ไอลอว์ กางตัวเลข ส.ว.ท็อป 8 จังหวัด เทียบ ส.ส.ภูมิใจไทย แกะรอยฉลุยเลือกไขว้ ‘เยอะผิดปกติ’

ไอลอว์ กางตัวเลข ส.ว.ท็อป 8 จังหวัด เทียบ ส.ส.ภูมิใจไทย แกะรอยพื้นที่ฉลุยเลือกไขว้ ‘เยอะผิดปกติ’

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ ห้อง 322 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ iLaw และ We Watch จัดเสวนา “สว.67 ทางข้างหน้า จากสิ่งที่เห็น” เพื่อสรุปบทเรียนและข้อสังเกตจากการเลือกการส.ว.ระดับประเทศที่ผ่านมา  รวมถึงร่วมมองอนาคตการเมืองไทยหลังเห็นรายชื่อว่าที่ส.ว.

เวลา 09.05 น. เริ่มเสวนาวงแชร์ประสบการณ์ ‘เห็นกันตำตากับบทเรียนในระดับประเทศ’ นำโดย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์, นายรัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ตัวแทนไอลอว์, นางนุชนารถ แท่นทอง ส.ว.รายชื่อสำรองกลุ่ม 17 ประชาสังคม และนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย ว่าที่สว.กลุ่ม 18 สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม

ในตอนหนึ่งนายยิ่งชีพกล่าวว่า เราแกะรอยเท่าที่เวลามีจาก 8 จังหวัด เราเรียกว่า ‘ท็อป8’ คือ จังหวัดที่มีผู้เข้ารอบเลือกไขว้เยอะผิดปกติ ยังไม่นับว่าได้เป็นส.ว.หรือไม่ แต่สามารถผ่านการเลือกรอบแรกในระดับประเทศเยอะผิดปกติ

Advertisement

ด้าน นายรัชพงษ์ ตัวแทนไอลอว์ กล่าวว่า เราโฟกัสไปที่ 8 จังหวัดท็อป ธีมเราเรียกมันว่า ‘รวมกันเราอยู่ แยกหมู่กันเราได้เป็นส.ว.’ โดยท็อป 8 จังหวัดเรียงจากคนที่ผ่านเข้ารอบเลือกกันเองไปสู่รอบเลือกไขว้ได้เยอะที่สุด ซึ่ง 2 วันที่แล้ว เราติดตามการนับคะแนนอยู่ที่เมืองทองธานี แล้วก็รายงานออกมา

ภาพจาก ธีรภัทร ศุภพิทักษ์ไพบูลย์

จะเห็นว่า 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย มีผู้แทนผู้สมัครเข้าสู่รอบระดับประเทศจำนวน 40 คน แบ่งเป็น 2 คนในทุกกลุ่มอาชีพ 2 คูณ 20 ก็เป็น 40 ซึ่งจาก 40 คน เข้ามาสู่ระดับประเทศ 8 อันดับแรก มีความสำคัญอย่างไร ลองดูกันว่าอันดับ 1 เท่ากันเลย 3 จังหวัด คือ อยุธยา บุรีรัมย์ สตูล มีผู้ผ่านเข้ารอบ 38 คน หมายความว่า ต้องมีคนตกรอบแค่ 2 คน

ถัดมา อ่างทอง เลย 37 คนเท่ากัน มีคนตกรอบแค่ 3 คน ถัดมา อำนาจเจริญ 36 คน ยโสธร 34 คน และสุรินทร์ 28 คน ต่อมาอันดับ 9 มันหล่นลงมาเหลือ 19 คนเลย นี่คือข้อสังเกตแรกทำไมต้อง 8 จังหวัด เพราะแก๊บระหว่าง 8 กับ 9 มันสูงมาก ในขณะที่ 1 ถึง 8 มันเกาะอยู่ด้านบน” นายรัชพงษ์ระบุ

Advertisement

นายรัชพงษ์กล่าวว่า ข้อที่ 2 ทำให้สุรินทร์ต่างจากนครนายก คือ อัตราความสำเร็จที่ผ่านเข้ารอบไขว้ไปแล้วได้ผ่านเข้ารอบเป็นส.ว.จริงมันสูงกว่าที่อื่นมาก เช่น อยุธายา 38 คน ได้เป็นส.ว. 7 คน บุรีรัมย์ ได้เป็นส.ว. 14 คน สตูล 6 คน อ่างทอง 6 คน เลย 5 คน อำนาจเจริญ 5 คน ยโสธรอาจจะแค่ 2 คน และสุรินทร์ 7 คน

นายรัชพงษ์กล่าวต่อไปว่า ลองเทียบอัตราส่วนดูว่านครนายก 19 คน ได้เป็นแค่ 3 คน ตรัง 19 คน ได้เป็นแค่ 1 คน กรุงเทพอาจจะได้เป็นเยอะ แต่เข้ารอบน้อย คือ 14 คน ได้เป็น 9 และนครราชสีมาอันดับต่อมา เข้าไป 14 ได้เป็น 2 คน

