ลูกชาย ‘ทนง โพธิ์อ่าน’ หวังได้กระดูกพ่อมาทำบุญ เยียวยาสักสลึงไม่เคยได้รับ

ญาติอุ้มหายทวงยุติธรรม จี้รัฐตรวจสอบ-เยียวยา ‘อดิศร โพธิ์อ่าน’ หวังได้กระดูกพ่อมาทำบุญ เผย เยียวยาสักสลึงไม่เคยได้รับ

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ห้องเสวนาชั้น 6 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำเสนอผลรายงานจากการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ‘กรณีการบังคับสูญหายบุคคลที่พำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้าน 9 กรณี’ โดยมี น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นผู้นำเสนอ

เวลา 13.35 น. กสม.รายงานผลการตรวจสอบและส่งมอบรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีบังคับสูญหายบุคคลที่พำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้าน ให้แก่ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

ต่อมาเวลา 14.07 น. ญาติและครอบครัวของผู้สูญหายที่ได้รับผลกระทบ ได้ซักถามและต้องการข้อเสนอแนวทางการดำเนินงานของ กสม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร้องขอความยุติธรรม นำโดย น.ส.สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม ผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังการรัฐประหารปี 2557 ซึ่งหายตัวไปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ขณะลี้ภัยที่ประเทศกัมพูชา ซึ่ง น.ส.สิตานันได้สอบถามเกี่ยวกับกระบวนการทำงาน และความคืบหน้าในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED)

Advertisement

 

โดย น.ส.นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า การเข้าร่วมภาคีอนุสัญญาอุ้มหายฯ เป็นสิ่งเราทุกคนพยายามผลักดันกันมานาน ซึ่งประเทศไทยลงนามตั้งแต่ปี 2555 และเข้าเป็นภาคีเครือข่าย เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา และจะมีผลวันที่ 13 มิถุนายนนี้

Advertisement

ส่วนสิ่งที่จะช่วยทั้ง 9 ท่านได้ในตอนนี้ คือเรื่องของการเยียวยา ปัจจุบัน นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้จัดทำระเบียบว่าด้วยการเยียวยา และอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง เพื่อให้ญาติและครอบครัวได้รับการเยียวยาความเสียหายโดยเร็ว โดยอยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณา หากระเบียบนี้ได้รับการรับรองจากกระทรวงการคลัง ประการแรกที่จะได้รับคือ การเยียวยาเบื้องต้นทุกท่าน 500,000 บาทสำหรับกรณีทรมานอุ้มหาย หากเป็นกรณีกระทำที่โหดร้ายจะอยู่ที่ 100,000-250,000 บาท

“ส่วนประการที่ 2 เรื่องการติดตามคดี ตอนนี้ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มอบหมายให้อัยการและหน่วยงาน DSI ร่วมกันดำเนินการและแจ้งผลความคืบหน้า โดยในส่วนที่ทางกรม ที่สามารถทำได้ จะเป็นการเน้นในเรื่องของการเยียวยาที่สามารถทำได้เลย หลังจากที่กระทรวงการคลังอนุมัติ” น.ส.นรีลักษณ์กล่าว

 

ในตอนหนึ่ง นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการกองกิจการอำนวยความยุติธรรม DSI กล่าวถึงความคืบหน้าด้านการดำเนินคดีระหว่างประเทศว่า ทาง DSI ได้มีการดำเนินการในการพูดคุยส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกรณีบุคคลสูญหายก่อนหน้านี้ก็จะนำกลับมาทบทวน การประสานงานในการช่วยเหลือและติดตาม

ส่วนความเป็นไปได้ในการอ้างอิงตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้ จะประสานงานกลับไปยังประเทศที่ผู้สูญหายพำนัก โดยก่อนหน้านี้เราใช้ในรูปแบบของคณะกรรมการ ซึ่งตรงนี้ได้มอบหมายให้กับสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงานกลาง และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะมีการนัดหารือกันในเรื่องแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในปลายเดือนมิถุนายน

“ที่ติดขัดส่วนใหญ่คือ การประสานไปยังประเทศที่ผู้สูญหายพำนัก ส่วนใหญ่จะปฏิเสธการมีตัวตนของบุคคลที่สูญหายในประเทศไทย แต่กรณีของนายวันเฉลิม มีการดำเนินคดีไปถึงชั้นศาลเพียงคดีเดียว จาก 9 ท่าน ซึ่งก่อนหน้าที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ หน่วยงานใช้ช่องทางการทูตไปส่วนหนึ่ง และได้รับการตอบรับให้ข้ามไปพูดคุยกันไทยกัมพูชาอย่างไม่เป็นทางการ แต่ทางกัมพูชาอาจจะยังไม่พร้อม คดีจึงอยู่ในชั้นศาล รอการประสานงานอีกครั้ง ส่วนผู้สูญหายที่เหลือจะพยายามติดตามโดยใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฉบับใหม่อ้างอิง” นายอังศุเกติ์กล่าว

นอกจากนี้ ตัวแทนผู้สูญหายยังกล่าวถึงกรณีการกระทำความผิดที่เกิดในประเทศ ที่ยังรอหน่วยงาน กสม.จะช่วยเหลือ ทำการศึกษาและสอบสวนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ลูกสาวผู้สูญหาย (น้องบ๊ะ) กล่าวถึงกรณีที่พ่อของตน สูญหายไปเมื่อปี 2550 ว่า ยังไม่มีหน่วยงานรัฐไหนยื่นมือเข้ามาช่วยจากเหตุการณ์การสูญหายในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา

ด้าน น.ส.นารีลักษณ์กล่าวถึงกรณีนี้ว่า สามาถร้องเรียนได้ โดยทาง กสม. หรือกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจะตรวจสอบและประสานการคุ้มครองหารือและประสานงานกัน เพื่อการติดตามที่เป็นระบบมากขึ้น

ขณะที่ นายอดิศร โพธิ์อ่าน บุตรชายของนายทนง โพธิ์อ่าน นักต่อสู้เพื่อแรงงานซึ่งถูกอุ้มหายมา 33 ปี สอบถามถึงกรณีรัฐที่จะเข้ามาช่วยเหลือหรือเยียวยา

“ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐเลยสักสลึง ครอบครัวของผมต้องยืนหยัดและลุกขึ้นสู้ด้วยตัวเองอย่างเข้มแข็ง

“ผมคาดหวังคงมีสักวันที่ กสม.หรือหน่วยงานต่างๆ จะเอากระดูกของพ่อมาทำบุญได้ และผมอยากจะรู้ว่า กฎหมายใหม่นี้ เมื่อออกมานั้น จะแก้ไขการกระทำที่ผ่านมา 30 ปีได้ไหม และผมก็หวังว่าจะไม่มีใครใหญ่ไปว่าประชาชน” นายอดิศรกล่าวทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image