‘พาโลมากลับมาผ่านหน้าบ้าน’ สร้างบ้านปลา ธนาคารปู ภารกิจฟื้นลุ่มน้ำบางปะกง

‘พาโลมากลับมาผ่านหน้าบ้าน’ สร้างบ้านปลา ธนาคารปู ภารกิจฟื้นลุ่มน้ำบางปะกง

‘พาโลมากลับมาผ่านหน้าบ้าน’
สร้างบ้านปลา ธนาคารปู
ภารกิจฟื้นลุ่มน้ำบางปะกง

“โลมาไม่เข้ามาในพื้นที่ เนื่องจากไม่มีอาหารของมัน คือ ปลาดุกทะเล เกิดจากการขาดแคลนปลาขนาดเล็ก เป็นผลกระทบจากปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ที่หน้าดินเลนมีขยะ น้ำเสีย สัตว์เล็กอยู่ไม่ได้ ตายไป สัตว์โตก็หนีไปหากินที่อื่น”

คือเสียงสะท้อนจากชาวบ้าน ถึงภารกิจสำคัญ ‘พาโลมากลับมาผ่านหน้าบ้าน’ หลักฐานสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ ชาวชุมชนบ้านบน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ต่อการเผชิญปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จากมุมมองของคนปลายน้ำ ที่นิยามพื้นที่ของตนดั่ง ‘กระโถน’ รับสารพิษสารพัดที่ลอยมากับน้ำ

จนเกิดพื้นที่ศึกษาธรรมชาติ ‘บ้านปลา ธนาคารปู’ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ธรรมชาติแก้ไขปัญหาธรรมชาติ อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างบ้านปลาจากการสร้างกระโจมไม้ไผ่ และมุงด้วยใบจาก เพื่อสร้างแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งหลบภัย และพื้นที่อนุบาลของสัตว์น้ำขนาดเล็ก ขยายวงจรสัตว์น้ำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ และพลิกฟื้นให้พื้นที่ปลายน้ำแห่งนี้ กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ผ่านการร่วมมือกันตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ส่งเสริมให้เกิดภาพความร่วมมือกันของชุมชนริมลุ่มแม่น้ำบางปะกงทั้งสาย

Advertisement

นำโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หน่วยงานด้านนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม สร้าง ‘บ้านปลา ธนาคารปู’ บนพื้นที่ศึกษาธรรมชาติของชุมชนในลุ่มน้ำบางปะกง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้เกิดเครือข่ายในการร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากร และสร้างความมั่นคงทางรายได้ของชุมชนในลุ่มน้ำบางปะกง

สำหรับโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูฐานทรัพยากรชีวภาพลุ่มน้ำบางปะกงนี้ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม 5 ล้านบาท ดำเนินโครงการ 3 ปี เพื่อดำเนินการตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยพื้นที่ปลายน้ำได้มีการสร้างบ้านปลา ธนาคารปู เพื่อเป็นแหล่งอาศัยและพื้นที่ขยายพันธุ์ให้กับสัตว์น้ำและสัตว์หน้าดิน ทั้งหมดนี้เป็นการบริหารจัดการโดยอาศัยการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพตลอดสายน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรชีวภาพในลุ่มน้ำบางปะกงได้อย่างเท่าเทียมและยั่งยืน

อีกทั้งรวบรวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในพื้นที่โครงการ ผ่านระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย THAILAND BIODIVERSITY INFORMATION FACILITY (TH-BIF) เพื่อให้บริการและเผยแพร่ข้อมูลความหลากหลายของพืช สัตว์ จุลินทรีย์ อันจะเป็นประโยชน์นักเรียน นักศึกษา นักวิจัย และผู้ที่สนใจ รวมถึงใช้เป็นชุดข้อมูลความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพ “ลุ่มน้ำบางปะกงและทุ่งใหญ่สาธารณประโยชน์” ให้ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับประเทศ หรือ ‘แรมซาร์ไซต์’ (Ramsar site) ต่อไป

Advertisement

เหตุเกิดจาก ‘ความเหลื่อมล้ำ’
ชำแหละกฎหมาย ทำร้าย ‘ประมงพื้นบ้าน’

