เพิ่มมูลค่าด้วย “แสง” นฤชา อำนาจสุวรรณ “ไลติ้ง ดีไซเนอร์” มือหนึ่ง

“ผมอยากให้คนที่เข้ามาชมในงานเข้าใจเรื่องแสงมากขึ้น ว่าแสงเป็นมากกว่าเรื่องของความสว่าง….”

นฤชาบอกถึงเบื้องหลังความคิดระหว่างพาชมแต่ละมุมของห้องจัดแสดงแสง ในงาน “ไทยแลนด์ ไลติ้ง แฟร์” ที่ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้ไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงาน โดยในส่วนของห้องจัดแสดงแสงนั้นจำลองเป็นมุมห้องนอน ห้องพักผู้ป่วยไอซียู (ในโรงพยาบาล เมาท์ โนเวนา สิงคโปร์) ร้านค้า ห้องทำงาน ฯลฯ สาธิตการใช้แสงไฟที่ให้อารมณ์ที่แตกต่าง

สำหรับคนไทยอาจจะไม่คุ้นชื่อ นฤชา อำนาจสุวรรณ แต่ในแวดวงไลติ้ง ดีไซน์ รวมทั้งรอบบ้านอาเซียน โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์รู้จักเป็นอย่างดี

กว่า 10 ปีในฐานะนักออกแบบแสง ในสิงคโปร์ ประเทศที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นฮับทางด้านเทคโนโลยีและความทันสมัย นฤชาสร้างตัวตนและชื่อเสียงขึ้นมาจากศูนย์ ได้รับการยกย่องในฐานะดีไซเนอร์รุ่นใหม่ไฟแรง ผู้เชี่ยวชาญในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เข้ามาออกแบบอาคารและพื้นที่ในเชิงอนุรักษ์พลังงาน ได้อย่างยอดเยี่ยม

Advertisement

ไม่แปลกที่เขาจะได้รับรางวัล Singapore Institude of Architecture จากการออกแบบแสงให้โบสถ์ไครสต์ เมโธดิสท์

เป็นลูกชายคนโตในบรรดาพี่น้อง 3 คน ของ คุณพ่อสุชัย กับ คุณแม่ธัญดา อำนาจสุวรรณ

ความที่คุณพ่อคุณแม่เปิดโอกาสให้ลูกๆ ได้เลือกเส้นทางชีวิตของตนเอง หลังจบจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ไปเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกา 1 ปี แล้วกลับมาศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Advertisement

“เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เมืองไทยไม่ค่อยมีใครเข้าใจว่าไลติ้งคืออะไร นักพัฒนาก็ยังเข้าใจว่าไลติ้งเป็นแค่เรื่องของความสว่าง บังเอิญโชคดีไปได้งานที่ประเทศสิงคโปร์ตอนที่เรียนจบ ซึ่งสิงคโปร์ขณะนั้นเป็นฮับที่ก้าวหน้าที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักพัฒนาที่นั่นก็ให้ความสนใจกับเรื่องของไลติ้งในแง่ของการเพิ่มมูลค่าให้กับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเขา เราก็ไปเริ่มงานจากตรงนั้น เป็นไลติ้ง ดีไซเนอร์”

ปัจจุบันในวัย 33 ปี นฤชาเป็นดีไซน์ไดเร็กเตอร์ และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ไลท์บ็อกซ์พลัส (LIGHTBOXPLUS co.,LTD.) บริษัทของคนไทยในสิงคโปร์ เป็นดีไซน์สตูดิโอออกแบบแสง และยังมีสาขาอยู่ที่กรุงเทพฯ และจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

ด้วยประสบการณ์กว่า 10 ปี มีผลงานมากมาย ตั้งแต่โรงแรม รีสอร์ต ห้างสรรพสินค้า ที่พักอาศัยซึ่งมีทั้งเป็นบ้านเดียว กระทั่งคอนโดระดับไฮเอนด์ โรงพยาบาล โรงเรียน โบสถ์ ฯลฯ ในหลายประเทศทั่วโลก

อาทิ บันยันทรี รีสอร์ต ในจีนและบาห์เรน ดับเบิลยู โฮเต็ลแอนด์รีสอร์ต ที่มัลดีฟส์ โรงแรมเวสทิน สิงคโปร์ โรงแรมเชอราตันในอินเดีย โรงแรมแมริออท สิงคโปร์ ฯลฯ

