กสม.เปิดผลสอบ ‘9เคสอุ้มหาย’ เชื่อได้ว่า จนท.รัฐมีส่วน แนะ ครม.เร่งให้สัตยาบันใน OPCAT

กสม.เปิดผลสืบ ‘อุ้มหาย 9 เคส’ ในประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วน แนะ ครม.เร่งให้สัตยาบันใน OPCAT – ร้อง คกก.สืบจนรู้ตัวคนทำ

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ห้องเสวนาชั้น 6 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงนำเสนอผลรายงานจากการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ‘กรณีการบังคับสูญหายบุคคลที่พำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้าน 9 กรณี’ โดยมี น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้นำเสนอ

บรรยากาศเวลา 13.10 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้เข้าร่วม ทั้งภาคีเครือข่าย ตัวแทนจากสถานทูตต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ทยอยเข้าร่วมรับฟังการเสวนาอย่างคึกคักจนแน่นห้องเสวนา โดยญาติของผู้สูญหาย ร่วมกันใส่เสื้อสีดำเพื่อร่วมไว้อาลัย โดยช่วงแรกเป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีบังคับสูญหายบุคคลที่พำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้าน

ต่อมาเวลา 13.35 น. น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงรายงานผลการตรวจสอบว่า ทาง กสม. ได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกรณีการบังคับสูญหายบุคคลที่พำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลี้ภัยทางการเมือง โดยจากการรวบรวมของทาง คณะกรรมการมหาวิทยาลัยศรีนวิโรจน์ประสานมิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่า ใน สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ผู้ถูกบังคับให้สูญหายจำนวน 7 รายยัง ไม่ทราบชะตากรรม และเสียชีวิต 2 รายระหว่างปี 2560-2564 ได้แก่

Advertisement

1. นายอิทธิพล สุขแป้น 2.นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ 3.นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ 4. นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ (เสียชีวิต) 5. นายไกรเดช ลือเลิศ (ผู้เสียชีวิต) 6. นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ 7. นายกฤษณะ ทัพไทย 8. นายสยาม ธีรวุฒิ และ 9. นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยผู้ร้องเห็นว่า รัฐบาลไทยเพิกเฉยในการติดตามผู้สูญหาย และไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ทำให้เชื่อได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญหายนั้น

โดยทาง กสม. ได้ตรวจสอบโดยพิจารณาจากเอกสาร พยานหลักฐาน หลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน ที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า 1. กรณีตามคำร้องนี้หน่วยงานของรัฐไม่ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและความคืบหน้าในการสืบสวนจนทราบชะตากรรมของบุคคลที่สูญหาย และ การดำเนินการสืบสวน เป็นไปอย่างล่าช้า อันกระทบต่อสิทธิในการรู้ความจริง (right to know the truth) ของ ญาติและครอบครัวของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายและเสียชีวิต

Advertisement

“การบังคับให้บุคคลสูญหายถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ได้รับรองและคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญหรือหนังสือสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ตกเป็นเหยื่อ ครอบครัว และคนใกล้ชิด รวมทั้งสังคมโดยรวม รัฐจึงมีหน้าที่ในการดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุของการสูญหายและนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ รวมถึงจะต้องชดเชยเยียวยาอย่างรอบด้าน ให้กับญาติหรือครอบครัวของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย ตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565” น.ส.ศยามล กล่าว

น.ส.ศยามลกล่าวต่อว่า ในพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมถึงการเยียวยาด้านการเงินในกรณีการบังคับให้บุคคลสูญหาย ส่วนการชดเชยเยียวยาด้านอื่น ก็ไม่ปรากฏว่าหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการเช่นกัน ทำให้ญาติหรือครอบครัวของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายและเสียชีวิตตามคำร้องนี้ ยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา

น.ส.ศยามลกล่าวต่อว่า แม้กรณีการสูญหายของบุคคลทั้ง 9 ราย ซึ่งต่อมาพบว่ามี 2 ราย เสียชีวิตแล้วนั้น จะยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานอย่างชัดแจ้งว่าผู้ลงมือก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบุคคลดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานของรัฐได้มีการออกหมายจับ และพยายามติดตามตัวมาโดยตลอด รวมทั้งผู้ที่สูญหายมีจุดเกาะเกี่ยวที่เชื่อมโยงกันคือเป็นกลุ่มคนที่มีความเห็นต่างกับฝ่ายรัฐบาล ทำให้เชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปและเสียชีวิตของบุคคลทั้ง 9 รายนี้ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ การที่หน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการอย่างเพียงพอในการสืบสวนสอบสวนติดตามหาตัวผู้กระทำความผิด หรือเพื่อให้ทราบชะตากรรมของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย และละเลยการเยียวยาให้แก่ครอบครัวของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายและเสียชีวิต ย่อมถือเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. จึงมีข้อเสนอแนะต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการสูญหายและเสียชีวิตของบุคคลทั้ง 9 ราย จนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้ถูกบังคับให้สูญหายและรู้ตัวผู้กระทำผิด พร้อมทั้งกำหนดมาตรการชดเชยเยียวยาให้แก่ญาติหรือครอบครัว และแจ้งผลการดำเนินการตลอดจนความคืบหน้าให้ญาติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกบังคับให้สูญหายและเสียชีวิตทราบเป็นระยะ

นอกจากนี้ ยังให้เร่งรัดกำหนดนโยบายและมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาด้านร่างกายและจิตใจแก่ผู้เสียหาย กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายด้านการเงินและจิตใจ รวมถึงการฟื้นฟูระยะยาวทางการแพทย์ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมกันนี้ ให้พัฒนาแนวทางหรือวิธีการสืบสวนกรณีคนไทยที่อาศัยอยู่นอกราชอาณาจักรไทยถูกกระทำทรมานหรือถูกบังคับให้หายสาบสูญ

“กสม.ยังมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ให้เร่งให้สัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับของ อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (OPCAT) และให้มีการอนุวัติกฎหมายภายในประเทศตามพิธีสารดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติด้วย” น.ส.ศยามลกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image