ส่องปัญหา-ชี้ทางออก ได้ ส.ว.ไม่ตรงปก

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการต่อการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 200 คน เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย พร้อมกับมีข้อแนะนำในการหาทางออกสิ่งที่เกิดขึ้น

ธเนศวร์ เจริญเมือง
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภาพรวมการเลือก ส.ว. 200 คน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และขั้นตอนตามกฎหมายไม่มีอะไรสลับซับซ้อน แต่การเลือกดังกล่าว ให้ผู้สมัครเลือกกันเองทำให้ประชาชนไม่มีส่วนร่วม เดิมคาดมีผู้สมัครกว่า 200,000 คน แต่มีผู้สมัครเพียง 44,000 คน เนื่องจากระเบียบ กกต.ไม่ให้แนะนำตัว หาเสียงเหมือนเลือกตั้งทั่วไป ส่งผลให้มีผู้สมัครลดลงกว่า 5 เท่าสะท้อนถึงการไม่ยอมรับวิธีเลือกดังกล่าว เพราะเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งกลุ่ม 20 อาชีพนำไปสู่การฮั้ว และล็อบบี้เลือกดังกล่าวได้ง่าย เพราะไม่ให้พรรคการเมืองมีส่วนร่วมอย่างใด ทำให้การแข่งขันอยู่ในวงจำกัด

Advertisement

การเลือกดังกล่าว ไม่ได้กระตุ้นความสนใจของประชาชนมากนัก เพราะคนร่างกฎกติกา ต้องการตัดการมีส่วนร่วมประชาชนไม่ให้ยุ่งกับการเมืองดังกล่าว การเลือก ส.ว.ชุดใหม่ จึงดูไม่ชอบธรรมเท่าไร เพราะผู้ที่ได้รับเลือกบางส่วนเป็นแม่ค้ากล้วยทอด คนขับรถ พิธีกร และโฆษกเสียงตามสายหมู่บ้าน บางรายจบ ป.7 ไม่สามารถตอบสนองความต้องการ หรือตอบโจทย์ความคาดหวังประชาชน

ส่วนผู้ที่มีชื่อเสียง ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และผลงาน เป็นที่รู้จักระดับประเทศพากันสอบตก ทำให้เสียโอกาสเข้าสู่สภาสูง เพื่อพิจารณาและกลั่นกรองกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของประชาชน และประเทศได้

ถ้า ส.ว. 200 คน เข้าไปทำหน้าที่ในสภามองว่า สภาดังกล่าวมีโอกาสถูกครอบงำจากอำนาจที่มองไม่เห็น หรือถูกชักนำจากรัฐบาลได้ ต้องเดินไปตามการเมืองของผู้มีอำนาจที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง บางส่วนมาจากการจัดตั้งหรือล็อบบี้มาตั้งแต่แรกแล้ว จึงมองไม่เห็นอนาคต ส.ว.ชุดใหม่ที่เป็นความหวังของประชาชนอย่างใด อาจทำให้ประเทศเสียโอกาสการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนโดยตรง อาจแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะอำนาจ ผลประโยชน์ยังอยู่ในมือของชนชั้นนำ และกลุ่มนายทุนที่เป็นเครือข่ายดังกล่าว

Advertisement

การเลือก ส.ว.สมัยหน้า หรืออีก 5 ปีข้างหน้า อาจมี 2 รูปแบบ 1.การแต่งตั้งจากนักการเมือง ข้าราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ภาคเอกชน และภาคประชาชน 2.เลือกตั้ง ส.ว.จังหวัด ยึดจำนวนประชากร อาทิ ลำพูน แม่ฮ่องสอน จังหวัดละ 1 คน เชียงใหม่ เชียงราย จังหวัดละ 2 คน เพราะการเลือก ส.ว.ที่ผ่านมา จ.แม่ฮ่องสอน ไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ว.แม้แต่คนเดียว ถ้ามีการเลือกตั้ง ส.ว. ต้องไม่จำกัดอายุ การศึกษา อาชีพ และกำหนดเงื่อนไข ห้ามครอบครัวนักการเมืองลงสมัคร เพื่อป้องกันเป็นสภาผัวเมียด้วย