ออกแบบทั้งในระดับแลนด์สเคป รวมทั้งมาสเตอร์ ไลติ้ง แปลน อาทิ โรงพยาบาลเมาท์ อลิซาเบธ โนวานา และเมเปิลทรี เมืองธุรกิจและคอมเมอร์เชียลคอมเพล็กซ์ พี่พักระดับไฮเอนด์ เดอะ โครอลส์ ที่อ่าวเคปเปล เบย์ สิงคโปร์ คอนโดมิเนียมหรูที่เกาะเซนโตซา ฯลฯ

สำหรับผลงานในเมืองไทย อาทิ คอนโดมิเนียมของตึกเอ็มไพร์, เซ็นทรัลพลาซา ชลบุรี ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการ เซ็นทรัลพัทยาเซ็นเตอร์ โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม ร้านอาหาร แบมบูชิค (Bamboo Chic) ในโรงแรมเลอ เมอริเดียน ที่กรุงเทพฯ โรงแรม อัมรา กรุงเทพ ฯลฯ

ไปรู้จักกับมุมมองของไลติ้ง ดีไซเนอร์ ผู้เนรมิตความงามขึ้นได้ด้วย “แสง”

“แสง” ที่เห็นในชีวิตประจำวันมี “สี”?

ครับ แสงที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้คือ “แสงประดิษฐ์” เกิดขึ้นมาตั้งแต่เอดิสัน (ทอมัส อัลวา เอดิสัน) คิดหลอดไฟ และพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่อเทคโนโลยีมันเสถียรแล้ว

ทุกอย่างก็กลับไปสู่แสงธรรมชาติ ซึ่งเป็นแสงที่ดีที่สุด เราพยายามเลียนแบบแสงจากเช้าถึงเย็น ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก

“สี” ของแสงหมายถึงสีที่เลียนแบบแสงธรรมชาติ วัดกันด้วยอุณหภูมิ “เคลวิน” คือ อุณหภูมิ 2,700 เคลวิน เป็นแสงวอร์ม (warm) 3,000 เคลวินแสงจะไวต์ (white) ขึ้น เรียกว่า วอร์ม ไวต์ (warm white) ไปจนถึงอุณหภูมิสูงสุดจะออกมาเป็นสีขาว

ยกตัวอย่างโรงแรมหรือที่พักอาศัย จะใช้แสงที่สบายตาที่สุด จะใช้สีฟ้าเข้าไปด้วย จากการศึกษาพบว่าคนเป็นโรคนอนไม่หลับ การให้แสงแบบนี้ทำให้คนนอนหลับง่ายขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องใช้แสงแบบนี้เสมอไป เพียงแต่บางคนเปิดเพลงฟังก็แล้ว นับแกะก็แล้วยังนอนไม่หลับ อาจจะลองใช้วิธีนี้

“…การดีไซน์ไม่ได้ตอบโจทย์ความสวยงามเสมอไป ถ้ามีไลติ้งดีไซน์ ใช้ไฟที่ถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องใช้ไฟโปรยไปทั้งตึก ช่วยให้ประหยัดพลังงานได้…”

แสงใช้รักษาโรคได้?

ได้ครับ จะมี “ไลต์ เทอราปี” ในทางการแพทย์จะเอาไปใช้ในเอ็มอาร์ไอ สแกน ทำให้คน calm ที่สุด ก่อนที่จะเข้าไปในเครื่องอุโมงค์ เราไม่ได้ออกแบบแสงในบ้านหรือโรงแรมเท่านั้น ยังมีโรงพยาบาลด้วย อย่างโรงพยาบาลเมาท์ อลิซาเบธ โนวานา ที่สิงคโปร์ ในห้องไอซียู เราเล่นเรื่องสีของแสง โดยมีโจทย์ว่าทำอย่างไรให้ผู้ป่วยที่นอนอยู่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลา เราใช้ระบบการปรับแสงอัตโนมัติเลียนแบบอุณหภูมิตั้งแต่ตอนเช้า-เที่ยงไปถึงเย็น เพราะเวลาแสงเปลี่ยนก็ทำให้อารมณ์เราเปลี่ยน ขณะเดียวกันเวลาที่คุณหมอมาดูผู้ป่วย แสงที่ออกเหลืองอาจจะทำให้ไม่เห็นสีผิวจริงของผู้ป่วยว่าเหลืองแค่ไหน ก็สามารถปรับไฟเป็น 5,000 เคลวิน ซึ่งเป็นเดย์ไลต์มากๆ คือพอเราเป็นดีไซเนอร์ ความสวยงามเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทำอะไรต้องสวยงามก่อน แต่มากไปกว่าความสวยงาม มันมีคุณค่าอะไรที่เพิ่มเข้าไปในงานดีไซน์นั้นๆ แล้วมันตอบโจทย์

โบสถ์ไคร์ต เมโธดิสต์
โบสถ์ไคร์ต เมโธดิสต์

สนใจเรื่องแสงตั้งแต่เมื่อไหร่?

