที่ร่วมประชุมได้แค่รับฟัง และ ขอบคุณ

นายกษิดิศ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้ซักในประเด็นที่เป็นมาตรการแก้ปัญหาเพิ่มเติม โดยนายกล้านรงค์ จันทิก ประธาน กมธ. ซักถามด้วยความห่วงใยกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของศาลปกครองกลาง เรื่องที่เกี่ยวกับความขัดแย้งของกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ พ.ต.ต.ณัฐวัฒน์ เสงี่ยมศักดิ์ รองเลขาธิการ กกต. ชี้แจงว่าจะพิจารณาในอีก 2-3 วัน

“กมธ.เห็นว่าเรื่องนี้ กกต.ควรพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน หากมีการประชุมในวันรุ่งขึ้นก็ควรพิจารณา แต่ทางรองเลขาธิการ กกต. บอกว่าจะมีประชุม แต่ไม่มีวาระเรื่องนี้ โดยทางกมธ.ได้บอกไปว่า แม้ไม่มีในวาระก็ควรหยิบยกมาพิจารณาเพราะเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งเป็นการแสดงเจตนาว่า กกต. ต้องการเร่งแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เพื่อลดข้อครหาด้วย” นายกษิดิศ กล่าว

Advertisement

โฆษกกมธ.กิจการองค์กรอิสระ กล่าวว่า นอกจากนั้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา สว. ในฐานะกมธ.ที่เคยเป็นอดีตเลขา กกต. ถามถึงการใช้มาตราการทางกฎหมาย ในพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ.2561 มาตรา59 ที่ให้อำนาจ กกต.แก้ไขเปลี่ยน หรือยกเลิกการเลือกและสั่งให้ดำเนินการเลือกใหม่ ก่อนการประกาศผลเลือก หากมีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริต ทั้งนี้ตัวแทนกกต.ที่ชี้แจงได้อ้างอิงถึงระเบียบของกกต.ที่ออกมา ทำให้กมธ.มองว่าขัดแย้งกับวิธีการทำงาน ซึ่งระเบียบนั้นมีศักดิ์ต่ำกว่ากฎหมายประกอบ

“มาตรา 59 นั้นเป็นอำนาจของกกต.ที่ชัดเจน หากดำเนนิการไปแล้วเป็นปัญหา อาจกระทบต่อมาตรฐานได้ กมธ.ดูแล้วไม่สบายในในภาพรวม ซึ่งกลไกของมาตรา 59 สามารถใช้ได้เลย ไม่ต้องรอถึงระดับประเทศ และในการประชุมกมธ.ได้ให้ความเห็นที่ชัดเจนว่าเมื่อมีเครื่องมือทางกฎหมายที่สามารถใช้ได้ ต้องนำไปใช้ จึงฝากรองเลขา กกต.ทั้ง 3 คนไปคุยกับ กกต.ให้ดี เพราะมีความชัดเจนอยู่แล้ว แต่ในฐานะที่เราเป็นสว.อยู่ตอนนี้ บอกอะไรไม่ได้มากกว่านี้ ทำได้แค่เป็นข้อเสนอ”นายกษิดิศ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image