ปราสาทพนมรุ้ง และจารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง พระราชนิพนธ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ปราสาทพนมรุ้ง
และจารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง
พระราชนิพนธ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ไปทัศนศึกษาปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2520

มหาวิทยาลัยศิลปากรจะนำวิทยานิพนธ์ เรื่อง จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งข้าพเจ้าเขียนขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก ภาควิชาภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2521 มาจัดพิมพ์ เนื่องในโอกาสครบ 80 ปี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ.2566

แต่ข้าพเจ้าคิดว่า ความรู้ด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ รวมทั้งประติมานวิทยาที่เกี่ยวกับปราสาทพนมรุ้งในบทนำของวิทยานิพนธ์นั้น ได้มาจากหลักฐานที่พบมาก่อนที่ข้าพเจ้าจะทำวิทยานิพนธ์ และหลังจากที่เสนอวิทยานิพนธ์แล้วจนถึงปัจจุบัน มีการพบหลักฐานใหม่ที่ทำให้ความรู้ด้านต่างๆ ดังกล่าว ก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก ข้าพเจ้าจึงได้ปรับปรุงเนื้อหาเดิม เพิ่มเติมความรู้ปัจจุบันในบทนำของวิทยานิพนธ์ และนำเสนอไว้ในตอนที่ 1

ส่วนบทที่ 2 จารึกภาษาเขมรโบราณ และบทที่ 3 จารึกภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของวิทยานิพนธ์ ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบคำอ่านและคำแปลจารึกอีกครั้ง จากภาพถ่ายสำเนาจารึกและภาพถ่ายตัวศิลาจารึก ทำให้มองเห็นตัวอักษรในจารึกชัดเจนขึ้นกว่าเดิม (เมื่อครั้งทำวิทยานิพนธ์อ่านจากแผ่นสำเนาจารึกเท่านั้น) และได้พบว่าบางแห่งที่เดิมนั้นตัวอักษรไม่ชัดเจนอ่านไม่ได้ ก็มองเห็นชัดเจนขึ้นและอ่านได้ บางแห่งคำอ่านเดิมต้องปรับแก้ตัวอักษรให้ตรงตามจารึก ทำให้ทั้งคำอ่านและคำแปลต้องปรับแก้ตามไปด้วย โดยการปรับแก้นั้นยังคงรักษาคำอ่านและคำแปลเดิมในวิทยานิพนธ์ไว้ทั้งหมด ส่วนใดที่มีปรับแก้จะนำเสนอไว้ที่เชิงอรรถของส่วนนั้นๆ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นว่าคำอ่านและคำแปลเดิมในวิทยานิพนธ์เป็นอย่างไร คำอ่านและคำแปลที่ปรับแก้ต่างจากเดิมอย่างไร ซึ่งเนื้อหาในส่วนนี้ทั้งหมดได้นำเสนอไว้ในตอนที่ 2

Advertisement

สำหรับบทสรุปในวิทยานิพนธ์ คือ ผลการอ่านและแปลจารึก นำมาเสนอไว้ในบทสรุปของตอนที่ 2 โดยนำข้อคิดเห็นหรือข้อสันนิษฐานต่างๆ ของข้าพเจ้าทั้งหมด ซึ่งเดิมเขียนไว้ตามเชิงอรรถของบทนำและบทอื่นๆ ในวิทยานิพนธ์มารวมไว้ด้วย นอกจากนี้ยังได้นำข้อมูลหลักฐานทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะและประติมานวิทยาที่นำเสนอไว้ในตอนที่ 1 บางเรื่อง มาใช้เป็นหลักฐานสนับสนุนข้อคิดเห็นและข้อสันนิษฐานต่างๆ ที่ข้าพเจ้าเสนอไว้ในบทสรุปของตอนที่ 2 ด้วย

อนึ่ง หลังจากที่ข้าพเจ้าเสนอวิทยานิพนธ์แล้ว ในช่วงปี พ.ศ.2542-2543 ข้าพเจ้าได้อ่านและแปลจารึกปราสาทพนมรุ้งที่พบเพิ่มภายหลังอีก 2 หลัก คือ จารึกปราสาทพนมรุ้ง 3 (บร.18) และจารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 8 (บร.14) โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อุไรศรี วรศะริน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา เป็นที่ปรึกษา และได้พบว่าเนื้อหาในจารึกทั้ง 2 หลักนั้น เกี่ยวข้องกับข้อมูลในจารึกปราสาทพนมรุ้งที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาไว้ในวิทยานิพนธ์ จึงนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มเติมไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย แต่ไม่ได้นำคำอ่านและคำแปลทั้งหมดมาพิมพ์รวมไว้ เพราะไม่มีเวลาที่จะทบทวนตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งก่อน

ดังนั้น เมื่อได้ปรับปรุงแก้ไขบทต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น ทำให้เนื้อหาแตกต่างไปจากต้นฉบับวิทยานิพนธ์ ข้าพเจ้าจึงตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า ปราสาทพนมรุ้งและจารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง และขอขอบคุณมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ได้ดำเนินการจัดพิมพ์เผยแพร่ รวมทั้งขอบคุณกรมศิลปากรที่ช่วยอนุเคราะห์ภาพถ่ายปราสาทพนมรุ้งและภาพถ่ายจารึกที่ใช้ประกอบในหนังสือเล่มนี้

Advertisement

[จากพระราชนิพนธ์ฯ คำนำหนังสือ]

