‘ขอจดจำวันเฉลิม’ 4 ปี ยัง ‘มิดซีลี่’ ถึงเวลาหยุดแพตเทิร์นอุ้มหาย ต้องไม่มีรายที่ 10

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

‘ขอจดจำวันเฉลิม’
4 ปี ยัง ‘มิดซีลี่’
ถึงเวลาหยุดแพตเทิร์นอุ้มหาย ต้องไม่มีรายที่ 10

365 วันผ่านไป ไวจนวนมาครบ 4 หน

แต่ความรู้สึกคลุมเครือที่เจือปนไปด้วยความแคลงใจ ยังฝังอยู่ในหัวอกของญาติ คนรัก และคนสนิท

เพราะชีวิตของผู้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ค่อยๆ หายสาบสูญไปจากสายตา ทีละราย ทีละราย…

Advertisement

คดียังไม่มีความคืบหน้า การเสาะหามือคลุมถุงดำ ลอบอุ้มไปสังหารในยามวิกาล ยังไม่ได้ข้อสรุป

เคสของ ‘ต้าร์’ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยหลังการรัฐประหารปี 2557 ที่ถูกบังคับให้สูญหาย ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา วนมาบรรจบครบ 4 ปี

แม้จะมีหลักฐานกล้องวงจรปิด จับให้เห็นรถต้องสงสัยเต็มตา

Advertisement

4 โมงครึ่งของ 4 มิถุนายน 2563 ยังคาสายสนทนาทางไลน์กับพี่สาวที่ไทย

“โอ๊ย หายใจไม่ออก” ก่อนสายจะตัดไป เป็นเสียงท้ายสุดก่อนจะไม่ปรากฏตัวอีก

เย็นย่ำบน ณ SEA Junction บนชั้น 4 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จัดวงสนทนา “คิดฮอดเด้อ: 4 ปี วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ มิดซีลี่” ไล่เรียงส่งเสียงอัพเดตความคืบหน้าด้านคดี

หลังเข้า-ออกหน่วยงานรัฐมากกว่า 10 องค์กร ที่ละไม่ต่ำกว่า 2-3 รอบ ยื่นข้อร้องเรียน ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับน้องชาย ยังต้องเผชิญอุปสรรครายทาง ถูกแจ้ง 2 ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่นับอีก 8 เคสก่อนหน้า ที่หลายฝ่ายต่างก็ลงความเห็นว่าคล้ายกันอย่างกับเป็น ‘แพตเทิร์น’

อาจถึงเวลาที่ต้องรีเทิร์น ดึงคดีที่คั่งค้างมาสาง

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 คือข่าวดี ที่พอจะช่วยป้องปรามให้ไม่มีรายที่ 10

การให้สัตยาบัน เป็นภาคีใน ‘อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED) ก็อาจเป็นอีกตัวไดรฟ์

ให้รัฐไทยที่ใกล้ชิดสนิทกับเพื่อนบ้าน เร่งปิดจ๊อบ หยุดวังวนละเมิดสิทธิมนุษยชน ในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

“กรณีผู้ถูกอุ้มหายทั้ง 9 ราย เราไม่เคยได้รับคำร้องขอให้เข้ามาช่วยเหลือดูแลด้านคดี จึงเป็นข้อจำกัดในการรวบรวมพยานหลักฐาน ให้มีความเป็นแพตเทิร์นได้ แต่เรื่องของวันเฉลิม ต้องยอมรับว่าด้วยแรงพลังของญาติและผู้ใกล้ชิด ทำให้เราไม่มีการอุ้มหายกรณีที่ 10 อีกต่อไป

ในการติดตาม ทั้ง 9 กรณีมีความยากลำบาก เพราะหลบหนีการดำเนินคดีข้อหาร้ายแรง และแม้ว่าญาติจะมีหลักฐาน เป็นเสียงสนทนาในโทรศัพท์ชัดเจน บันทึกเสียง 16 นาที จนไม่มีใครกล้ากล่าวหาว่าเจน (สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาววันเฉลิม) ว่ากุเรื่อง ไม่มีใครปฏิเสธข้อเท็จจริงนี้ แต่ปัจจุบันยังคลุมเครือ ว่าเขายังอยู่ในกัมพูชาหรือไม่

