สถานีคิดเลขที่ 12 : การเมืองไทยแบบสามเส้า ณ ปี 2567

การเมืองไทยแบบสามเส้า ณ ปี 2567

นับแต่หลังการเลือกตั้ง 2566 นักวิเคราะห์การเมืองหลายคนพยายามอธิบายแจกแจงว่ากลุ่มอำนาจทางการเมืองไทยกำลังแบ่งแยกออกเป็น “สามเส้า” หรือ “สามก๊ก”

สองกลุ่มแรกปรากฏชัดเจนในระบบการเมืองปกติ คือ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ที่ก่อนหน้าการเลือกตั้ง เคยถูกมองว่าอยู่ในกลุ่ม/ขั้วเดียวกัน

ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งยังปรากฏตัวแสดงหลักในระบบไม่เด่นชัดนัก ภายหลังการ “ล้างมือในอ่างทองคำ” ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อดีตนายกรัฐมนตรี

Advertisement

อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านพ้นไปได้ราวๆ หนึ่งปี มีหมุดหมายสำคัญทางการเมืองอีกหลายเรื่องเกิดขึ้นตามมา ภาพลักษณ์
ของกลุ่มการเมืองลำดับสุดท้ายในสังคมการเมืองไทยแบบ “สามเส้า” ก็ดูจะปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ

ชัยชนะในสนามเลือก ส.ว. ที่ถล่มทลายเกินความคาดหมายของใครหลายคน ของเครือข่ายผู้สมัครที่ถูกสื่อนิยามว่าเป็น “กลุ่มสีน้ำเงิน” เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา

การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างเข้มแข็งโดยพร้อมเพียงกันของ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ในระหว่างการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2568 วาระแรก ที่เพิ่งเสร็จสิ้นลงไป

Advertisement

ตลอดจนเกียรติยศ-สถานภาพล่าสุดของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

บ่งบอกว่าเครือข่ายกลุ่มก้อนทางการเมืองของ “อนุทิน-ภูมิใจไทย-ศูนย์กลางอำนาจที่บุรีรัมย์” อาจมิได้เป็นแค่ “ตัวแปร” ทางการเมืองไทยอีกต่อไป แต่กำลังจะพุ่งผงาดขึ้นมาเป็นหนึ่งใน “ตัวแสดงหลัก” แทนที่พรรคประชาธิปัตย์ในทศวรรษ 2550 และ “พรรคทหาร” หลังรัฐประหาร 2557

“การเมืองไทยแบบสามเส้า” จึงเริ่มแสดงตนออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ ณ ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ.2567

โดยมีพรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่ยังน่าจะได้รับคะแนนนิยมสูงสุดในสนามเลือกตั้งระดับชาติ (แต่ไม่รวม
เลือกตั้งท้องถิ่น ตลอดจนสงครามจัดตั้งอย่างการเลือก ส.ว.) ดังที่ปรากฏผ่านการสำรวจความคิดเห็นประชาชนของนิด้าโพลครั้งล่าสุด

มีพรรคเพื่อไทยที่ได้รับโอกาสให้เข้าไปบริหารจัดการประเทศหรือ “ทดลองงาน” ในฐานะรัฐบาล แต่ที่หลายฝ่ายกำลังลุ้นกัน ก็คือ เมื่อไหร่รัฐบาลชุดนี้จึงจะปล่อย “ผลงานใหญ่ๆ” ระดับเปลี่ยนแปลงประเทศ ออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่การรับรู้ของประชาชน

แล้วก็มีพรรคภูมิใจไทย และ “ส.ว.สีน้ำเงิน” ในสภาสูง (ที่อาจ “พูดอย่างเป็นทางการ” ได้ไม่สนิทปากนักว่าคือกลุ่มก้อนเดียวกัน แต่ก็ยากที่จะ “ตัดขาด” ตัวละครทางการเมืองสองคณะนี้ออกจากกัน ราวกับว่าไม่มีส่วนข้องเกี่ยวกันเลย) ซึ่งน่าจะขยับเคลื่อนเข้ามาแทนที่ “กลุ่มอำนาจ 3 ป.” และ “250 ส.ว.”

ในฐานะเครือข่ายอำนาจที่ยังมีศักยภาพสูงในสนามเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ทั้งยังมีประสิทธิภาพในการประสานตัวเองเข้ากับระบบราชการ กองทัพ และกลุ่มมวลชนต่างๆ ของภาครัฐ

ที่สำคัญคือมีสรรพกำลังถึงพร้อมทั้งในรัฐบาล สภาล่าง และสภาสูง

นี่คือแนวโน้มความชัดเจนที่คงหลีกเลี่ยงไม่พ้น และอาจช่วยให้พวกเราเข้าใจความขัดแย้ง ตลอดจนดุลอำนาจของ “การเมืองไทย” ในอีก 2-3 ปีหลังจากนี้ ได้ดียิ่งขึ้น

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image