จับตาเศรษฐา 1/1 เร่งปั๊มผลงาน กระทบพรรคร่วม

รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เดินหน้าปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐา 1/1 ไปเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา แต่มีแรงกระเพื่อมที่ตามมาแบบทันควัน นั่นคือ การลาออกของ “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แม้นายกฯและแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) จะเดินหน้าปิดเกมเร็ว ด้วยการเสนอชื่อ “ทูตปู” มาริษ เสงี่ยมพงษ์ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทน

แต่คล้อยหลังมาในวันที่ 8 พฤษภาคม “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” รัฐมนตรีในโควต้าของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ยื่นลาออกจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ด้วยเหตุผลหลัก หลัง “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แบ่งงานให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในโควต้าของพรรคเพื่อไทย (พท.) 2 คน ได้กำกับดูแลกรมหลักๆ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจระดับท็อปของกระทรวง

ขณะที่ “กฤษฎา” ได้กำกับดูแล สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กับรัฐวิสาหกิจระดับรองลงมา จึงเป็นเหตุที่เจ้าตัวให้เหตุผลผ่านจดหมายลาออกว่า ถูกลดบทบาท และไม่ให้เกียรติกันในการทำงาน

ซึ่งการบ้านย่อมตกไปที่แกนนำพรรค รทสช.ในการไปคัดสรรบุคคลเข้ามาทำหน้าที่รัฐมนตรีช่วย เพื่อรักษาโควต้าของพรรค รทสช. ที่ว่างอยู่ 1 เก้าอี้ หากยังคงยึดตามโควต้าเดิม คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

Advertisement

ย่อมจะได้มากำกับดูแลหน่วยงาน ตามที่ “พิชัย” ได้แบ่งไว้ตั้งแต่ต้น เนื่องด้วยพรรค พท.มีความประสงค์ในการบริหารจัดการกระทรวงการคลังเพียงพรรคเดียว เพื่อความเป็นเอกภาพในการขับเคลื่อนนโยบายเรือธงด้านเศรษฐกิจของพรรค พท.

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเมื่อที่ประชุม ครม.มีมติไม่อนุมัติงบกลางให้กับกระทรวงพลังงาน ที่ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค รทสช. กำกับดูแลอยู่ ขอ ครม.ไปกว่า 6.5 พันล้านบาท เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลและก๊าชแอลพีจีต่อไป เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เริ่มอุ้มราคาน้ำมันดีเซลและแอลพีจีต่อไปไม่ไหว เพราะหนี้ของกองทุนน้ำมันติดลบไปถึง 109,186 ล้านบาทแล้ว แต่เมื่อนายกฯยืนกรานให้ใช้การบริหารผ่านกองทุนน้ำมันต่อ จึงเป็นแรงกดดันต่อ “พีระพันธุ์” ให้กลับไปแก้โจทย์ร้อนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นนับจากนี้

รวมทั้งกรณีการเปิดเกมรุกด้วยจุดยืนทางด้านนโยบายการเงินของนายกฯ และแกนนำพรรค พท.ที่เห็นไม่ตรงกันกับ “ผู้ว่านก” เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในประเด็นที่แกนนำรัฐบาลต้องการให้ ธปท.และซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายด้านการคลังของรัฐบาล ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับประชาชน

Advertisement

แม้ภายหลังการปรับ ครม. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ อย่าง “พิชัย ชุณหวชิร” จะปรับท่าทีจากการกดดันผู้ว่าการ ธปท. ด้วยการเชิญผู้ว่าการ ธปท.มาพูดคุยที่กระทรวงการคลัง ด้วยท่าทีและจุดยืน ในการประสานการทำงานร่วมกัน โดยมีข้อสรุปเบื้องต้นที่ว่า 1.การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นเรื่องที่ ธปท.และ กนง.เป็นผู้กำหนดโดยใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ เพื่อดำเนินนโยบายตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตกลงกันไว้ 1-3% ส่วนปีนี้จะปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อหรือไม่นั้น ต้องคุยกันอีกครั้งเพื่อหาข้อยุติ

2.การเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเห็นตรงกันเมื่อปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ตามที่ตกลงกันก็นำไปสู่การพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปัจจุบันปัญหาของประชาชนและภาคธุรกิจ ที่รัฐบาลมีความเป็นห่วง คือการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่กว่า อีกทั้งเมื่อคุยกันแล้ว ต้องพร้อมใจที่จะแก้ไขปัญหา เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม หลังจากการหารือแล้วนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังจะต้องสอดประสานกันมากที่สุด