ปราสาทพนมรุ้ง
“ส่วนการก่อสร้างปราสาทประธาน ระเบียงคต สะพานนาค และทางเดิน ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างในศิลปะแบบนครวัด อายุราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 17
———-
ส่วนข้าพเจ้าเมื่อได้อ่านและแปลจารึกภาษาสันสกฤต K.384 และ K.384 bis แล้ว ทำให้ทราบว่าจารึก K.384 และ K.384 bis เป็นจารึกหลักเดียวกันโดยไม่มีข้อสงสัย และเป็นจารึกสรรเสริญ ‘นเรนทราทิตย์’ ผู้ทรงเป็นพระญาติสนิทของพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 และเป็นนักรบผู้เก่งกาจกล้าหาญแห่งกองทัพของพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ด้วย ภายหลังทรงสละทางโลกออกผนวชทรงพรตอยู่ ณ ปราสาทพนมรุ้ง

เนื้อความในจารึกสรรเสริญ ‘นเรนทราทิตย์’ ว่า ทรงมีความงาม แม้แต่กามเทพ ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งความงามยังด้อยกว่าพระองค์ ทรงเป็นกวีเหนือกวี ทรงเป็นนักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญในคัมภีร์ทั้งปวง ทรงเป็นนักรบที่กล้าหาญและมีความสามารถในการรบ ทรงเป็นผู้แก่กล้าในพรต ทรงปฏิบัติโยคะจนบรรลุความรู้สูงสุด หรือบรรลุความเป็นหนึ่งเดียวกับปรมาตมันหรือพรหมัน

แต่ก็ไม่พบข้อความในจารึกบทใดที่จะนำไปสู่ข้อสันนิษฐานได้ว่า ‘นเรนทราทิตย์’ เป็นผู้สร้างปราสาทพนมรุ้ง แม้ข้อความในจารึกบางบทจะกล่าวถึงสิ่งของต่างๆ ที่ ‘นเรนทราทิตย์’ ถวายแด่ศาสนสถานและทวยเทพแห่งเขาพนมรุ้ง แต่ข้อความในบางบทตอนท้ายๆ ของจารึกก็ทำให้ทราบว่า ผู้ที่แต่งจารึกสรรเสริญ ‘นเรนทราทิตย์’ หลักนี้ คือ หิรัณยะ ซึ่งเป็นโอรสและศิษย์ของ ‘นเรนทราทิตย์’ ด้วยนั้น ก็ได้ถวายสิ่งของต่างๆ แด่ ศาสนสถานแห่งนี้เช่นกัน และยังได้สร้างรูปพระบิดาด้วยทองคำในรูปองค์พระศิวะด้วย

ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ระบุในที่นี้ว่า ใครเป็นผู้สร้างปราสาทประธานของปราสาทพนมรุ้ง แต่ขอสรุปเพียงว่า ปราสาทพนมรุ้งเป็นสถานที่บำเพ็ญพรตของ ‘นเรนทราทิตย์’ ในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 17”

มหาวิทยาลัยศิลปากร
จัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี เรื่อง
ปราสาทพนมรุ้งและจารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง
โดยจะมอบให้ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และองค์กรด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี
ติดต่อได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยศิลปากร
เลขที่ 22 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170
โทรศัพท์ 0-2849-7564 แฟกซ์ 0-2849-7563
อีเมล์ [email protected]

[มหาวิทยาลัยจะจัดทำ e-book และจัดพิมพ์เป็นหนังสือปกอ่อนเผยแพร่]

ปราสาทพนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์
ศิวนาฏราช หน้าบันปราสาทพนมรุ้ง

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ กลับไทย

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ อายุราว พ.ศ.1650 สหรัฐส่งคืนไทยสืบเนื่องจากพลังการทวงคืนของคนไทยในไทยและคนไทยในสหรัฐ พ.ศ.2531 ถูกนำไปติดตั้งไว้ที่เดิมโดยวางทับบนหลังของกรอบประตูทางเข้ามณฑปทิศตะวันออกของปรางค์ประธานปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ (ภาพจากหนังสือ ปราสาทพนมรุ้ง ของกรมศิลปากร พิมพ์ พ.ศ.2543)

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ปราสาทพนมรุ้ง ถูกลักลอบขนย้ายไปสหรัฐอเมริการาว พ.ศ.2508 ต่อมาจัดแสดงอยู่ในสถาบันศิลปะแห่งชาติชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา พ.ศ.2516

กรมศิลปากร (ทำหนังสือผ่านกระทรวงการต่างประเทศ) ทวงคืนทับหลัง ระหว่าง พ.ศ.2516-2521 แต่ไม่เป็นผล และไม่ได้คืน

คณะกรรมาธิการวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของสภาผู้แทนราษฎร รื้อฟื้นการทวงคืนทับหลังจากสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2531 แต่ไม่เป็นผล และไม่ได้คืน

สื่อมวลชนไทยและนานาชาติเสนอข่าวทั่วโลก ชาวไทยในสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะคนไทยในเมืองชิคาโกเป็นกลุ่มหลักทำหนังสือเรียกร้องและเดินขบวนในเมืองชิคาโก เพื่อทวงคืนทับหลัง ขณะเดียวกันติดต่อประสานงานกับกรมศิลปากร ขอให้ส่งผู้แทนไปร่วมการไต่สวนสาธารณะกับคณะกรรมการเมืองชิคาโก

ในที่สุดมีความเคลื่อนไหวไกล่เกลี่ยเป็นภายใน จนสถาบันศิลปะฯยอมเปลี่ยนการครอบครองแล้วมีการส่งคืนให้ไทย

ดังนั้น คนไทยเมืองชิคาโกและในสหรัฐอเมริกาในช่วง พ.ศ.2531 เป็นพลังสำคัญกดดันจนได้คืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image