8 จังหวัดนี้มีความแตกต่างมากกับจังหวัดที่เหลือ คือ ตั้งแต่ 1 มีคนผ่านเข้ารอบเยอะ และ 2 อัตราที่จะได้เป็นส.ว.ก็เยอะตามไปด้วย รวมกันแล้วผ่านเข้ารอบไขว้ 258 คน และได้เป็นส.วจริง คือ 52 คน พูดง่ายๆคือว่าถ้าคุณผ่านเข้ารอบไปแล้วมีอัตราส่วน 1 ใน 5 ที่จะได้เป็น ส.ว.เลย สูงมาก และสุดท้ายรวมกัน 8 จังหวัดนี้มีส.ว.รวมกัน 52 คน หรืออย่างน้อย 1 ใน 4 หรือประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของส.ว.ชุดใหม่ ก็เรียกได้ว่สาเป็นอัตราส่วนที่ค่อนข้างมาก และมากกว่าจังหวัดอื่นอย่างเห็นได้ชัด ส.ว.ชุดใหม่ก็จะประกอบด้วยคนจาก 8 จังหวัดนี้เยอะ ” นายรัชพงษ์เผย

นายรัชพงษ์กล่าวว่า มีคนหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาว่า หากลองเทียบกับส.ส.ภูมิใจไทยใน 8 จังหวัดนี้ ก็เห็นว่าพรรคภูมิใจไทยมีส.ส.ค่อนข้างเยอะ และมีอัตราส่วนที่เยอะมากในจังหวัดเหล่านี้ อยุธยามี 3 จาก 5 คน บุรีรัมย์เหมาเลย 10 คน สตูลทั้งจังหวัด 2 คน อ่างทองทั้งจังหวัด 2 คน เลยมี 1 คน อำนาจเจริญก็เหมาทั้งจังหวัด  ยโสธร 2 ใน 3 คน และสุรินทร์ก็ 5 ใน 8 คน เราเห็นถึงอัตราส่วนทั้งคนที่เข้ารอบ อัตราส่วนคนที่ชนะ และอัตราส่วนของส.ส.จากพรรคการเมือง

ด้าน นายยิ่งชีพ ผอ.ไอลอว์ กล่าวเสริมว่า สาเหตุที่เปรียบเทียบกับพรรคภูมิใจไทย เพราะว่า พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมืองเดียวที่มีส.ส.อยู่ใน 8 จังหวัดท็อปจำนวนส.ว.

นายรัชพงษ์กล่าวว่า เมื่อดูข้อมูลการลงคะแนนรอบเลือกกันเอง TOP 8 จังหวัดจะมีการเกาะกันเป็นกลุ่ม รูปร่างพล็อตกราฟอาจจะเหมือน ‘ลูกรักบี้’ คือ มันอ้วนตรงกลาง เกาะกลุ่มกันหมดเลย ไม่มีคะแนนโดด ทุกคนคะแนนใกล้กันหมด และเป็นคะแนนที่การันตีว่าจะผ่านเข้ารอบอย่างแน่นอน

ค่าเฉลี่ยของคนที่ผ่านรอบเลือกกันเอง จะอยู่ที่ประมาณ 21 คะแนน แต่คนที่อยู่ในท็อป 8 จังหวัด จะอยู่ที่ 24 คะแนน หมายความว่าเขาคิดมาแล้วว่ามันชัวร์แน่ 24 คะแนนเกาะกลุ่มกันไปมันขัวร์ว่าผ่านเข้ารอบแน่นอน ดังนั้น 69 จังหวัดที่เหลือมันจะมีความกระจายตัวมากกว่า” นายรัชพงษ์ชี้

นายรัชพงษ์กล่าวว่า จากข้อมูลการเลือกกันเองที่คะนนรวมกันเป็นก้อน พอมาถึงรอบเลือกไขว้ที่จะวัดว่าใครเป็นส.ว. มันแตกกระจาย เราเห็นว่า 8 จังหวัดมี 2 ก้อนใหญ่ คือ ก้อนที่ไม่ได้คะแนน มันก็ไม่ได้เลย ส่วนคนที่ได้คะแนนมันก็สูงเลย

คนที่ไม่ได้คะแนนพวกนี้ก็คือเข้ามาเพื่อมาโหวต สุดท้ายคนที่ได้ คือ ตัวจริง เราเห็นว่าใครเป็นคะแนนให้ ใครเป็นตัวจริง ส่วนคนที่อยู่ตรงกลาง ตั้งแต่ 10 คะแนนเป็นต้นไปจนถึง 40 ปลาย หายไปหมดเลย อยู่ดีๆมันก็แตกกระจายกันออกเป็น 2 ก้อน เรียกว่ามันแยกกันแล้วก็ได้เป็น ส.ว.” นายรัชพงษ์กล่าว

นายรัชพงษ์กล่าวว่า ส่วนอีก 69 จังหวัดที่เหลือ มันก็จะมี 2 ก้อนเหมือนกัน แต่มันจะมีลักษณะกระจายตัวมากกว่า กล่าวคือ ก้อนหนึ่งคือก้อนที่คะแนนพุ่งทะลุไปเละ อีกก้อนหนึ่ง คือ คะแนนน้อยแล้วยังพอหลุดรอดเข้ามา และรายชื่อสำรองด้วย แต่คะแนนท็อป 8 ไม่มีใครอยู่ในก้อนนั้นแล้วได้เป็นส.ว. หรือ แม้กระทั่งตัวสำรองก็มีแค่ 2 คน แสดงว่ากลุ่มคนที่มีคะแนนเป็นฐาน เข้ามาเพื่อโหวตให้ค่อนข้างชัด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image