เราไปเริ่มคดีที่ฝั่งนั้น ให้มีการสืบสวนคดี ไปทุกครั้งเราก็หวัง เพราะเขามีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบ และกัมพูชายังมีหน้าที่ในพันธกรณี ในอนุสัญญา ที่ต้องป้องกันไม่ให้มีการถูกบังคับสูญหาย เราหอบหลักฐานกันไปหลายร้อยหน้า ทั้งหมดทั้งมวลเป็นหลักฐานชุดเดียวกับที่นำมามอบให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย

ช่องว่างที่หายไป คือ การร่วมมือกันระหว่างรัฐไทย กับกัมพูชา อัยการบอกว่าไปไม่ได้ เพราะติดโควิด แต่ทำไมเราไปได้ การเดินทางของหัวหน้ารัฐบาลไทยไปกัมพูชา หลังจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ง่ายมาก ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก จะไปแวะกินข้าว ไปไหน-มาไหนง่ายมาก

มีภาพบันทึกวิดีโอ ภาพรถ 2 คัน ยามหน้าคอนโด ที่ถอยหลังเหมือนหวาดกลัว มีบทสัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในกัมพูชา ยังไม่พอสรุปว่าวันเฉลิมหายไปที่ฝั่งกัมพูชาอีกหรือ

ดังนั้น 1.ความคลุมเครือ จากเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ยังเหมือนเดิม ยังไม่มีการระบุชัดเจนว่าอยู่ที่กัมพูชา ทั้งที่ถือพาสปอร์ตกัมพูชา

โดยสรุป การสืบสวนยังล้มเหลว ทำให้สถานะความเป็นวันเฉลิม ยังคลุมเครืออยู่จนบัดนี้

คล้ายกับกรณี ‘บิลลี่’ พอละจี รักจงเจริญ ไม่ว่าพยานหลักฐานจะมีกี่พันหน้า ถ้าไม่มีระบบการพิจารณาที่เป็นอิสระ ความคลุมเครือของผู้สูญหายก็จะยังคงมีต่อไป

เราอยากให้ผู้ลี้ภัยทุกคนได้รับการปฏิบัติเหมือน ‘เสี่ยแป้ง นาโหนด’ ได้รับการติดตามจากสื่อ จนรับรู้ว่าเขาอยู่ไหนในทุกวินาทีตั้งแต่ถูกจับ

การอุ้มหายที่เป็นแพตเทิร์น ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก อย่าลืมเรื่อง ‘ถีบลงเขาเผาลงถังแดง’ หลายบริบท ประเทศเรานิยมออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตัวเอง ซึ่งยังโชคดีที่ ยังไม่มีกฎหมายนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐ ในกรณีนี้

กรณีวันเฉลิม ที่หายตัวไป 4 ปี อาจจะยังมีความสามารถของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ตำรวจ, ดีเอสไอ, อัยการ และฝ่ายปกครอง ทั้ง 4 หน่วยงาน ในการค้นหาความจริง

รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ จริงๆ ไม่ยาก นัดกินข้าวแป๊บเดียวได้ เจอกันได้ ความร่วมมือในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา สำคัญขนาดนี้ ไม่น่ายากสำหรับรัฐบาลประชาธิปไตย

การบังคับบุคคลสูญหาย ทำไม่ได้ถ้าน้อยกว่า 5 คน ซึ่งประเด็นสำคัญที่เราต้องก้าวข้ามไปให้ได้ คือ ‘ความกลัว’ เพราะสิ่งแรกที่คนใกล้ชิดทำ ไม่ใช่การรวบรวมพยานหลักฐาน แต่เป็นการลบและทิ้งพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปให้หมด อันเนื่องมาจากความหวาดกลัว ต้องฝ่าฟันความกลัวออกมาเรียกร้องสิทธิ ให้แก่ตัวเองและคนอื่น

