กัณวีร์ เผย UNHCR พร้อมผลักดัน กม.ผู้ลี้ภัย ผู้รายงานพิเศษ UN จับตาคดียุบก้าวไกล

‘กัณวีร์’ เผย กมธ.กฎหมายฯ เข้าพบผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ UNHCR พร้อมผลักดันกฎหมายผู้ลี้ภัย ขณะที่ผู้รายงานพิเศษด้านคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ UN ห่วงคดียุบพรรคก้าวไกลและคดีการเมือง แนะไทยให้ความสำคัญ พร้อมหนุนเป็นสมาขิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน นายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เปิดเผยถึงการเข้าพบผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ณ นครเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ว่าคณะกรรมาธิการการกฎหมาย นำโดย นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ประธานคณะกรรมาธิการ ได้เข้าพบ Ms.Ruvendrini Menikdiwela (รูเวนดินี เมนิคดิเวลา) Assistant High Commissioner for Protection, Office of the United Nations High Commissioner for Refugees (UNHCR) ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ด้านความคุ้มครอง ซึ่งเคยเป็นผู้แทนข้าหลวงใหญ่ประจำประเทศไทย และทำงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในไทย จึงมีการพูดคุยหารือร่วมกัน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน ทั้งในเรื่องของผู้ลี้ภัยการสู้รบที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ในค่ายผู้อพยพทั้ง 9 แห่งในพื้นที่พักพิง และผู้ลี้ภัยที่เข้ามาใหม่จากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมาที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับชาวอุยกูร์ โรฮีนจาและผู้ลี้ภัยในเมือง

“คณะกรรมาธิการได้หารือถึงการแก้ไขกฎหมายและการนำข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากผ่านมติในที่ประชุมก็จะสามารถนำไปเสนอแก่คณะรัฐมนตรีได้ในลำดับต่อไป เกี่ยวกับด้านการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัย และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้สัญชาติ โดยเฉพาะบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ รวมถึงการทำงานร่วมกันกับ UNHCR ต่อไปในอนาคต” นายกัณวีร์ระบุ

Advertisement

นายกัณวีร์เปิดเผยว่า ในการประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา สำหรับผู้ลี้ภัยจำนวนประมาณ 91,000 คน ที่อยู่ในพื้นที่พักพิงบริเวณชายแดนไทย โดย กมธ.ได้นำเสนอการแก้ไขปัญหา ทั้งในส่วนของการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้พวกเขาสามารถอยู่ในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถทำงานและเสียภาษีได้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงสามารถทดแทนแรงงานที่ขาดหายไปในประเทศไทย และสามารถเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานของไทยได้ ส่วนเรื่องผู้ลี้ภัยที่เข้ามาใหม่จำเป็นต้องมีการดูแลที่ดี และมีการเตรียมตัวที่ดี เพื่อไม่ให้ผลกระทบตกมาแก่ประเทศไทย ดังนั้น ประเทศไทยต้องมีการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน และสร้างสันติภาพให้เกิดในประเทศเมียนมาให้ได้

ในส่วนการหารือเกี่ยวกับการกดปราบข้ามชาติ หรือ Transnational Repression จากการที่มีผู้ลี้ภัยหนีการประหัตประหารมาแล้ว และมีความร่วมมือจากประเทศต้นกำเนิดและประเทศปลายทางในการส่งกลับผู้ลี้ภัยต่างๆ อย่างกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับชาวเวียดนาม โดยผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ UNHCR ยืนยันในหลักการไม่ส่งกลับ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และต้องมีการดูแลผู้ลี้ภัยในประเทศต่างๆ เป็นอย่างดี เนื่องจากในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงเป็นพื้นที่ที่มีคดีเกี่ยวกับกดปราบข้ามชาติ ซึ่ง UNHCR ได้มีข้อเสนอ และให้คำมั่นกับรัฐบาลไทยว่าพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือดูแลในเรื่องที่เกี่ยวกับการกดปราบข้ามชาติ รวมถึงการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม การส่งกลับในกรณีที่สถานการณ์เอื้ออำนวย และการผสมผสานกลมกลืนกับประเทศที่ขอลี้ภัย (Local Integration) ที่ขอให้ทางการไทยช่วยพิจารณาเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างกลาง

