สถานีคิดเลขที่12 : มุมดีๆจากการประชุมงบประมาณ

สถานีคิดเลขที่12 : มุมดีๆจากการประชุมงบประมาณ

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2568 ในวาระแรก นั้นมีเรื่องดีๆ แง่มุมดีๆ ให้กล่าวถึงอยู่ไม่น้อย

เริ่มต้นด้วยพรรคการเมืองใหญ่สุดอย่าง “ก้าวไกล” ที่ยังคงทำงานด้านนิติบัญญัติ-การตรวจสอบถ่วงดุลได้ดีตามมาตรฐาน ซึ่งเซตเอาไว้ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา

การอภิปรายงบ ในรอบนี้ของก้าวไกล แทบไม่มีลูกบู๊ดุเดือดรุนแรงแบบถึงลูกถึงคน ทั้งยังไม่ได้มุ่งคัดค้าน-มุ่งตัดงบลูกเดียว หรือคาดหมายถึงการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งบประมาณ เป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญ

ทว่า ส.ส.หนุ่มสาวจำนวนมากของพรรคการเมืองนี้ พยายามนำเสนอไอเดียของการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินที่เหมาะสม ในลักษณะของการให้คำแนะนำว่า ส่วนงานไหนควรปรับลด ส่วนงานไหนควรเพิ่มงบให้สูงขึ้น

Advertisement

หลายกรณี ดูเหมือน ส.ส.ก้าวไกล จะพูดแทนใจข้าราชการ, เจ้ากระทรวง หรือ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่มีผู้นำพรรคเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงนั้นๆ ด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ การปรากฏชื่อของ วีระ ธีระภัทรานนท์ หรือ “วีระ ธีรภัทร” นักวิเคราะห์ข่าวสายเศรษฐกิจรุ่นอาวุโส ที่เข้ามาเป็น กมธ.งบประมาณในสัดส่วนของพรรคก้าวไกลก็มีนัยยะน่าสนใจ ว่าเครือข่ายนอกสภาของก้าวไกลนั้นสามารถขยับขยายแนวร่วมออกไปได้เรื่อยๆ

ไปถึงผู้ใหญ่นอกพรรค ที่อาจมิได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองสอดคล้องต้องตรงกับพรรคในระดับ 100 เปอร์เซ็นต์เป๊ะ

Advertisement

นี่อาจแสดงถึงศักยภาพในการเป็นรัฐบาลของ “คนหลายฝ่าย/ทุกฝ่าย” ในอนาคตได้เหมือนกัน

ขณะเดียวกัน ต้องบอกว่าการทำงานในสภาของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นชัดเจน

พิจารณาจากการให้พื้นที่และเวลาในการพูดแก่นักการเมืองรุ่นใหม่ๆ, การจัดแบ่งหัวข้อหมวดหมู่ให้ผู้อภิปรายแต่ละรายรับผิดชอบงานเป็นรายกระทรวงหรือรายประเด็นอย่างชัดเจน รวมถึงการมีแนวทางจัดทำ “พรีเซนเทชั่น” อย่างเป็นระบบระเบียบอันหนึ่งอันเดียวกัน

ความท้าทายนับจากนี้อยู่แค่ว่าจะทำอย่างไร การจัดเตรียมข้อมูลและการวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้นจากทีมงานเบื้องหลัง (ทิงค์แทงค์) จึงจะผสมกลมกลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกับการอภิปรายของบรรดา ส.ส. อย่างราบรื่นไร้รอยต่อ

นี่ไม่ใช่งานง่ายเสียทีเดียว เพราะเหมือนเป็นการจับเอา “องค์ประกอบสองส่วน” ที่ไม่เคยข้องเกี่ยวกันเลยมาหลอมรวมกัน โดยส่วนแรกเป็นองค์ประกอบแปลกใหม่สำหรับพรรคเพื่อไทย ขณะที่ส่วนหลังสืบรากเหง้ายาวนานมาจากวัฒนธรรมทางการเมืองอีกแบบ

ไม่เหมือนกรณีก้าวไกล ที่เริ่มทำงานสองส่วนนี้มาพร้อมๆ กัน ตั้งแต่กระบวนการก่อตั้งพรรค

จะเห็นได้ว่าหากปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามวิถีทางปกติ ให้พรรคการเมืองต่างๆ ได้มีพัฒนาการ เรียนรู้ถูกผิดไปเรื่อยๆ (เช่นเดียวกับประชาชน)

เราก็ยังพอจะมองเห็นความหวัง-อนาคตของประเทศ ซึ่งมิได้มืดมน-ปรักพังอย่างสิ้นเชิง ดังที่หลายคนรู้สึก

แต่ถ้ามีการทุบทำลายพรรคการเมืองบางพรรคลงด้วยอำนาจอันไม่ชอบธรรม ถ้าการเมืองไทยยังเต็มไปด้วย “ดีลลับ” มากมาย ที่คอยชี้ขาดชะตากรรมของประเทศอยู่นอกสภา นอกทำเนียบ

ประเทศชาติก็คงกำลังมุ่งหน้าไปสู่ภาวะอันแล้งไร้ความหวังกันจริงๆ

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image