ดังนั้น ผู้ที่เข้าไปเป็น ส.ว.ชุดใหม่ ต้องไปแก้กฎหมายเลือก ส.ว. หรือยกร่างกฎหมายใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม และตอบสนองเจตนารมณ์ประชาชนแท้จริง ไม่หวงอำนาจ เพื่อเป็นตัวแทน หรือนอมินี รักษาผลประโยชน์กลุ่มชนชั้นนำ นายทุน หรือพรรคการเมืองที่ชักใยเบื้องหลัง ถ้าไม่แก้กฎหมาย หรือเปลี่ยนวิธีเลือก ส.ว. อาจถูกประชาชนคัดค้าน และต่อต้านรุนแรงได้เพราะเป็น ส.ว.ที่มาจากกลุ่มอำนาจเก่าหรือผลพวงจากรัฐประหาร ไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรง

รศ.ตรีเนตร สาระพงษ์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

การได้มาซึ่ง ส.ว.ในการเลือกหนล่าสุด มองว่า ส.ว.กลับไม่อิสระ แต่สังกัดค่ายหรือมีเจ้าของ เท่ากับว่า ส.ว.ชุดใหม่ไม่แตกต่างจากชุดเก่าที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น ส.ว.ของ คสช. ปัญหาความไม่อิสระของ ส.ว. สะท้อนให้เป็นบทเรียนมาตลอดว่าปลายทางของการทำงานไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แต่จะอยู่ที่ประโยชน์ของเจ้าของ ส.ว. และความบิดเบี้ยวของระบบต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรอิสระหรือผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานสำคัญที่มาจากการพิจารณาของ ส.ว.จะถูกเลือกมาจากบุคคลที่ถูกตั้งคำถามว่าพวกใคร และการทำงานที่ออกมาก็ถูกตั้งคำถามมากมาย เช่น การเลือกตั้งก็อาจมีการร้องเรียนสะกัดกั้น หรือวางกับดักเอาไว้ และการวินิจฉัยในหลายเรื่องมักมาถูกช่วงเวลา และคำวินิจฉัยหลายเรื่องก็ขัดหูขัดตาประชาชน และนี่คืออันตรายที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งที่อาจเกิดการเซาะกร่อนบ่อนทำลายโดยกลไกที่มี ส.ว.ที่ไม่มีอิสระเป็นต้นทาง

แน่นอนว่าถ้า ส.ว.ค่ายสีน้ำเงินเข้าไปมากๆ ก็จะเป็นองค์กรอิสระสีน้ำเงินตามไปด้วย ทิศทางแห่งอำนาจก็จะค่อยๆ ถูกถ่ายโอนเปลี่ยนสี เกมแห่งอำนาจของพรรคร่วมรัฐบาลจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน เพิ่มอำนาจการต่อรองทางการเมืองมากขึ้นกลไกการผ่านกฎหมายหรือการถูกตรวจสอบก็จะเปลี่ยนโมเมนตัมไปเข้าทางสีน้ำเงิน ไม่เป็นไปตามกลไกที่ควรจะเป็น

หากสแกนเข้าไปดูในรายละเอียดของลักษณะ ส.ว.ที่ไม่ตรงปก ไม่ตรงกลุ่มอาชีพ หรือกลุ่มอาชีพที่สงสัยต่อการตีความว่าเป็นกลุ่มอาชีพหรือไม่ สะท้อนความพยายามที่จะขนคนมาลงให้ได้ในทุกกลุ่มทุกอาชีพในทุกๆ อำเภออันเป็นต้นทาง เช่น ในต่างจังหวัด บางอำเภอไม่มีกลุ่มอาชีพสื่อมวลชน ก็ตีความเอาว่าคนพูดตามหอกระจายข่าวหมู่บ้านเป็นสื่อมวลชนหรือไม่ถ้าตีความเช่นนี้ใครทำคอนเทนต์อะไรผ่านโซเชียลมีเดียก็กลายเป็นสื่อมวลชนทั้งหมด ทั้งๆ ที่ไม่ต้องผ่านการขัดเกลาอย่างวิชาชีพสื่อสารมวลชน รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ที่หมายถึงบุคคลค้นพบต้นตะเคียน หรือแม้แต่กลุ่มอื่นๆ คืออะไร เปิดช่องให้ใครเข้ามา แน่นอนว่ากลุ่มอาชีพอื่นๆ ไม่มีอยู่จริง