ดังนั้น หากประเทศไทยมีการพิจารณาในเรื่องการผสมผสานกลมกลืนกับประเทศที่ขอลี้ภัย โดยให้อาศัยอยู่ชั่วคราวก่อนที่จะสามารถหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างอื่นได้ เช่น กรณีของผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่ถูกขังลืมเป็นเวลามากกว่า 10 ปี ให้สามารถออกมาจากห้องกักขังได้ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนทั่วไป เพื่อรอจนกว่าจะสามารถขอตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามได้ เพื่อทำให้เป็นการกอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับคืนมาได้ และทำให้ประเทศไทยสามารถยกมาตรฐานประเทศโดยใช้มาตรฐานสากลในการแก้ไขปัญหา

Advertisement

นายกัณวีร์กล่าวอีกว่า กมธ.ได้เข้าพบหารือกับ Ms.Irene Khan (ไอรีน ข่าน) ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งอดีตเคยทำงานใน UNHCR และเป็นต้นแบบการทำงานของตนเอง ในส่วนการให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศที่ Department of International Protection ของ UNHCR ปัจจุบันรับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาพิเศษให้กับเลขาธิการสหประชาชาติ ด้านเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก

นายกัณวีร์กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยในเรื่องของการเมืองไทยที่ควรให้นักการเมืองทุกคนมีสิทธิในด้านเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก และจำเป็นที่จะต้องได้รับสิทธิคุ้มครองในการพูดแทนประชาชน ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้กลไกการทำงานสามารถทำได้อย่างตรงไปตรงมาและมีเสรีภาพทางด้านความคิดและการแสดงออก เช่น กรณีการยุบพรรคก้าวไกล ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติได้แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ด้วย

“ไม่ต้องกังวลหากนักการเมืองท่านใดพูดอะไรออกไป เพราะคนที่ตัดสินใจที่ดีที่สุดคือพี่น้องประชาชนหากเราไม่สามารถทำงานได้ พี่น้องประชาชนก็จะไม่เลือกเรากลับเข้าไปทำงานในสภาอีกเช่นเคย ดังนั้น กลไกต่างๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีความโปร่งใส และจำเป็นต้องทำให้การเมืองนี้เป็นของพี่น้องประชาชนจริงๆ” นายกัณวีร์กล่าว

Irene Khan กล่าว และเห็นว่า ไทยต้องเปิดกว้างและยอมรับ (Tolerance) ด้านการเมืองให้มากขึ้น พร้อมเปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนวงกว้างพูดคุยหารือได้ในทุกประเด็นตราบที่ไม่กระทบในวงกว้าง และหน้าที่นักการเมืองที่ต้องได้รับความคุ้มครองในการพูด เนื่องจากเราเป็นตัวแทนประชาชนและพูดเรื่องที่ประชาชนร้องขอ ต้องกระทำได้โดยไม่ถูกรังแก เพราะคนที่ตัดสินเราคือประชาชน ซึ่งในคณะกรรมาธิการมี ส.ส.พรรคก้าวไกล เช่น น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิธินันท์ และ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องนี้ด้วย

นายกัณวีร์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กมธ.ได้เข้าพบ Mr.Francesco Motta (ฟรานเซสโก มอตตา) หัวหน้าส่วนเอเชีย-แปซิฟิก ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ OHCHR ได้มีการสอบถามถึงการที่ประเทศไทยจะเข้าไปเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้อย่างไร โดยผู้แทนของสหประชาชาติได้เผยว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในปัจจุบันของไทยให้เดินหน้าและทำงานตรงนี้ให้ดีต่อไป ซึ่ง OHCHR พร้อมจะให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ และพัฒนาในด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย

“ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้โอกาสตรงนี้แสดงบทบาทต่างๆ ในการเป็นผู้นำให้ได้ และสนับสนุนให้กับเอเชียแปซิฟิกเพื่อให้สามารถได้ไปให้สัตยาบันในกรอบอนุสัญญาดังกล่าว และกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งหากประเทศไทยสามารถทำได้ จะทำให้พื้นที่เวทีระหว่างประเทศเป็นของประเทศไทย และสามารถสร้างตนเองให้มีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศได้” นายกัณวีร์กล่าว

