อย่างน้อย เคสอุ้มหายได้จารึก! ‘สมยศ’ ห่วงผู้ลี้ภัยอีกหลายชีวิต ‘อดีตกสม.’ หนึ่งในนั้น

สมยศขอบคุณ กสม. ลั่น สำเร็จเพราะครอบครัวกล้า ‘เคสอุ้มหาย’ เดินมาได้ครึ่งทาง ย้ำ ยังลี้ภัยอีกหลายชีวิต-กสม.ทำวิจัยเยียวยาใกล้เสร็จ จ่อเสนอ ยธ.

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ห้องเสวนาชั้น 6 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงนำเสนอผลรายงานจากการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ‘กรณีการบังคับสูญหายบุคคลที่พำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้าน 9 กรณี’ โดยมี น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้นำเสนอ

บรรยากาศเวลา 13.10 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้เข้าร่วม ทั้งภาคีเครือข่าย ตัวแทนจากสถานทูตต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ทยอยเข้าร่วมรับฟังการเสวนาอย่างคึกคักจนแน่นห้องเสวนา โดยญาติของผู้สูญหาย ร่วมกันใส่เสื้อสีดำเพื่อร่วมไว้อาลัย โดยช่วงแรกเป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีบังคับสูญหายบุคคลที่พำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้าน

ในตอนหนึ่ง นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้แทนญาติผู้เสียหาย กล่าวขอบคุณ กสม. ที่รับเรื่องร้องเรียนกรณี 9 คนไทยที่สูญหายในประเทศเพื่อนบ้านไปตรวจสอบ พร้อมมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในครั้งนี้

Advertisement

นายสมยศกล่าวว่า ตนอยู่ในฐานะที่อยู่ในขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย และผู้ลี้ภัยการเมืองทั้งหมดก็อยู่ในกระบวนการต่อสู้

“ตอนที่เกิดเรื่องสูญหายที่ประเทศลาวเป็นครั้งแรก ทางฝั่งไทยปฏิเสธความรับผิดชอบสืบสวน อ้างว่าเกิดขึ้นที่ประเทศลาว ไม่มีอำนาจเข้าไปดำเนินการ พอศพโผล่ขึ้นมาที่ประเทศไทย จังหวัดนครพนม ธันวาคมปี 2561 ทางการไทยก็ไม่สืบสวน แล้วก็ไม่ดำเนินคดีใดๆ ไม่ดำเนินการใดๆ มีข้อสงสัยที่เราพบรูปภาพศพ 3 พื้นที่ แต่เหลืออยู่เพียง 2 ศพ ที่ปรากฏให้เห็น และมีการอุ้มศพหาย 1 ศพ และเข้าใจว่าศพนั้นคือ คุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ จนตอนนี้ตกลงแล้ว 1 ศพหายจริง” นายสมยศกล่าว

Advertisement

นายสมยศกล่าวอีกว่า ครั้งนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ร้องเรียน กสม. ชุดที่ 3 ยกคำร้อง ไม่ดำเนินการ คือใช้เวลา 2 ปี เพื่อส่งจดหมายมาบอกว่ายกคำร้อง พอมาชุดที่ 4 ชุดปัจจุบันเลยมายื่นอีกรอบ ปรากฏว่ารอบที่ 2 ก็รับคำร้อง

“ตรงนี้เป็นความกรุณาของทีมงานสิทธิมนุษยชน ต้องขอขอบคุณเป็นอย่างสูง ที่อย่างน้อยที่สุด ผู้ที่เสียชีวิตหรือผู้ถูกอุ้มหาย ก็ถูกบันทึกอย่างเป็นทางการ ถือว่าเป็นการคืนความยุติธรรม เพราะผู้ลี้ภัยเหล่านี้ถูกปฏิบัติการข่าวสาร IO ที่มาจากภาครัฐ ซึ่งยืนยันได้ เช่น กรณีของคุณวันเฉลิม กล่าวหาว่าพัวพันกับยาเสพติด จึงถูกอุ้มหาย หรือไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจ แต่อย่างน้อยที่สุดรายงานยืนยันว่าเป็นผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง”

“ดังนั้น ถือว่าเป็นความสำเร็จและเป็นความกล้า ซึ่งใช้เวลา 16 ปีจากการร้องเรียน หวังว่าจะมีการดำเนินการต่อเนื่องต่อไปอีกว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เป็นการคืนความยุติธรรมแต่ถือว่าเรามาได้ครึ่งทาง” นายสมยศกล่าว