วิชา นรังรังศรี ประธานกรรมการมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย เผยถึงปัญหาที่พบในพื้นที่ คือ ‘ความเหลื่อมล้ำ’
ความเหลื่อมล้ำแรก คือ การเข้าถึงทรัพยากร หรือความเป็นธรรม เบื้องต้น เราจะเห็นว่าประชาชนทั่วไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรเบื้องต้นได้ตั้งแต่กระบวนการแรก การจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่างๆ หากไม่ได้มีความจริงใจหรือเปิดกระบวนการจัดการกระบวนการ เขาก็ไม่ได้รับเสียงสะท้อนของประชาชนที่ออกมาอย่างชัดเจน

อาทิ เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย บางทีมันค่อนข้างรุนแรงกับคนในพื้นที่ ในขณะที่กฎหมายเดียวกันอาจจะไปผ่อนปรน หรือมีช่องว่างให้กับคนที่มีองค์กร ทนายความส่วนตัว เขาก็จะหลุดจากช่องเหล่านั้นได้ แล้วสิ่งเหล่านี้เมื่อมันเกิดขึ้นซ้ำๆ มันก็ทำให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจ ที่ว่าทำไมตัวเขาทำไม่ได้ แต่คนอื่นทำได้ ซึ่งมันจะทำให้ชุมชนถอยออกไปจากหน่วยงานของรัฐ ที่พยายามจะเข้ามาแก้ปัญหา บางหน่วยงานที่ตั้งใจเข้ามาแก้ปัญหาจริงๆ ก็จะไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร เนื่องจากเขาเจ็บช้ำกับกระบวนการที่มันเกิดขึ้น

ถ้าเป็นกฎหมายบางอย่าง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการทำประมงในอดีต มันก็จะมีกฎหมายหลายอย่างที่ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่สามารถประกอบอาชีพนั้นได้อีก ทั้งเครื่องมือหลายอย่างที่กลายเป็นเครื่องมือที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้มันถูกใช้มาอย่างยาวนาน ยังชีพ เลี้ยงลูกมาได้ ด้วยอาชีพและเครื่องมือที่เป็นแบบนี้ แต่วันดีคืนดีนักวิชาการเข้ามาศึกษา วิจัยว่าเครื่องมือเหล่านี้ทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วก็ออกกฎหมายออกมาทำให้เครื่องมือที่เคยใช้ มันไม่สามารถทำได้ เมื่อไม่สามารถทำได้แล้วทางออกของเขาอยู่ไหน ก็ไม่มีทางออกให้กับชาวบ้าน

“ในขณะที่กฎหมายที่บอกว่ามีการใช้ทรัพยากร แล้วจะทำให้ดีขึ้นมันก็ไม่ดีจริง ขณะเดียวกันถ้าเรามองย้อนกลับไปก่อนที่เราจะมีกฎหมาย ทำไมการทำมาหากินเขายังทำได้ปกติ โดยที่ทรัพยากรไม่ได้ขาดแคลน แต่เมื่อวันหนึ่งมีกฎหมายออกมายุบยับไปหมด ทรัพยากรมันกลับไม่มี

เจตนากฎหมายอาจจะออกมาดี ในการดูแลทรัพยากร แต่อาจจะไม่ได้มองถึงการใช้ประโยชน์ร่วม หมายถึง ทรัพยากรสาธารณะมันเป็นไปเพื่อการใช้ประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่อยู่แล้ว แต่มันไม่ได้มีแนวทาง หรือกระบวนการที่ชัดเจนว่าเราจะใช้กันอย่างไร พอกฎหมายออกมาก็ทำให้คนรู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นธรรม มันขาดกระบวนการใช้หรือทางออกให้เขาปฏิบัติ มันมีแต่ข้อห้ามเต็มไปหมด มันไม่ได้มีข้อที่บอกว่าสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง” ประธานกรรมการมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย เปิดใจ