ตั้งแต่ตอนเรียนสถาปัตย์ปีสุดท้าย เริ่มสนใจตอนทำงานไฟนอล สังเกตว่าทุกสถาปนิกจะมีการผลิตและสร้างฟอร์มของอาคารขึ้นมา ผมมองว่าฟอร์มนั้นเห็น ณ ตอนกลางวันที่มีแสง แล้วถ้าตอนกลางคืนที่ไม่มีแสง ฟอร์มนั้นมันหายไปไหน ก็เลยเริ่มสนใจว่าแสงมาตอบโจทย์กับสถาปัตยกรรมอย่างไรบ้าง

บังเอิญโชคดีไปได้งานที่ประเทศสิงคโปร์ตอนที่เรียนจบ เป็นไลติ้ง ดีไซเนอร์ ที่บริษัท ไลติ้ง ดีไซน์ออฟฟิศ ที่สิงค์โปร์ ซึ่งที่นั่นมีไลติ้ง ดีไซน์ออฟฟิศ อยู่มาก

หาความรู้เพิ่มเติมจากไหน?

จากการทำงานครับ ผมเป็นคนชอบเรียนรู้ก็เรียนจากงานที่ทำ และอาศัยประสบการณ์และพื้นฐานงานดีไซน์ของเราประกอบกัน ทำมาจนปีนี้เป็นปีที่ 11 แล้ว เพราะจริงๆ งานดีไซน์ทุกอย่างมีหลักพื้นฐานเหมือนกัน เหมือนคุณหมอก็มีแพทย์ทั่วไป แล้วค่อยแยกเป็นแพทย์เฉพาะทาง ดีไซเนอร์ก็เหมือนกัน แยกเป็นสเปเชียลิสต์ อาร์คีเต็กทางด้านไลติ้ง

ขอบข่ายของการทำงาน?

ไลติ้งบ็อกซ์ เรามีออฟฟิศ 3 แห่ง ที่สิงคโปร์เป็นสำนักงานใหญ่ ที่จาการ์ตา อินโดนีเซีย และที่กรุงเทพฯ เป็นแบรนด์ออฟฟิศ ที่กรุงเทพฯ เพิ่งเปิดได้ 2 ปีกว่าๆ คือเราเริ่มมองเห็นว่าตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขยายตัวมากขึ้น คนให้ความสนใจเรื่องของไลติ้งมากขึ้น ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมาก็มีงานที่กรุงเทพฯ ที่จาการ์ตา ที่จีน มาเลเซีย เวียดนาม อินเดีย คือทั่วเอเชียแปซิฟิกเราทำมาครบหมดแล้ว แต่พอมันมีปริมาณงานมากขึ้นเราคนทำธุรกิจก็ต้องกลับเข้ามาในตลาดโดยตรง เราจึงขยายแบรนด์ออฟฟิศเข้ามา

2 ปีที่ผ่านมาไทยเปลี่ยนไปมากในแง่ของการให้ความสำคัญกับแสง?

เปลี่ยนมากครับ อาจจะเข้าใจมากขึ้น ซึ่งถ้าพูดในเชิงพาณิชย์จะเห็นภาพชัดที่สุด อย่างร้านค้าต่างๆ เช่น คิโนะคุนิยะ เราก็ไปทำให้ ล่าสุดที่เอ็มควอเทียร์

แสงเป็นมากกว่าความสว่าง อย่างในแง่ของร้านค้า แสงเป็นโพสิชั่นนิ่ง แบรนดิ้ง ได้ คือจัดแสงอย่างไรจะทำให้ผลิตภัณฑ์ดูดีขึ้น ดูทันสมัย น่าใช้ เช่นเดียวกับในโรงแรม แสงช่วยสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า

การใช้ไฟในบ้านทำไมต้องเลือก เพราะการให้ค่าจริงของแสงที่ดีทำให้สายตาเรามองเห็นวัตถุชัดเจนถูกต้อง แสงไม่ควรตกกระทบวัตถุแล้วเข้าตาเราทำให้เราเห็นสีแดงประหลาดๆ และยิ่งทุกวันนี้ยิ่งอันตรายกับการใช้แอลอีดี เพราะปัจจุบันใครๆ ก็ผลิตแอลอีดีออกมาขายได้

ภายในโบสถ์ไครสต์ เมโธดิสท์
ภายในโบสถ์ไครสต์ เมโธดิสท์

หลอดไฟแอลอีดี ไม่ดี?