กว่า 9 ปีของรัฐประหาร ปี 2557 สร้างให้เกิดระบบการตรวจสอบรัฐบาล ที่ล้มเหลว

ทั้งนี้ คณะกรรมการดำเนินการจนได้ข้อเท็จจริง 200-300 หน้า ซึ่งเรายังไม่เห็นในรายละเอียด แต่อย่างน้อยจะมีการเผยแพร่รายงานที่สำคัญ

การค้นหาความจริงไม่ง่ายเลย รายงานที่สรุป จะเผยแพร่ 10 มิถุนายน 2567 เราพบว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ทำงานด้วยความยากลำบาก ต้องขอบคุณ คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ริเริ่มเป็นผู้ร้องเรียนทั้ง 9 กรณี จนมีข้อสรุปว่ามีความล่าช้า และความล่าช้า ยังนับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

ทั้ง 9 คน เข้าข่ายการอุ้มหาย ตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย รายละเอียดของรายงานฉบับนี้ น่าจะทำให้มั่นใจได้ว่า ความรับผิดชอบเกิดขึ้นแล้ว ที่สำคัญยังน่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ที่หวังว่านักการเมือง รมว.ยุติธรรม ที่ไปรับเสี่ยแป้งกลับมา มีหน้าที่สำคัญที่จะทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถูกบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ

การที่ญาติต้องทนทุกข์กับการค้นหาความจริง หรือทำใจ มันคือการทรมาน ตามกฎบัตร อีกประการที่ไทยได้ลงนามและเป็นสมาชิกอยู่

อีกบทบาทของ กสม. คือ รายงานของ กสม. ที่จะถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานมาเกี่ยวข้องด้วย ทั้ง อัยการ ดีเอสไอ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฝ่ายปกครอง

กสม.ระบุว่า มีพยานและหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่า มีการอุ้มหาย ทราบว่ารายงานฉบับนี้มีการลงนามแล้ว รวมถึงอยากเรียกร้องเสรีภาพสื่อ เพื่อป้องปรามไม่ให้มีการบังคับใช้มาตรการเช่นนี้อีกในประเทศไทย

เป็นข่าวดีที่คดีในกัมพูชา ยังไม่ปิด เป็นเรื่องดีที่เราจะขอความร่วมมือระหว่างประเทศอีกครั้ง

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ เจน
พี่สาว

“อุปสรรคแรกของญาติ คือ หน่วยงานของรัฐ ที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ตำรวจไทยไม่รับแจ้งความ ซึ่งเราเคยเจอมาแล้ว บอกว่าหายที่กัมพูชา ต้องไปตามกับกัมพูชา

กระบวนการยุติธรรมไทยเข้าถึงยากมาก โดยเฉพาะชาวบ้าน เอาง่ายๆ ชาวบางกลอย ยังไม่ได้รับความยุติธรรมเลย แต่ในเคสของเราเป็นเคสที่ดังมาก เจ้าหน้าที่รัฐไม่ทำอะไร อึมครึม กองปราบเดินหนี อยากไปก็ไป เขาพูดแบบนี้ ทั้งที่เราไม่ใช่ผู้ร้าย แต่พอเขามาหาเรา กลับขับรถติดตามอย่างดี

ฮุนเซน มากินข้าวที่ไทย บินไป-บินมา บ้านทักษิณก็แค่ปากซอย แต่ไปบ้านจันทร์ส่องหล้า ตำรวจมาเลย บอกว่าเราเป็นภัยความมั่นคงต่อประเทศ แค่จะไปยื่นหนังสือที่บ้านจันทร์ส่องหล้า อาจจะไปชูกระดาษ ให้ช่วยตามหาน้อง กลับมีตำรวจ 30 กว่านาย กองร้อยน้ำหวานด้วย มาล้อมเราอย่างกับโจรปล้นแบงก์ เดินไปร้องทุกข์หน่วยงานของรัฐ ก็ไม่เคยได้รับคำตอบ นี่หรือสิ่งที่ทำกับประชาชน