บ้านปลา ธนาคารปู
เทคนิคฟื้นฟูด้วยภูมิปัญญา

จากนั้น วิชา กล่าวถึง ‘เครื่องมือ’ คือ การใช้ nature based solutions มันคือการแก้ปัญหาธรรมชาติโดยใช้ธรรมชาติ ถ้าให้ตีความง่ายๆ มันคือการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างเช่นเรื่องการจับปลา ชาวบ้านเขามีภูมิปัญญาเรื่องการจับสัตว์น้ำอยู่แล้ว มีเรื่องของการคิดเครื่องมือบางอย่างเพื่อให้เขายังชีพ นี่คือสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว แต่พอเราถูกบังคับด้วยกติกาหลายอย่าง จนไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ มันก็เกิดเป็นปัญหาของเขา เรื่องการสูญเสียแผ่นดินริมแม่น้ำ เราก็ใช้วิธีแก้ปัญหาโดยโครงสร้างแข็ง (การใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม) ซึ่งบางพื้นที่ถ้าเราไปทำ มันก็จะส่งผลกระทบไปเรื่อยๆ เป็นลูกโซ่ เหมือนกับลิงแก้แหที่ไม่รู้จบ
“ขณะเดียวกันชาวบ้านที่ประสบปัญหาในอดีต เขาก็มีวิธีแก้ปัญหาโดยการสร้างซั้ง (บ้านปลา) ชะลอความรุนแรงของน้ำ โดยใช้ธรรมชาติเข้ามาแทนที่ ถึงแม้มันจะต้องใช้ระยะเวลาในการรักษายาวนาน แต่มันเป็นองค์ความรู้ที่มี และไม่ได้ไปลดทอนประสิทธิภาพการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำต่างจากที่เราใช้โครงสร้างวิศกรรมในการแก้ปัญหา มันก็จะทำให้พื้นที่ตรงนั้น สูญเสียแหล่งฟูมฟักแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำไปเลย ซึ่งหากเราจะใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยธรรมชาติ เราต้องมานั่งหารือกันว่าพื้นที่นั้นใหญ่ขนาดไหน ต้องใช้ความร่วมมือจากท้องถิ่น ชุมชน อาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยต้องคุยกันให้ชัดเจน หลังจากนั้นการปฏิบัติก็จะมีต้นแบบในการปฏิบัติเพิ่มขึ้น”

เสียงจาก ‘ลุ่มบางปะกง’
แนะเลิกมอง ‘คนปลายน้ำ’ คือ ‘กระโถน’

วิชา ยังเล่าถึงการต่อสู้ของผู้คนในบริเวณนี้ซึ่งถือเป็น ‘พื้นที่ปลายน้ำ’ ต้องประสบพบเจอปัญหาทุกอย่าง ทั้งการบุกรุก น้ำเสีย การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ เช่น การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมบนพื้นที่นาข้าว ทำให้พื้นที่โดยรอบเสื่อมสภาพ ไม่สามารถดำรงอาชีพเดิมได้ เมื่อเราไม่สามารถจัดพื้นที่ให้โรงงานอุตสาหกรรมอยู่เป็นที่เป็นทาง ควบคุมได้ กระบวนการปล่อยมลพิษ ก็จะมาได้หลากหลายรูปแบบ มาทั้งอากาศ มาทั้งน้ำ ซึ่งเมื่อปะปนมากับน้ำเสีย มันก็จะมีทั้งที่มองเห็นกับสิ่งที่เรามองไม่เห็น แต่หากเรามองเห็น ก็แสดงว่ามันสายไปเสียแล้ว

เมื่อทรัพยากรลดลงก็ทำให้รายได้ของคนในชุมชนลดลงไปด้วย สุดท้ายหลายคนก็ต้องเลิกอาชีพของตนไปทำอย่างอื่น จากที่จะได้ทำงานอยู่บ้าน เป็นอิสระ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แต่เขากลับต้องไปอยู่ในระบบที่ต้องปากกัดตีนถีบ ไม่รู้จะเป็นความผิดใคร แต่ก็จะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรกับพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียง แล้วปัญหาเหล่านี้ก็จะตามมาเรื่อยๆ เหมือนกับทะเลที่เราพูดกันว่า ทะเลเป็นทรัพยากรที่มีค่า ความอุดมสมบูรณ์มีเยอะ แต่ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าเรือจังหวัดหนึ่ง ไปหากินอีกจังหวัดหนึ่ง

