เปิดผล ‘ธำรงศักดิ์โพล’ ชี้ 62.71% หนุนยกเลิก ส.ว.ในรัฐธรรมนูญ ภาคอีสานเห็นด้วยเยอะสุด

เปิดผล ‘ธำรงศักดิ์โพล’ ชี้ 62.71% หนุนยกเลิก ส.ว.ในรัฐธรรมนูญ สูงกว่าผลการรวจช่วงเดือน เม.ย.66 พบภาคอีสานเห็นด้วยเยอะสุด ร้อยละ 67.40 ตามด้วยกรุงเทพฯ

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เปิดเผย​งานวิจัยส่วนบุคคล “ธำรงศักดิ์โพล” โดยเก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคนทั้งประเทศ จำนวน 4,310 คน เก็บแบบสอบถามระหว่าง 8-21 เมษายน 2567 โดยนักศึกษาปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต 127 คน เก็บแบบสอบถามใน 47 จังหวัด ประเด็นการเลือก ส.ว.67 ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า เห็นควรต้องยกเลิก ส.ว.สูงขึ้นจากปี 2566 ที่ร้อยละ 55.24 เป็นปี 2567 ร้อยละ 62.71

เมื่อถามว่า ท่านคิดว่าควรต้องยกเลิกการมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในรัฐธรรมนูญได้แล้วหรือยัง ​ผลการวิจัยพบว่า (มี 4,296 คนตอบคำถามข้อนี้) ​ต้องยกเลิก ร้อยละ 62.71 (2,694 คน) ​ยังไม่ควรยกเลิก ร้อยละ 16.06 (690 คน) ​ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 21.23 (916 คน)

​เมื่อพิจารณารายภาค พบว่า​ ภาคที่มีทัศนคติว่า ต้องยกเลิก ส.ว.ในรัฐธรรมนูญมากที่สุด คือภาคอีสาน ร้อยละ 67.40 ตามด้วยกรุงเทพฯ ร้อยละ 66.60 สามจังหวัดใต้ ร้อยละ 64.20 ภาคกลาง ร้อยละ 62.90 ภาคใต้ ร้อยละ 58.4 ภาคเหนือ ร้อยละ 50.0

Advertisement

ภาคที่มีทัศนคติว่ายังไม่ควรยกเลิก ส.ว.ในรัฐธรรมนูญมากที่สุด คือภาคเหนือ ร้อยละ 23.50 รองลงมาเป็น ภาคใต้ ร้อยละ 20.20 ภาคกลาง ร้อยละ 15.40 กรุงเทพฯ ร้อยละ15.20 ภาคอีสาน ร้อยละ 13.00

​เมื่อเปรียบเทียบการสำรวจทัศนคติของประชาชนเดือนเมษายน 2566 และเดือนเมษายน 2567 เป็นดังนี้

Advertisement

1.ต้องยกเลิก ผลสำรวจเมื่อเมษายน 2566 ร้อยละ 55.24 ส่วนเมษายน 2567 ร้อยละ 62.71 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.47

2.ยังไม่ควรยกเลิก ผลสำรวจเมื่อเมษายน 2566 ร้อยละ 18.29 ส่วนเมษายน 2567 ร้อยละ 16.06 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.23

3.ไม่แสดงความเห็น ผลสำรวจเมื่อเมษายน 2566 ร้อยละ 26.47 ส่วนเมษายน 2567 ร้อยละ 21.23 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5.24

สำหรับ​ข้อมูลพื้นฐานของผู้ตอบแบบสอบถามเดือนเมษายน 2567

​เพศ : หญิง 2,199 คน (51.02%) ชาย 1,891 คน (43.88%) เพศหลากหลาย 220 คน (5.10%)

อายุ : Gen Z (18-27 ปี) 2,194 คน (50.90%) Gen Y (28-44 ปี) 902 คน (20.93%) Gen X (45-59 ปี) 789 คน (18.31%) Gen Baby Boomer ขึ้นไป (60 ปีขึ้นไป) 425 คน (9.86%)

​การศึกษา : ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 461 คน (10.70%) มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า 1,053 คน (24.43%) อนุปริญญาหรือเทียบเท่า 493 คน (11.43%) ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 2,079 คน (48.24%) สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 224 คน (5.20%)

อาชีพ : นักเรียนนักศึกษา 1,758 คน (40.79%) เกษตรกร 374 คน (8.68%) พนักงานเอกชน 457คน (10.60%) รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 472 คน (10.95%) เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 480 คน (11.14%) ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 403 คน (9.35%) พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 237 คน (5.50%) อื่นๆ 129 คน (2.99%)

​รายได้ต่อเดือน : ไม่มีรายได้ 958 คน (22.23%) รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท 1,031 คน (23.92%) รายได้ 10,001-20,000 บาท 1,189 คน (27.59%) รายได้ 20,001-30,000 บาท 611 คน (14.18%) รายได้ 30,001- 40,000 บาท 243 คน (5.64%) รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป 278 คน (6.44%)

ขณะที่ ข้อมูลพื้นฐานเดือนเมษายน 2566 ​เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 6-17 เมษายน 2566 มีผู้ตอบแบบสอบถามรวม 4,588 คน ใน 57 จังหวัด หญิงร้อยละ 53.16 ชาย ร้อยละ 44.09 เพศหลากหลาย ร้อยละ 2.75

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image