ปัญหาที่ตามมา บุคคลเหล่านี้จะเป็นตัวแทนวิชาชีพได้หรือไม่ แน่นอนคำตอบไม่ใช่เรื่องที่สีน้ำเงิน สีแดง หรือสีส้ม จะสนใจเพราะต้นทางของการจัดตั้งไม่ได้เป็นคุณสมบัติขั้นต้นที่ต้นสังกัดของ ส.ว.เหล่านี้จะสนใจ มากกว่าการเข้าไปรักษาฐานอำนาจ เพราะกติกาที่ถูกออกแบบมาและภาพของกลุ่มก้อน สี สังกัดจะค่อยๆ ชัดขึ้นเมื่อเห็นว่าอยู่จังหวัดใด สนิทกับนักการเมืองคนใด หากรอให้ภาวะการวิ่งฝุ่นตลบในช่วงนี้ผ่านไปจนถึงวันเลือกประธานวุฒิสภา จะทำให้เห็นภาพการกระชับอำนาจที่ชัดมากขึ้นว่า ส.ว.ชุดนี้อยู่ในมือของกลุ่มการเมืองกลุ่มใด

สะท้อนให้เห็นว่าการคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติโดย กกต.ไม่ได้คัดกรองอย่างถูกต้อง มิหนำซ้ำภาพ ส.ว.ยังกลายเป็นตัวแทนกลุ่มการเมืองและผลประโยชน์ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์อันแท้จริง หากตรวจสอบคัดกรอง กำหนดกฎเกณฑ์ให้ชัดตั้งแต่แรก จะทำให้ได้คนที่มีคุณสมบัติถูกต้องเข้ามา ตอนนี้ยังไม่สายเกินไปที่ กกต.จะตรวจสอบคุณสมบัติอีกครั้งและดำเนินการให้ถูกต้อง

ในแง่กติกาหรือรัฐธรรมนูญ ครั้นจะถามว่าการเลือก ส.ว.ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ก็ฟังดูไม่สนิทใจนัก

หากถามว่าคนร่างรัฐธรรมนูญ มองไม่เห็นปรากฏการณ์แห่งความวุ่นวายนี้หรือ ซึ่งแน่นอนคนร่างรัฐธรรมนูญมีเจตนาจะเปิดช่องให้จัดตั้ง เพราะเมื่อใดที่ฐานคนที่มีส่วนร่วมน้อย ส.ว.ที่มาจากการเลือกของคนไม่กี่คน หากต้องการใช้เงินในการจัดตั้งก็ย่อมมีต้นทุนน้อยกว่าการใช้ประชาชนที่เป็นฐานที่กว้างกว่า ส่วนที่ว่าจะเลือกใช้ประชาชนแบบเขตเป็นตัวแทนจังหวัดก็อาจเปิดโอกาสให้ผ่านการเลือกตั้งคล้าย ส.ส. เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุด ซื้อยากขึ้น ต้นทุนมากขึ้น

หากต้องการให้ประชาชนในวิชาชีพนั้นๆ เป็น ส.ว.ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบวิชาชีพมาเลือกแบบเปิดกว้าง เช่น สาขากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ก็ให้คนที่มีใบอนุญาตว่าความ หรือเป็นนิติกร ผู้พิพากษา อัยการ หรืออาชีพทางกฎหมายมาเลือก หรือตัวแทนภาคเกษตรกร ก็ให้คนที่ถือบัตรเกษตรกรมาเลือกอย่างกว้างขวาง เมื่อถูกคัดกรองเข้มด้วยคุณสมบัติ การจัดตั้งหรือการใช้เงินก็จะยากขึ้น

ดังนั้น เมื่อการเลือกตั้งของประเทศถูกใช้เงินซื้อความสำเร็จในทุกระดับ คำตอบเชิงประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมให้มากที่สุดของประชาชนจึงน่าช่วยแก้ปัญหา หรือทุเลาได้ในระดับหนึ่ง แม้ไม่ใช่ทั้งหมดก็ตาม ที่มาของ ส.ว.ก็เช่นกัน อาจต้องใช้การมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุดเป็นคำตอบ

ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภาพรวมการเลือก ส.ว.ระดับประเทศเป็นเหมือนสงครามตัวแทน และภาพจำลองการเมืองระดับชาติที่ต่อสู้กันในสนามเลือกตั้งสภาสูง ทำให้เห็นเครือข่ายพรรคการเมืองได้ชัดเจนจากจำนวน ส.ว.จังหวัดที่ได้รับเลือกเข้ามา ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดที่เป็นฐานเสียงของพรรคการเมือง