หากเราพูดถึงประเทศไทยตอนนี้ สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เราไม่ควรรอ แต่มันเป็นเรื่องที่เราควรทำความเข้าใจให้ได้ว่า ณ วันนี้เรามีทรัพยากรเหลืออยู่ในประเทศไทยเท่าไหร่ เราไม่เคยมีคำตอบ เราต้องหาคำตอบนี้ให้ได้ เราเหลือทรัพยากรสาธารณะที่อยู่ในธรรมชาติเท่าไหร่กันแน่ ถ้าเรายังใช้กันแบบนี้อยู่ เราจะใช้ได้กี่ปี แล้วเราจะต้องฟื้นฟูอะไรบ้าง ที่จะทำให้ทรัพยากรเหล่านั้นมันเพิ่มขึ้นมา เราต้องพูดตรงๆ ไม่พูดอ้อมๆ เหมือนโครงการนั้นโครงการนี้ เราต้องเอาให้ชัด

“ที่ผ่านมาผมไม่เห็นนโยบายของรัฐบาลไหน พูดเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนตอนหาเสียงเลย ไม่ว่าจะเป็นพรรคดัง ไม่ดัง ผมไม่เคยเห็นคนไหนที่ออกมาพูดว่าถ้าผมได้เป็นรัฐบาล ผมจะแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร ไม่มีนโยบายใดๆ ทั้งสิ้นเลย ไม่รู้พูดเรื่องอะไร แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่มีอะไรที่จับต้องได้เป็นรูปธรรม ไม่เหมือนตอนแจกเงิน” วิชาตั้งข้อสังเกตต่อภาครัฐ

สิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมันค่อนข้างวังเวงเหมือนกัน ในวันข้างหน้าอยากเห็นภาคการเมืองตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม เกิดการขับเคลื่อนนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อม นโยบายเรื่องการฟื้นฟูทรัพยากรสาธารณะฟื้นฟูขึ้นมา และจับต้องได้ ผมไม่เห็นความชัดเจนที่ออกมา

“ในฐานะที่เราอยู่ปลายน้ำ อยากส่งเสียงว่า คนไทยที่อยู่ติดแม่น้ำต้องเลิกมองว่าเราเป็นกระโถน เหมือนกับที่อยู่ในแผ่นดินมองแม่น้ำเป็นกระโถน อาจจะมองแบบไม่ได้ตั้งใจก็ได้ คือ ทิ้งทุกอย่างที่มี ทิ้งทุกอย่างที่ไม่ได้ใช้ลงสู่แหล่งน้ำ แล้วก็ให้แหล่งน้ำฟื้นฟู บำบัดจัดการตัวเอง ซึ่งความเป็นจริงมันไม่สามารถทำได้แล้วในปัจจุบัน เพราะเราทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง จนเกินความสามารถที่มันจะฟื้นฟูตัวได้ อยากให้คนที่อยู่บนแผ่นดิน หรืออยู่สูงจากต้นน้ำ กลางน้ำ ให้ตระหนักถึงการปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ มันจะส่งผลกระทบต่อคนที่อยู่ปลายน้ำ ที่เขาต้องพึ่งพาทรัพยากรของเขาเพื่อเอามาเป็นรายได้ ยังชีพ หรือเลี้ยงดูครอบครัว”

“ประเทศชาติต้องขับเคลื่อนจากคนที่มีรายได้น้อยขึ้นไป ไม่สามารถจะขับเคลื่อนจากคนที่มีรายได้มาก เพราะว่าเราไม่ได้อยู่ในระบบที่รับเงินเดือนทุกคน เรายังมีอาชีพอื่นๆ ที่ไม่มีเงินเดือน แต่ต้องพึ่งพาทรัพยากรเหล่านี้เป็นเรื่องรายได้ อยากให้นึกถึงคนกลุ่มนี้เยอะๆ”

สผ.ย้ำนิยามความยั่งยืน
‘ก่อนถึงจุดหวนกลับไม่ได้’

จิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการ สผ. พูดถึงความตั้งใจต่อโครงการนี้ว่า เราเชื่อว่าทุกคนต้องช่วยกัน เพราะทุกคนสร้างมลพิษให้กับโลก เพราะทุกคนบริโภคทรัพยากรของโลก ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องคืนให้กับโลกบ้าง แต่จริงๆ การคืน ไม่ได้คืนแค่ตัวเรา แต่เราคืนสภาพเพื่อคนรุ่นลูก รุ่นหลาน วันนี้ที่เราทำ nature based solutions มันอาจจะเห็นผลช้า ไม่ได้ลงมือแล้วปุบปับ แก้ปัญหาให้หายได้เลย แต่อันนี้เป็นการคืนอย่างยั่งยืน ใช้ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ แล้วเราเชื่อว่าเมื่อคืนทรัพยากรกลับมาแล้วจะดีกว่า เราทำเพื่อลูกหลานเรา เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง

“เมื่อสร้างรายได้ให้คนในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เขาก็มีกำลังที่จะมาดูแลทรัพยากรมากขึ้น เขาไม่ต้องไปอยู่โรงงาน เขาไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน ความสุขในครอบครัวก็ตามมา ถ้าท่านมีตังค์ ท่านมีโรงเรียนใกล้บ้าน ไม่มีใครอยากทิ้งลูก ทิ้งพ่อ แม่ ทิ้งครอบครอบครัว ไปทำงานในเมืองใหญ่ ถ้าเขาอยู่อย่างมีความสุข ในพื้นที่ของเขา เขาจะไม่มีการย้ายถิ่น แต่พอคนย้ายเข้าไปอยู่ในเมืองก็ต้องไปแย่งใช้ทรัพยากรในเมือง ถามว่าถ้าหากเราทำให้ทรัพยากรตรงนี้สมบูรณ์ เขามีกิน เขาอยู่ได้อย่างมีความสุข จะมีหลายอย่างดีๆ ตามมา” จิรวัฒน์เผยความรู้สึก

จิรวัฒน์ได้ให้นิยามต่อ ‘ความยั่งยืน’ ความยั่งยืนคือ การที่เรา ครอบครัวเรา สามารถอยู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุข อากาศดี มีอาหารดีรับประทานที่ไม่เป็นพิษ ร่างกายแข็งแรง เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราเจออยู่ทุกวัน แต่ตอนนี้มันเริ่มวิกฤตแล้ว เราต้องตระหนักเรื่องนี้และลงมือช่วยกัน ก่อนที่จะถึงจุดที่มันหวนกลับมาไม่ได้

เมื่อ ‘โลมาผ่านหน้าบ้าน’
คือหลักฐานชี้วัดความอุดมสมบูรณ์

ด้าน กชพงศ์ ทองบุญนะ นิสิตอาสา ม.บูรพา และวิทยากรประจำบ้านปลาธนาคารปู เยาวชนรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นจากการเป็นนิสิตฝึกงาน โครงการบ้านปลาธนาคารปู เห็นความตั้งใจของคนในพื้นที่ จนผันตัวขออาสามาทำงานวิทยากรในการให้ความรู้กับทุกคนที่จะเข้ามาศึกษาในบ้านปลาธนาคารปูของเรา และเป็นคนที่ซัพพอร์ตคนที่ลงไปปฏิบัติ ในการทำบ้านปลาธนาคารปู

“เป้าหมายสูงจุดที่เราตั้งใจไว้แต่แรก คือ การพาโลมากลับบ้าน ถ้าถึงช่วงที่เราต้องรับช่วงต่อ เราก็จะขยายในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ หลากหลาย ซึ่งหากเป็นไปได้อยากจะให้โลมาไปลึกถึงวัดโสธรเลย”

กชพงศ์เล่าย้อนกลับไปว่า โลมาไม่เข้ามาในพื้นที่เนื่องจาก มันไม่มีอาหารของมัน คือ ปลาดุกทะเลเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งเกิดจากการขาดแคลนปลาขนาดเล็ก เป็นผลกระทบจากทรัพยากรธรรมชาติ ที่หน้าดินเลนมีขยะ น้ำเสีย สัตว์เล็กอยู่ไม่ได้ ตายไป สัตว์โตก็หนีไปหากินที่อื่น โลมาเป็นห่วงโซ่อาหารสูงสุด เลยเข้ามาในพื้นที่ เราจึงต้องเข้ามาพลิกฟื้นพื้นที่แห่งนี้จนสมบูรณ์อีกครั้ง และโลมาก็กลับมา ซึ่งจะสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวสำหรับเยี่ยมชมโลมา สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่อีกด้วย