นายสมยศกล่าวอีกว่า การสูญหายทั้ง 9 คน นำมาซึ่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 โดยเฉพาะกรณีของคุณวันเฉลิม และการต่อสู้ของครอบครัว นำมาสู่การลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวกับการอุ้มหายในครั้งนี้ มีความปรารถนาให้ผู้ที่สูญหาย หรือถูกบังคับให้สูญหาย ครอบครัวได้รับการเยียวยา อันนี้จะเป็นความก้าวหน้าของกฎหมายฉบับนี้เป็นการคืนความยุติธรรม

“อย่าลืมว่าเรายังมีผู้ลี้ภัยการเมืองอีกหลายชีวิตที่อยู่ต่างประเทศ ทั้งฝรั่งเศส อเมริกา บางท่านก็ชราภาพ ป่วย ผมอยากให้ กสม.แผ่เมตตาแห่งสิทธิมนุษยชนไปยังพวกเขา อย่าเพิ่งให้เขาเสียชีวิตในต่างประเทศ เพราะคนเหล่านี้มีคุณูปการต่อสังคมไทย ด้านสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ขอเอ่ยนาม อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คุณจรัล ดิษฐาอภิชัย อายุ 70 แล้ว ก็เป็นผู้ลี้ภัยเช่นกัน” นายสมยศกล่าว

ต่อมาเวลา 13.50 น. นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ส่งผลรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีบังคับสูญหายบุคคลที่พำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้าน ให้แก่ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

นายสมยศกล่าวว่า ตนหวังว่าหลังจากนี้ รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมุ่งหน้าสอบสวนข้อเท็จจริงของผู้สูญหาย และจะดำเนินการเยียวยาความเสียหายจากผลกระทบที่ญาติและครอบครัวได้รับ

ด้าน น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในเรื่อวของการเยียวยา จากประสบการณ์ที่ทํางานเรื่องการเยียวยา ตอนที่รับราชการอยู่ที่ กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพกระทรวงยุติธรรม จะมีการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย เรียกว่า พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 กล่าวคือ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในของการอาชญากรรมของผู้อื่น โดยที่ตัวเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทําผิด ก็จะได้รับการเยียวยา รวมทั้งคนที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมที่ผิดพลาดที่เรียกว่า “แพะ” จะได้รับการเยียวยาเช่นกัน

“ถัดมา เราพบว่า การเยียวยาเฉพาะตัวเงินมันไม่พอ พอได้มาปฏิบัติหน้าที่คณะทํางาน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เราก็ได้ริเริ่มให้มีโครงการวิจัยขึ้นมา เป็นการเยียวยาเป็นการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางการเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทําอันรุนแรงและบังคับให้สูญหายเนื่องจาก เมื่อ กสม.ได้รับเรื่องการร้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทรมาน ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ได้รับผลกระทบจากการกระทําที่รุนแรง”

น.ส.ปิติกาญจน์กล่าวต่อว่า สำหรับการวิจัยเรื่องนี้ ได้เริ่มมาเกือบปีแล้ว และก็ได้รับความกรุณาจากนายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผอ.สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ที่จะเข้ามาช่วยเรื่องของว่าการเยียวยาทั้งด้านจิตใจ ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นพัฒนาการของประเทศไทย ที่เราจะมีเรื่องของความเห็นทางการแพทย์ ที่สามารถบอกได้ว่า ถึงแม้ว่าไม่มีผลกระทบ ไม่มีบาดแผลใดๆ แต่เขาได้รับผลกระทบจากการกระทําที่รุนแรง ที่เรียกว่าเป็นจิตใจ หรือ Second Opinion

“การวิจัยของกรรมการสิทธิมนุษยชน กับทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คงจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ อีกทั้งจะเสนอไปยังกระทรวงยุติธรรม ให้ทางกระทรวงยุติธรรมตั้งอนุกรรมการขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ในการทำวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องของมาตรการ กลไกในการเยียวยา เนื่องจากเรื่องทางการเงินก็เรื่องหนึ่ง แต่ว่ามาตรการเยียวยาทางด้านจิตใจก็น่าจะเป็นอีกเรื่องที่สําคัญมากๆ เพราะว่าเป็นเรื่องที่มองไม่เห็น แต่ว่าจะอยู่กับผู้เสียหายหรือครอบครัวที่ได้รับผลกระทบอย่างยาวนาน” น.ส.ปิติกาญจน์กล่าวทิ้งท้าย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image