ส.ส.ก้าวไกล บี้กลต. แจงตั้ง ‘อัสสเดช’ นั่งเป็นผจก.ตลาดหลักทรัพย์ กระทบความเชื่อมั่น

‘ชัยวัฒน์’ ชี้ตลาดหุ้นไทยตกต่ำจากวิกฤตความเชื่อมั่น แนะ กลต. ชี้แจงสังคมกรณีตั้ง ‘อัสสเดช’ เป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงกรณีตลาดหุ้นไทยตกต่ำอย่างต่อเนื่องว่า ตลาดหุ้นไทยตกต่ำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐาเริ่มแถลงนโยบายต่อรัฐสภา พูดได้ว่าเป็นวิกฤตความเชื่อมั่นต่อทั้งตลาดเงินตลาดทุนและนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล มิหนำซ้ำยังถูกซ้ำเติมจากข่าวการแต่งตั้งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์คนใหม่ที่เป็นที่กังขาในความไม่เหมาะสม จนวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ดัชนีหุ้นไทยหลุดลงต่ำกว่า 1,300 จุดในรอบหลายปี

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีมติเลือก นายอัสสเดช คงสิริ เป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนใหม่ วันที่ 14 มิถุนายน 2567 โดยจะเริ่มดำรงตำแหน่งวันที่ 19 กันยายน 2567 แม้จะยังไม่มีผลในทันที แต่ได้สร้างความคลางแคลงใจให้กับสังคมนักลงทุนเป็นอย่างมาก ว่าเป็นบุคคลที่มีความไม่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งนี้หรือไม่ เนื่องจากอัสสเดชมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับกลุ่มบริษัทดีลอยท์ในประเทศไทย โดยดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับพาร์ทเนอร์บริษัทดีลอยท์ ที่ปรึกษา และเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทดีลอยท์โฮลดิ้ง 15.7% ในขณะที่บริษัทดีลอยท์สอบบัญชีซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเดียวกันนั้นกำลังมีคดีความในการเป็นบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีให้กับ STARK ซึ่งมีประเด็นฉ้อโกงเป็นคดีฟ้องร้องกันอยู่

Advertisement

นายชัยวัฒน์กล่าวต่อว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นนิติบุคคลที่แต่งตั้งโดยกฎหมายเฉพาะ เป็นองค์กรระดับประเทศ ยิ่งต้องเป็นตัวอย่างและเป็นเสาหลักของตลาดทุนในด้านธรรมาภิบาลและทำอะไรที่เป็น Best Practice มากกว่าหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งจากกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ออกโดย ตลท. หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) จะมีมาตรฐานเข้มที่ให้บริษัทจดทะเบียนต้องทำเรื่องหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือ Conflict of Interest (COI) ที่สูงมาก ดังนั้น สำหรับผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรใช้มาตรฐานที่เข้มกว่าหรืออย่างน้อยๆ ในระดับที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

“การปฏิเสธเรื่อง COI โดยอ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทโฮลดิ้งซึ่งถือหุ้นบริษัทสอบบัญชีอีกทอด และเป็นผู้บริหารระดับพาร์ทเนอร์ของบริษัทที่ปรึกษา ไม่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทสอบบัญชีโดยตรง ทั้งๆ ที่กลุ่มบริษัทนั้นก็อยู่ในออฟฟิศเดียวกัน ผู้บริหารก็เรียกได้ว่ารู้จักกันหมด เป็นคำชี้แจงที่ฟังไม่ขึ้น” นายชัยวัฒน์กล่าว

นายชัยวัฒน์กล่าวต่อว่า ส่วนที่ประธานคณะกรรมการ ตลท.ชี้แจงว่า อัสสเดชเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทโฮลดิ้งและเป็นผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาหลังจากเกิดเรื่อง STARK แล้ว ซึ่ง ณ ขณะนั้นบริษัท PwC (ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์) ได้เข้ามาเป็นผู้สอบบัญชีแล้ว ยิ่งไม่ใช่ประเด็น เพราะหลักฐานต่างๆ ในคดีที่กำลังอยู่ระหว่างการฟ้องร้องนั้น ย่อมมีความเกี่ยวข้องกับบริษัทดีลอยท์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ในด้านการสืบสวนข้อเท็จจริงและหากมีการปรับหรือบทลงโทษใดๆ ก็จะกระทบกับบริษัทในปัจจุบันด้วย ซึ่งตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจให้ความร่วมมือหรือไม่ร่วมมือในการสืบหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำผิดได้ ไม่เกี่ยวกับว่าอัสสเดชจะมีส่วนเกี่ยวข้องในปมปัญหากรณี STARK หรือไม่ ตามที่ได้มีการออกมาชี้แจงผิดประเด็น ยิ่งไปกว่านั้น ที่มีความพยายามชี้แจงว่าหลังได้รับคัดเลือกเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งในบริษัทดีลอยท์ที่ปรึกษา และในขั้นต่อไปจะโอนหุ้นคืนไปยังหุ้นส่วนคนอื่น เพื่อต้องการจะบอกว่าไม่มี COI แล้วเนื่องจากหมดความเกี่ยวข้องกับบริษัทดีลอยท์ ก็ยิ่งน่าตั้งคำถามว่าคณะกรรมการที่คัดเลือกอัสสเดชมานั้น ใช้มาตรฐานต่ำเกินไปหรือไม่

Advertisement

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ขอฝากไปถึงผู้กำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ กลต. ว่าแค่ลองหยิบประกาศ กลต. เรื่อง การให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงินและขอบเขตการดำเนินงาน พ.ศ.2552 (ฉบับที่…) มาดู ก็จะพบว่าความสัมพันธ์แบบนี้ อย่าว่าแต่จะมาเป็นผู้นำอันดับหนึ่งขององค์กรระดับประเทศอย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเลย แม้แต่ทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางการเงิน ยังห้ามเลยด้วยซ้ำ ดังนั้น กลต. ในฐานะผู้กำกับดูแลต้องออกมาชี้แจงต่อสังคมด้วย อย่าให้ความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทยที่แทบจะเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้าย ขาดจนกู่ไม่กลับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image