ดีครับ แต่เราต้องบอกให้ผู้บริโภคทราบว่าแบบไหนเหมาะกับการใช้งานประเภทไหน เราไม่ได้บอกว่าใส่ไฟตรงนี้สวย ใส่ไฟเป็นเส้นๆ แล้วจะดูดี

หลอดแอลอีดีซื้อมาใช้ได้ ประหยัดพลังงานจริง แต่จะใช้ได้นานแค่ไหน อยู่ที่ความใส่ใจของผู้ผลิต ซึ่งฉลากที่ดีควรระบุค่าจริงของแสง เพื่อว่าผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ได้ถูกกับการใช้งาน

การจัดแสงไม่มีสูตรสำเร็จ?

ครับ มันเป็นเรื่องของการเข้าใจว่า ณ ที่ตรงนั้นปัญหาคืออะไร แล้วเราต้องเข้าไปทำอะไร เพราะการดีไซน์ของผมคือการเข้าไปแก้ปัญหามากกว่า

ดีไซเนอร์คนไทยได้รับการยอมรับในต่างแดนมากแค่ไหน?

ผมว่าดีไซเนอร์ไทยได้รับการยอมรับในตลาดอยู่แล้ว ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องบอกว่าคนไทยเป็นดีไซเนอร์มือ 1 ทั้งด้านสถาปัตยกรรม และงานอินทีเรีย ทุกคนอาจจะบอกว่าสิงคโปร์ดูเป็นฮับ ซึ่งบริษัทอาจจะเป็นสิงคโปร์ แต่ถ้าเข้าไปดูดีไซเนอร์ข้างในส่วนใหญ่เป็นคนไทย คนสิงคโปร์ก็เก่ง แต่เก่งในเรื่องการขาย ส่วนใหญ่จะตั้งบริษัทเอางานไปขาย แต่ไม่เก่งเรื่องการดีไซน์ การวางแผน

เมื่อเร็วๆ นี้มีการเปิดอาคารมหานคร เป็นงานส่วนหนึ่งของนักออกแบบแสง?

ผมว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากในการสร้างกระแสให้กับคนไทย แม้จะเป็นแค่ไลต์โชว์ แต่จุดประเด็นให้นักพัฒนาต่างๆ หันกลับมาสนใจมากขึ้น และฉุกคิดว่าการที่อาคารของเรามีแสงมันจะเป็นแบรนด์อย่างหนึ่งของบริษัทได้หรือเปล่า อย่างโรงแรมเก่าๆ ถ้าไม่มีไฟจะน่ากลัวมากในเวลากลางคืน ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้สีสันหวือหวา แต่เราต้องเข้าใจบริบท เข้าใจภาษาของมันว่าคืออะไร แล้วเข้าไปแก้ปัญหาตรงนั้น

เช่นการใช้แสงในงานโบราณสถาน?

ครับ ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ดี แต่มันมีหลายปัจจัยในการทำอะไรสักอย่าง อย่างในต่างประเทศ แลนด์มาร์คที่เป็นอนุสรณ์สถานก็ถูกสาดแสงใส่สีให้เป็นไอคอน

มานานแล้ว แต่บางทีก็ต้องมองลึกลงไปนิดนึง อย่างเวลาเราดีไซน์ 1 อาคารก็ต้องคำนึงไปถึงรอบข้างว่าแสงเราไปรบกวนเขามั้ย ดีไซน์ไม่มีถูกผิด แต่สามารถเคารพบริบทรอบๆ ได้ เป็นวิธีการหนึ่งของการสร้างงานดีไซน์

ความท้าทายของอาชีพนี้อยู่ตรงไหน?

อยู่ที่การทำให้ตลาดเข้าใจ บางทีการดีไซน์ไม่ได้ตอบโจทย์ความสวยงามเสมอไป แต่อาจจะตอบในเรื่องของการใช้งาน เช่น ถ้ามีไลติ้งดีไซน์ ใช้ไฟที่ถูกต้อง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ไฟโปรยไปทั้งตึก ช่วยให้ประหยัดพลังงานได้ ซึ่งแต่ละตลาดจะมีปัญหาของมันหรือไม่อยู่ที่เราต้องหยิบมาอธิบายให้เห็นและแก้ปัญหาอย่างไร

นั่นคือทำไมต้องใช้สถาปนิกมาออกแบบบ้าน มันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการดีไซน์ถูกก็จะทำให้ทุกอย่างถูกและเหมาะสม มันเป็นเรื่องของศาสตร์และศิลป์

ซึ่งการออกแบบแสงสามารถใช้ได้กับทุกวงการ?