แม้ ส.ว.ชุดใหม่จะมีอำนาจน้อยกว่า ส.ว.ชุดที่ผ่านมาเช่น ไม่มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ยังมีอำนาจในการกลั่นกรองและแก้ไขกฎหมายอยู่ อาจมีผลให้การแก้ไขกฎหมายในบางประเด็นที่มีปัญหาไม่เกิดขึ้นเพราะต้องผ่านความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภา ภาพของ ส.ว.ชุดใหม่มีความยึดโยงกับพรรคการเมืองสำคัญที่เป็นแกนนำในรัฐบาล ประเด็นสำคัญที่ทำให้สังคมต้องจับตามองต่อเนื่องจากการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เนื่องจากนโยบายของพรรคการเมืองส่วนใหญ่แม้สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ในรายละเอียดจะสนับสนุนให้แก้ทั้งฉบับ หรือแก้บางจุดที่มีปัญหา และต้องเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะพรรคการเมืองบางพรรคไม่แสดงจุดยืนชัดเจน แม้ส่วนใหญ่จะสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่ที่ผ่านมาติดปัญหาจาก ส.ว.ชุดเก่า เมื่อมี ส.ว.ชุดใหม่จึงอาจมาช่วยคลายล็อกเรื่องนี้ ความมุ่งหวังของ ส.ว.ภาคประชาชน คือ ต้องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่อาจเป็นไปไม่ได้แล้วในสถานการณ์นี้ หลังเห็นภาพตัวเลข ส.ว.ชุดใหม่ที่ได้รับเลือกเข้ามา

ส่วนข้อเสนอต่อการเลือก ส.ว.ในอีก 5 ปีข้างหน้า หากมองว่า ส.ว.ชุดใหม่ที่เลือกมามีปัญหา ก็ต้องย้อนกลับไปแก้ที่รัฐธรรมนูญ แต่หากยืนยันจะยึดจากการเลือกฐานอาชีพเหมือนครั้งล่าสุด ก็ต้องแก้กฎหมายลูกที่เป็นจุดอ่อน เช่น การแบ่งกลุ่มอาชีพที่ไม่แฟร์กับคนบางกลุ่ม อาทิ ให้ผู้สูงอายุ คนพิการ และชาติพันธุ์ ไปรวมกันอยู่ในกลุ่ม 15 แต่ ส.ว.ในกลุ่มที่ได้รับเลือกมาทั้ง 10 คน กลับไม่มี ส.ว.จากชาติพันธุ์และคนพิการแม้แต่คนเดียว จึงต้องแก้ไขประเด็นการแบ่งกลุ่ม และอายุให้ชัดเจน รวมทั้งวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. ทั้งการเลือกในกลุ่ม และการเลือกไขว้กลุ่ม

หากฐานความคิดเปลี่ยนย้อนกลับไปที่รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือไปไกลกว่านั้นคือไม่ให้มี ส.ว.เลย ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องย้อนกลับไปถามจุดยืนของพรรคการเมือง เพราะ ส.ว.ชุดใหม่ที่ได้รับเลือกมามีเครือข่ายยึดโยงกับพรรคการเมืองในรัฐบาลชัดเจน

การเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้มาจากการจัดตั้งไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม การไม่จัดตั้งและฝ่าฟันเข้ามาตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศได้เป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละระดับต้องเลือกถึง 2 รอบ คือเลือกในกลุ่มอาชีพ และเลือกไขว้กลุ่มอาชีพ ต้องวางโครงข่ายหลายรูปแบบ ทั้งการจ่ายอามิสสินจ้าง การโน้มน้าวด้วยอุดมการณ์ หรือระบบการอุปถัมภ์ และการตอบแทนบุญคุณผู้บังคับบัญชา หรือผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ

ขณะเดียวกันกติกาการเลือก ส.ว.ที่ออกแบบมาครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องใช้การจัดตั้ง และคนที่วางโครงข่ายต้องเข้าใจระบบเป็นอย่างดี เพราะต้องจัดตั้งให้กว้างครบทุกกลุ่มอาชีพ ทำให้ลึกตั้งแต่ระดับอำเภอขึ้นมาจนถึงระดับจังหวัด และประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image