ญาติและคนใกล้ชิด ต้องพยายามก้าวข้ามความกลัว เอกสารที่เกี่ยวข้องกับวันเฉลิม เพื่อนๆ ลบหมด เพราะกลัวจะโดนตามตัว

อุปสรรคคือ รัฐไม่จริงใจในการแก้ปัญหา ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งเหนื่อยและท้อ ในการติดตามคดี

อยากบอกต้าร์นะว่า รู้ไหมทุกวันนี้ต้องเจอกับอะไร แต่เราจะไม่หยุด จะไปต่อจนกว่าจะได้รับความยุติธรรม

เรื่องการเยียวยา ไม่เคยมีหน่วยงานไหนโทรมา ไม่มีหน่วยงานรัฐไหน ที่จะมาคุยกับเราว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งไม่รู้ว่าเราจะได้รับการเยียวยา จะได้รับการขอโทษไหม”

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย

“ประเทศอาร์เจนตินา 45 ปีย้อนหลัง ก็ยังสามารถเอาผิดผู้ที่อุ้มหายมารับโทษได้ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นร้อยคนในยุคเผด็จการ

ผู้ที่มีบทบาทเรียกร้องคืนความยุติธรรมให้ผู้ที่ถูกบังคับสูญหาย เขาใช้ชื่อว่ากลุ่ม Disobedience stories ใช้เวลาต่อเนื่องกันจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกเลย ปรากฏว่า 45 ปีหลังสามารถเอาผิดเผด็จการที่อุ้มหายได้ในประเทศอาร์เจนตินา และเป็นแบบอย่าง กระจายไปในหลายประเทศ

แต่ก็ด้วยการยืนหยัดของครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายต่อเนื่องกัน ก็เลยเอาผิดได้และมีการตั้งศาลพิเศษ

เคสนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ และไทยก็เคยเกิดกรณีคล้ายกันมาก่อน อย่างกรณี หะยีสุหลง ปรากฏว่าคนในตระกูลชุณหะวัณ ก็ได้รู้ความจริงจากพ่อของเขา แล้วมีการออกมาขอโทษ

กรณีนี้ (อุ้มหาย) เป็นกรณีพิเศษ ที่รัฐไทยไม่ยอมเข้ามาสืบสวนคืนความยุติธรรม ไม่ต่างกับผู้ลี้ภัยทั้ง 8 คนโดนอุ้มก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม ปี 2563 ถัดมาเดือนเดียว ต้าร์ ก็โดนอุ้มหาย เป็นรายที่ 9

ผู้ที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและเสรีภาพ ติดคุกติดตะราง วันนี้อานนท์ นำภา ก็ดุเดือด ถึงขั้นถอดเสื้อประท้วง

อยากให้ครอบครัวพูดต่อไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสังคมจะเข้าใจเอง นอกจากนี้ อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมากคือ ปฏิบัติการ IO”

ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข หรือ เทียน
อดีตคนรัก

“คํ าว่า ‘มิดซีลี่’ ในภาษาอีสานแปลว่า เงียบสนิท เงียบสงัด เงียบกริบ มีที่มาจากท่าทีของรัฐบาลไทย

ที่ผ่านมาเงียบพูดเบาๆ หรือบางทีแค่ส่งจดหมายตอบกลับมาที่ พี่เจน (สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์) โดยไม่มีเสียงอะไร จึงฝากเชิญชวน ทุกคนร่วมกันจดจำใบหน้านี้นานๆ แม้ว่าเราจะพยายามส่งเสียงต่อต้านความมิดซีลี่ของรัฐไทยมากแค่ไหน แต่เราจะไม่มิดซีลี่

อยากให้ทุกคนจดจำทั้งใบหน้าเขา และตัวตนของพี่ต้าร์ ในแบบที่เราและพี่เจนต่างก็จดจำได้ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นน้องชายของพี่สาว ความเป็นพี่ชายของน้องๆ อีก 2 คน ความเป็นลูกของแม่ ความเป็นคนรักของใครสักคน เป็นเพื่อนของใครอีกหลายคน