ครับ การเลือกไฟที่ถูกต้อง ถ้าเป็นร้านค้า อาจจะสงสัยว่าเสื้อผ้า 2 ร้าน คล้ายกัน แต่ทำไมเสื้อผ้าร้านนั้นดูสวยกว่า ทำไมร้านอาหาร 2 ร้าน ร้านนี้ถ่ายรูปออกมาแล้วอาหารน่ากินมากเลย แสงมันสร้างอาหาร สร้างเพอร์เซ็ปชั่นออกมา

เคล็ดลับการจัดแสงอย่างง่าย?

ต้องบอกก่อนว่ามันเป็นเรื่องส่วนบุคคล ขึ้นกับวัยกับอายุของแต่ละคน ถ้าใช้ในบ้านควรใช้ไฟอะไรก็ได้ที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายและสบาย เพราะบ้านคือสิ่งที่เราอยู่ทุกวัน คือไฟที่ “วอร์ม โคซี่” เวลาไปซื้อหลอดไฟที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตจะมีเขียนไว้ว่ากี่เคลวิน หรือเป็นวอร์ม ไวต์/ไวต์ หรือ เดย์ไลต์ ฉะนั้นอาจจะต้องเริ่มจากอ่านฉลากก่อน แต่ผู้สูงอายุบางคนอาจจะบอกว่า ไม่สว่างเลย เพราะในทางวิทยาศาสตร์รูม่านตาของคนที่สูงวัยจะแคบลง แสงสีวอร์มจะทำให้รู้สึกมืด

J1DX5157
กว่า 10 ปีของการทำงานที่สิงคโปร์ได้เรียนรู้อะไร?

ผมชื่นชมการทำงานของคนสิงคโปร์ตั้งแต่ระดับรัฐบาลจนถึงระดับเอกชน เขาเป็นคนที่มีระบบมากในการวางแผนทางความคิด และถ่ายทอดจากบนลงล่าง จึงทำให้ทุกคนทำงานไปในแนวทางเดียวกัน เป็นคนทำงานเร็ว อาจจะด้วยวัฒนธรรม ด้วยสภาพแวดล้อมที่บังคับให้ต้องเร็ว ทุกอย่างในสิงคโปร์ทุกคนบอกว่าเป็นเงินเป็นทองไปหมด

ในแง่อุตสาหกรรมก่อสร้างราคาแพง เพราะเป็นประเทศเล็กๆ พื้นที่มีจำกัด พื้นที่ของเขาจึงมีอายุ คือถ้าซื้อที่ดินมาจะมีอายุการครอบครอง 99 ปี ฉะนั้นการจะนำไปพัฒนาต้องคิดว่าทำอย่างไรจะได้กำไรเร็วที่สุด และคิดอย่างมีเหตุผลตลอดเวลาว่าทำอย่างนี้อย่างนั้นไม่ได้เพราะอะไร และจะหาโซลูชั่นที่ดีที่สุด ผมได้เรียนรู้จากตรงนี้

เวลามีช่วงเวลาที่ยากลำบาก ก้าวผ่านมาได้อย่างไร?

มีครับ ตอนที่เราเริ่มปรับตัว จะมีจุดหนึ่งที่เรารู้สึกว่าคนสิงคโปร์จะตึงเปรี๊ยะไปถึงไหน พอมองกลับมาที่คนไทยบางคนว่ายืดหยุ่นมาก ผมก็จะพยายามหาวิธีที่จะผ่อนคลายตัวเอง โดยมองว่าปัญหาทุกอย่างไม่ใช่เรื่องใหญ่ของชีวิต ถ้าเรามองใกล้เราอาจจะเห็นว่าปัญหามันใหญ่มาก แต่ถ้าเราลองถอยออกมามองใหม่ก็จะเห็นว่า ปัญหานั้นอาจจะไม่ได้ใหญ่อย่างที่เราคิด ต้องอย่าใช้อารมณ์ตัดสินใจ

ปัจจุบันถือว่าประสบความสำเร็จ?

10 ปีที่ผ่านมา มาถึงจุดที่เราไม่คาดคิด เรียกว่าสนุกกับสิ่งที่ทำอยู่ แต่วันข้างหน้าอาจจะหันไปทำงานที่สนุกกว่านี้ เพราะจากการทำงานกับนักพัฒนา ได้เห็นการทำงานได้ประสบการณ์มามาก เลยมีความคิดว่าถ้ามีโอกาสเราจะทำงานประเภทไหน งานออกแบบแสงอาจจะเป็นแค่งานอดิเรกก็ได้ (หัวเราะ)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image