ไม่เพียงแค่พรรค รทสช. แต่รัฐบาลยังเปิดเกมรุกที่ดูเหมือนจะส่งผลกระทบไปถึงพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่มี “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นั่งเป็นหัวหน้าพรรค การที่นายกฯสั่งการในที่ประชุมแก้ปัญหายาเสพติด เมื่อ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา มอบหมายกระทรวงสาธารณสุข ไปดำเนินการแก้กฎกระทรวงเพื่อนำกัญชาคืนสู่บัญชียาเสพติด ประเภท 5 นั้น อาจส่งผลกระทบถึงพรรคร่วม

อย่าลืมว่านโยบายกัญชาของพรรค ภท. ตามสโลแกน “พูดแล้วทำ” ที่ปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด มาเป็นพืชเศรษฐกิจ นั้นเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้ว การดึงกลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง ย่อมต้องเผชิญกับแรงกระเพื่อมทางการเมืองจากพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรค ภท.

นอกจากนี้ยังมีเสียงคัดค้านจากกลุ่มธุรกิจ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ลงทุนในธุรกิจกัญชามีมูลค่านับหมื่นล้านบาทแล้ว โดยเฉพาะการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดึงกัญชากลับมาเป็นยาเสพติด

ขณะที่รัฐบาลนำโดยพรรค พท. ได้แต้มต่อและคะแนนนิยมทางการเมืองเพิ่มขึ้น ในการเดินหน้าแก้ปัญหายาเสพติด แต่ก็ต้องเตรียมรับแรงกระแทกจากพรรคร่วมด้วยเช่นกัน

จากท่าทีของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรค ภท. ที่ออกมาระบุท่าที ต่อกรณีการดึงกัญชากลับเป็นยาเสพติดว่า ต้องดูว่าตอนนี้ไปถึงไหนแล้วหลังจากปลดล็อกออกจากยาเสพติด ถ้าถอยกลับไปจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร อย่างผู้ประกอบการกัญชา กัญชงที่ลงทุนไปแล้ว จะเยียวยาเขาไหวหรือไม่ เพราะคาดการณ์จากจำนวนเม็ดเงินที่ลงทุนไปก็นับหมื่นล้านบาท ยังไม่รวมร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกัญชา ต้องไปดูส่วนนั้นด้วย

“อย่าไปบอกว่าผมหงอ ผมแหยง ผมยอม ไม่เกี่ยวกับเรื่องยอมไม่ยอม แต่เกี่ยวกับประโยชน์ของพี่น้องประชาชน เป็นนักการเมืองเรื่องส่วนตัวต้องไม่เป็นปัจจัยในการพิจารณากำหนดนโยบาย แล้วใครบอกว่าเที่ยวนี้ผมยอม เคยเห็นผมยิ้มๆ แบบนี้ ผมยอมหรือเปล่า จุดยืนพรรคภูมิใจไทยต่อนโยบายกัญชา ยืนยันว่าขอให้เป็นไปตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา ไปอ่านดูว่าหน้าไหน วรรคไหน เขียนไว้ชัดเจน ทั้งนี้ อะไรก็ตามที่เป็นนโยบายรัฐบาล ก็ต้องปฏิบัติตาม ถ้าไม่ปฏิบัติก็ต้องไปชี้แจงให้ได้” อนุทินระบุ

นี่อาจเป็นสัญญาณที่บอกกล่าวก่อนจะมีการดำเนินการเกี่ยวกับกัญชาตามคำบัญชาของนายกฯ

สำหรับรัฐบาลเศรษฐา 1/1 นอกจากจะต้องบริหารความสามัคคีภายในรัฐบาลผสมแล้ว ยังต้องเฝ้าระวังกลุ่มอำนาจเก่าที่ยังจับจ้อง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุด 250 คน ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อมี 40 ส.ว. ร่วมลงชื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน และตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯของนายพิชิต ชื่นบาน หลังมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นที่ว่าด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือไม่ โดยคำร้องดังกล่าวส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นร้อนทำให้รัฐบาลเศรษฐาสะดุดล้มหรือไม่

จากนี้ทุกมรสุมทั้งการรุกกินแดนทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล การเดินหน้าตรวจสอบจากกลุ่มอำนาจเก่า จะเป็นอีกหนึ่งความท้าทายบารมีและฝีมือการบริหารจัดการของผู้นำรัฐบาล ต่อการนำพารัฐนาวา เศรษฐา 1/1 ให้เดินหน้าบริหารงานจนครบวาระ โดยมีเป้าหมาย คือ การชนะเลือกตั้งครั้งหน้าได้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image