พี่ต้าร์เป็นคนอีสาน เคยทำคลิปการเมือง เป็นภาษาอีสานสำเนียงอุบลฯด้วย

ในสายตาของรัฐ วันเฉลิม อาจจะเป็นผู้ต้องหาคดีทางการเมืองที่ต้องติดตาม คืออะไรก็ตามจนเกิดเหตุการณ์อุ้มหาย

แต่พี่ต้าร์เป็นมากกว่านั้น เป็นนักกิจกรรม เป็นนักเคลื่อนไหวที่ทำหลายประเด็นมาก รวมถึงประเด็นความหลากหลายทางเพศด้วย เดือนนี้เราระลึกถึง จดจำพี่ต้าร์ในหลายๆ มุมอย่างมาก

ถ้าหลับตาแล้วยังจำหน้าเขาได้ เราก็จะขอบคุณมาก และปีหน้าเราจะมาจดจำเขาอีกครั้ง”

สมชาย หอมลออ
กรรมการภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

“อุปสรรคที่ทำให้คดีความของผู้ถูกอุ้มหายไม่คืบหน้า ข้อแรก แม้ว่าเจ้าหน้าที่บางคน เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ที่ต้องมีหน้าที่สอบสวน ซึ่งอาจจะมีบางคนที่ต้องการทำจริงๆ แต่คิดว่าทำได้ยาก

ยาก ถ้ารัฐบาลไม่มีเจตจำนงทางการเมือง ที่จะสั่งให้ดำเนินการสอบสวนอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก

การสอบสวนจะเป็นไปได้ยากมากหากไม่ได้รับความร่วมมือ โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งใน 9 เคสที่ถูกอุ้มหาย มีกรณีที่เกิดขึ้นในไทยด้วย

พยานจะไม่ให้ความร่วมมือ ถ้าเขารู้สึกไม่ปลอดภัย หรือไว้วางใจเจ้าหน้าที่ได้ คิดว่าจดหมายที่ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ (พี่สาววันเฉลิม) ยื่นพรรคเพื่อไทย ก็พูดถึงสิ่งนี้ ขอให้มีการสอบสวนกรณีการอุ้มหายซ้อมทรมาน ทั้ง 9 กรณี

ผมเห็นว่า ‘การอุ้มหาย’ เป็นความผิดต่อเนื่อง แม้จะเพิ่งมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่กรณีวันเฉลิม ยังหายตัวไปอยู่ กฎหมายจึงยังมีผลครอบคลุม

นี่เป็นเรื่องของรัฐบาลเช่นกัน ถ้ารัฐบาลจะทำจริง ก็ทำได้ ทำไมกรณีแป้ง นาโหนด ถึงทำได้ ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลอินโดนีเซีย ทำไมเราจะไม่สามารถได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล ลาว และกัมพูชา บ้าง

ปัจจุบัน การสอบสวนที่ไม่คืบหน้า ผมค่อนข้างเชื่อว่า เกิดจากรัฐบาลยังไม่มีความจริงใจ หรือเจตนารมณ์อย่างแท้จริงในการทำเรื่องนี้

ในส่วนของ ระเบียบการเยียวยา ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ ภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ไปแล้ว ซึ่งจะมีทั้งการเยียวยาด้านเงิน ด้านจิตใจและร่างกาย

ในด้านตัวเงิน ก็เป็นจำนวนพอสมควรที่อาจจะไม่ได้มากถึงล้าน แต่ก็ถือว่าเป็นการเยียวยาที่รัฐบาลจะต้องยอมรับ ว่ามีการอุ้มหาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ตอนนี้ติดอยู่แค่เพียงกระทรวงการคลัง ที่จะเห็นชอบในจำนวนเงิน เชื่อว่าอีกไม่นาน และมีหน่วยงานที่พร้อมรองรับในการประสานงานแล้ว คาดว่าไม่เกิน 1-2 เดือน จะเข้าสู่กระบวนการเยียวยาได้”

อธิษฐาน จันทร์กลม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image