นอกจากนี้ กมธ.ได้เดินทางไปสมาคมเพื่อการป้องกันการทรมาน Association for the Prevention of Torture-APT ซึ่งทำงานด้ายกระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชน หารือถึงการศึกษาความเป็นไปได้ของประเทศไทยในการเป็นผู้นำในการให้สัตยาบัน เกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Optional Protocol to CAT)

นายกัณวีร์กล่าวเพิ่มเติมว่า กมธ.ได้มีข้อห่วงใยถึงกฎหมายการอุ้มหายของประเทศไทยว่าอยากให้มีการพิจารณาในการให้สัตยาบัน เพื่อที่จะทำให้การดูแลและคุ้มครอง มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากกระบวนการในการสืบสวนสอบสวน และการทำงานของประเทศไทยในปัจจุบันได้มีข้อครหาจากหลายฝ่ายที่มาจากการสืบสวนสอบสวน สัมภาษณ์ทางผู้ต้องหา หรือผู้ที่ยังไม่มีความผิดว่าได้มีการบันทึกไว้หรือไม่ หรือมีการใช้กำลังบังคับประทุษร้ายหรือไม่ ซึ่งการทำ (Optional Protocol to CAT) จะทำให้เรามีการสร้างองค์กรอิสระที่จะมาดูแลกระบวนการที่อยู่ในช่วงระหว่างการสืบสวนสอบสวน การสัมภาษณ์ และการพิจารณาความต่างๆ ของตำรวจ โดยองค์กร APT ได้มีการทำงานร่วมกันกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โรงเรียนนายร้อยตำรวจของไทย เป็นต้น เพื่อให้การทำงานและการปฎิบัติตัวต่อผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิด เป็นไปอย่างถูกต้องและคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ที่เป็นไปตามสิทธิขั้นพื้นฐานสากล โดยให้เกียรติแก่ทุกคน

กมธ. นำโดย นายกมลศักดิ์ ได้มีความห่วงใยและต้องการเสนอแนะแก่รัฐบาลไทย เกี่ยวกับกรณีการสืบสวนสอบสวนที่มีการบังคับให้มีการยอมรับในความผิด ซึ่งหากเรามีการให้สัตยาบัน (Optional Protocol to CAT) จะทำให้มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาทำงานคู่ขนานกับองค์กรคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ของไทย เพื่อให้กระบวนการทำงานของรัฐบาลไทยและกระบวนการยุติธรรมมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น และทำให้ประเทศไทยถูกลดข้อครหาจากเวทีระหว่างประเทศในเรื่องกระบวนการพิจารณาอย่างโปร่งใส

นายกัณวีร์กล่าวเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งองค์กรนี้ว่า คงต้องรอให้มีการให้สัตยาบัน (Optional Protocol to CAT) เกิดขึ้นก่อน หลังจากนั้นจะมีหน่วยงานเข้ามาทำงานร่วมกันกับทุกรัฐบาลที่เป็นภาคีร่วมกัน ที่เป็นไปตามหลักการสากล ซึ่งเป็นสิ่งที่ กมธ.ได้เห็นถึงความสำคัญ หากประเทศไทยสามารถมีทั้งกระบวนการยุติธรรมและวิธีการพิจารณาตามหลักสิทธิมนุษยชน จะทำให้การทำงานของประเทศไทยสามารถยกระดับขึ้นมาทัดเทียมกับนานาประเทศและทำงานในเวทีสากลได้ โดยคณะกรรมาธิการฯ จะทำการเสนอให้แก่รัฐบาลไทยหลังจากกลับไป เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าว

นายกัณวีร์ว่า ในส่วนของสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการพูดคุยร่วมกันกับหน่วยงานขององค์กรสหประชาชาติ (UN) ว่าจะทำอย่างไรให้มีการยึดตามหลักสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น และมีการใช้หลักสิทธิมนุษยธรรมในการทำงาน ซึ่งถือว่าในปัจจุบันยังอยู่ในสถานการณ์ที่มีความน่าเป็นห่วง และต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image