เราจะประสานเชื่อมโยงเด็กในพื้นที่ ให้ได้เข้ามาทำกิจกรรม สร้างจิตสำนึก หรือความประทับใจให้กับน้องเยาวชนให้ตระหนักถึงการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สร้างกิจกรรมเรียนรู้ให้ทุกคนได้มาแสดงศักยภาพ ทำให้ทุกคนได้มีบทบาทอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้

กชพงศ์แสดงมุมมองว่า ความยั่งยืนทางอาหารและความยั่งยืนของทรัพยการธรรมชาติที่จำเป็นต่อมนุษย์ เพราะแม้สังคมโลกจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สุดท้ายแล้วมนุษย์ก็ยังคงต้องการอาหารอยู่ดี ฉะนั้นการที่เราดูแลทรัพยากรธรรมเหล่านี้ สิ่งสำคัญคือ การทำให้อาหาร หรือแหล่งเสบียงมนุษย์อยู่ต่อไปได้ ถ้าไม่มีอาหาร มนุษย์ก็อยู่ไม่ได้ อาหารไม่ใช่แค่ความยั่งยืนของชุมชน แต่มันคือความยั่งยืนของมนุษยชาติ

การกลับมาของ ‘ปลาดุกทะเล’
สู่การกลับมาของ ‘โลมา’

มลิสุวรรณ พิสุทธิธัญรักษณ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านบน ชุมชนลุ่มแม่น้ำบางปะกง เผยประสบการณ์การต่อสู้ของคนที่อยู่พื้นที่ปลายน้ำว่า ในอดีตมีการใช้ยาฆ่าหญ้า เวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต สารเคมีก็ลอยมา ทำให้ปลาตาย เดิมไม่รู้ว่าต้นเหตุมันเกิดขึ้นตรงไหน แต่ทุกอย่างมันทะลุทะลวงลงมาที่ปลายน้ำกันหมด เหมือนกระโถนที่รับทุกอย่าง

ภายหลัง เมื่อมีการประชุมกันเรื่องสิ่งแวดล้อมบ่อยขึ้น เดินหน้าดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อความยั่งยืน ความอุดมสมบูรณ์ก็เริ่มกลับมา

การสร้างบ้านปลาธนาคารปูเป็นภูมิปัญญา ช่วยเป็นที่อยู่อาศัยและหลบอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นการดูแลห่วงโซ่อาหารให้อุดมสมบูรณ์ ผลพวงจากการฟื้นฟูยืนยันได้จากการที่โลมากลับเข้ามา ผ่านหน้าบ้านเรา ซึ่งโลมาหายไปจากพื้นที่ตั้งแต่ปี 2550 จนปี 2557 ที่เข้ามาดูแลแม่น้ำสายนี้ เพราะเมื่อสัตว์วัยอ่อนสมบูรณ์ ปลาดุกทะเลเข้ามา และโลมาเข้ามากินปลาดุกทะเล เป็นทางที่เขาอยู่ร่วมกันบนความหลากหลาย และอุดมสมบูรณ์

“อยากให้ทุกคนตระหนักรักพื้นที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ตรงไหน ไม่ว่าจะเป็นบก ป่า น้ำ แม้กระทั่งภูเขา หันมาใส่ใจหน่อย ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ทำแม่น้ำสกปรก ไม่ทิ้งขยะลงบนถนน ควบคุมมลพิษ เราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้หมด เป็นเรื่องที่เราไม่ต้องใช้เงิน ใช้เพียงแค่ใจ ศรัทธา รักประเทศของเรา”

ทำอย่างไรให้วันหนึ่ง เราจะไม่ต้องไปซื้ออากาศหายใจ

ภูษิต ภูมีคำ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image