ชมวิถีชีวิตลุ่มน้ำ’ทะเลสาบสงขลา’ เปิดประตูท่องเที่ยวชายแดน’ไทย-มาเลเซีย’

ชุมชนเมืองชายแดนไทย-มาเลเซีย เป็นอีกหนึ่งพื้นที่มากด้วยเสน่ห์ด้านการท่องเที่ยว ต่อเนื่องมาจนถึงแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ที่มีศักยภาพในการเป็นจุดพักนักท่องเที่ยว

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยสำนักงานประสานงานโครงการวิจัยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการจึงทำวิจัยเพื่อยกระดับการท่องเที่ยว และพาลงพื้นที่โครงการวิจัยเส้นทาง “สัมผัสวิถีคนลุ่มน้ำ…เชื่อมวัฒนธรรมเองชายแดนไทย-มาเลเซีย”

เป้าหมายคือการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวระหว่างพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเชื่อมโยงกับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยมีจังหวัดสงขลาเป็นประตูสำคัญในการเชื่อมต่อ

คณะวิจัยนำโดย ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช รองผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมมุ่งเป้า สกว. พาเรียนรู้วิถี “โหนด นา เล” วิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบที่ผูกพันกับการทำตาลโตนด ทำนา และประมง อันเป็นวิถีเบื้องต้นในการประกอบอาชีพนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเป็นพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้วิถีชีวิตทั้ง 3 ด้านของนักท่องเที่ยว

Advertisement

ชาวบ้านได้รวมกลุ่มสร้างเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์วิถีชีวิต และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด ช่วยสร้างความสามัคคีและสร้างรายได้แก่คนในชุมชนเดือนละ 7,000-10,000 บาท

ผศ.ดร.ชัยรัตน์ จุสปาโล ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ระบุว่า ต.ท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา มีพื้นที่ที่ปลูกตาลโตนดมากที่สุดในประเทศไทย จึงร่วมกับชุมชนในการอนุรักษ์อู่วัฒนธรรมให้เป็นแหล่งเรียนรู้การทำขนมจากตาลโตนด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติม เช่น สบู่ โลชั่น แชมพู จนเป็นสินค้าโอท็อป 4 ดาว

“ขณะที่พื้นที่ทำนาและทะเลสาบซึ่งประกอบด้วย 3 น้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่อุดมด้วยทรัพยากรอาหารและเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีอาชีพ โดยศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ได้ถูกบรรจุไว้ในเส้นทางท่องเที่ยวที่จะเสนอขายในงาน World Travel Market (WTM) ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 7-9 พฤศจิกายนนี้ด้วย” ผศ.ดร.ชัยรัตน์กล่าว

Advertisement

pra02200959p2

อีกหนึ่งสถานที่น่าจับตา “ชุมชนวิถีพุทธคลองแดน” มีจุดขายอยู่ที่ตลาดริมน้ำคลองแดน เป็นจุดบรรจบของลำคลอง 3 สายคือ คลองระโนด คลองชะอวด และคลองปากพนัง กลายเป็นคลองเล็กๆ ที่เรียกว่า “คลองแดน”

ตลาดแห่งนี้เปิดบริการนักท่องเที่ยวทุกวันเสาร์ตั้งแต่เที่ยงถึงกลางคืน เพื่อสัมผัสบรรยากาศตลาดน้ำโบราณริมคลอง ร้านค้า ห้องแถวและบ้านไม้โบราณ มีโฮมสเตย์ให้ผู้มาพักได้สัมผัสและเรียนรู้ธรรมชาติที่เงียบสงบ ศิลปวัฒนธรรมวิถีพุทธ ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของคนในชุมชน

ใกล้ๆ มีวัดคลองแดนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน กุฏิพระที่มีสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภาคใต้แบบประยุกต์ หอฉันที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลังอายุกว่า 100 ปี เรือขุดจากไม้ตะเคียนทองทั้งต้นที่บรรทุกคนได้ 40-50 คน พระพุทธรูปทองคำปางมารวิชัยที่มีพุทธลักษณะผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนา ล้านช้าง เชียงแสน อยุธยา และนครศรีธรรมราช ขนาดหน้าตักกว้าง 50 นิ้ว เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน

รูปแบบโครงสร้างการดำเนินงานของชุมชนมีความคล้ายกับบริษัท คือ ชุมชนเป็นบริษัทแม่ โดยมีแต่ละฐานของชุมชนเป็นบริษัทลูกและส่งรายได้เข้าชุมชน ภายใต้แนวคิด “เป็นเจ้าบ้านที่ดี ความสุขของผู้มาเยือนคือความสุขของเรา”

ย้ายมาดูที่ชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 รัฐ ประเทศมาเลเซีย

ดร.นราวดี บัวขวัญ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ชุมชนระหว่างเมืองชายแดนไทยกับมาเลเซียได้ร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยว เครือข่ายการเรียนรู้และส่งเสริมการท่องเที่ยว ภาพรวมของสองประเทศมีระบบการจัดการที่แตกต่างกัน ต้องมีการยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้ได้มาตรฐานสู่ประชาคมอาเซียน

pra02200959p3ส่วนของการเยี่ยมชม ชุมชนพญากูริง รัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซียนั้น ตวน ฮาจี รอมลี บี ฮัสซัน ประธานชุมชนฯ เล่าประสบการณ์การจัดการโฮมสเตย์จนกลายเป็นชุมชนต้นแบบของมาเลเซียว่า โฮมสเตย์ดังกล่าวได้จัดตั้งมาเป็นเวลา 20 ปีตามนโยบายของรัฐบาลมาเลเซีย

เดิมได้ให้นักท่องเที่ยวอยู่ร่วมกับคนในชุมชน ต่อมาเมื่อได้รับความนิยมมากขึ้นรัฐบาลได้ให้งบประมาณสร้างโฮมสเตย์แยกจากบ้านของชาวบ้าน เพื่อเป็น “บ้านหลังที่สอง” โดยมี 3 รูปแบบให้เลือกคือ ภูเขา ท้องนา และไร่ปาล์ม

“ชุมชนอยู่ใกล้สถานศึกษาและสะดวกสบายในการเดินทางเนื่องจากอยู่ใกล้มอเตอร์เวย์ มีท่าเรือเดินทางต่อไปยังเกาะลังกาวี และรถไฟรางคู่สู่กัวลาลัมเปอร์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการเรียนรู้การทำนาและทำอาหาร แคมป์สำหรับนักเรียนนักศึกษา การจัดพิธีสมรสแบบพื้นเมืองที่ครบวงจร ทำให้มีกระแสตอบรับดีจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ คนในชุมชนได้เปิดหูเปิดตาและมิตรภาพจากนักท่องเที่ยว ยกระดับความเป็นอยู่โดยไม่ได้เน้นที่ตัวเงิน” ตวน ฮาจี รอมลี บี ฮัสซันกล่าว

ด้าน ดร.ปรัชญากรณ์ ไชยคช หนึ่งในทีมวิจัย สกว. กล่าวว่า รูปแบบและโครงสร้างบริหารจัดการของฝั่งมาเลเซียค่อนข้างชัดเจนกว่าจังหวัดชายแดนใต้ เพราะถูกกำหนดนโยบายโดยรัฐทั้งเรื่องมาตรฐานการบริการและความปลอดภัย เพราะเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวคาดหวัง

“ชุมชนต้องขออนุญาตจากทางการก่อนจึงจะเปิดโฮมสเตย์ได้ เราจึงนำข้อดีนี้มาใส่ไว้ในงานวิจัย สกว. และสร้างมาตรฐานร่วมกันก่อนส่งมอบให้กลุ่มยุทธศาสตร์ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยโครงการสร้างเส้นทางท่องเที่ยวจากเกาะสมุยสู่ปีนัง หวังจะให้มีจุดแวะพักที่ตลาดริมน้ำคลองแดนและเปอร์ลิสเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของสองประเทศไว้ด้วยกัน” ดร.ปรัชญากรณ์กล่าว

เป็นอีกพื้นที่การท่องเที่ยวที่เชื้อเชิญนักท่องเที่ยวให้ได้ไปสัมผัสเรียนรู้วิถีชุมชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image