แท็งก์ความคิด : เมื่อคุณมากกว่าโทษ

เมื่อคุณมากกว่าโทษ

เข้ากับบรรยากาศวันออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลกันหน่อย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลโดย นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาเปิดประเด็น การออกสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ

หรือที่เรียกกันติดปากในทันทีว่า “หวยเกษียณ”

Advertisement

รายละเอียดต่างๆ นั้นหลายท่านที่ติดตามข่าวคราวคงรับทราบกันไปแล้ว

ขอสรุปตามที่สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ลง

หวยเกษียณเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจจูงใจให้คนไทยที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ประกันสังคมและแรงงานนอกระบบมีเงินออมหลังเกษียณ

Advertisement

มีเป้าหมายจะจำหน่ายให้เฉพาะกลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 40 และแรงงานนอกระบบในขณะนี้

แต่ต่อไปจะขยายกลุ่มผู้มีสิทธิออกไปอีกหรือไม่คงต้องรอ

หวยเกษียณจะออกทุกวันศุกร์ จำหน่ายใบละ 50 บาท แต่ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน

เงินรางวัลแบ่งเป็น

รางวัลที่ 1 เงิน 1 ล้านบาท จำนวน 5 รางวัล

รางวัลที่ 2 จำนวน 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล

ใครที่ถูกรางวัลสามารถรับเงินได้ทันที โดยเงินที่ซื้อหวยเกษียณจะเก็บเป็นเงินออมในบัญชีเงินออมรายบุคคลที่ผู้ซื้อเปิดกับ กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช.

ส่วนใครที่ซื้อแล้วไม่ถูกรางวัล เงินที่ซื้อก็จะสะสมในบัญชีเงินออมที่เปิดกับ กอช.เช่นกัน

ทั้งนี้ กอช.จะเป็นผู้บริหารจัดการเงินจำนวนดังกล่าว

กระทั่งผู้ซื้อหวยเกษียณอายุครบ 60 ปี จึงจะถอนเงินออมทั้งหมดออกมาได้

การนำเสนอหวยเกษียณเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะเมื่อเสนอออกมา ได้ปรากฏ การขานรับจากหลายฝ่าย

ฝ่ายการเมืองขานรับ กระทั่งแต่ละพรรคแสดงตัวเป็นต้นคิด

ฝ่ายวิชาการก็เห็นด้วย เพราะมองว่าเป็นวิธีการจูงใจให้คนออมเงิน

นี่ยังไม่รวมประชาชนคนนิยมความเสี่ยงที่อยากทดลอง

แสดงว่าหวยเกษียณสามารถตอบโจทย์ของแต่ละฝ่ายได้มาก

สามารถตอบโจทย์ทั้งรัฐบาล นักวิชาการ และประชาชน

รัฐบาลต้องการผลงาน การที่นำเสนอนโยบายที่ประชาชนต้องการ สังคมยอมรับ คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ย่อมเป็นหนทางที่รัฐบาลต้องการ

ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เมื่อรัฐบาลเสนอโอกาสมากขึ้น มีเงินออมที่มั่นคง และมีกิจกรรมที่ได้ลุ้น ย่อมมีความพึงพอใจ

ส่วนนักวิชาการที่ก่อนหน้านี้ คล้ายๆ กับจะเป็นฝ่ายค้านของรัฐบาล แต่สำหรับนโยบายหวยเกษียณกลับมีเสียงสนับสนุน

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงการนี้ตอบโจทย์ผลการศึกษาของนักวิชาการ

เป็นการตอบโจทย์การออม และการแก้ไขปัญหาคนเกษียณอายุแล้วไม่มีเงิน

เป็นโครงการที่มองแล้วเป็นคุณมากกว่าเป็นโทษ ทำให้มีเสียงขานรับ

อย่าลืมว่า เมืองไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย หมายความว่า มีคนแก่มากกว่าคนหนุ่มสาว

ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และพฤติกรรมของคนไทยยุคใหม่ดูแลสุขภาพ ทำให้คนไทยมีอายุขัยยาวนานขึ้น

จากเดิมที่คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยที่ 65 ปี ปัจจุบันขยับเป็น 70 กว่าปี และมีทีท่าว่าอายุขัยเฉลี่ยจะขยับเพิ่มขึ้นไปอีก

แต่ปรากฏว่าคนไทยอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือคนไทยที่เกษียณจากการทำงาน กลับไม่มีเงินใช้จ่าย เพราะที่ผ่านมาไม่ได้เก็บออม หรือเก็บออมน้อยเกินไป

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ให้สัมภาษณ์เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า จากรายงานทางวิชาการหลายแห่งระบุว่า คนเกษียณควรมีเงินเก็บไว้ใช้จ่าย 3-4 ล้านบาทต่อคน

แต่ในความเป็นจริง มีคนทำได้น้อยมาก

หากไปสอบถาม 100 คน ว่ามีเงินฝากพอใช้ตอนเกษียณหรือไม่ จะพบว่า 60-80 คน ตอบว่าไม่พอใช้

นี่เป็นปัญหาที่รัฐบาลชุดปัจจุบันและอนาคตต้องเผชิญหน้า

หนทางแก้ไขกรณีคนเกษียณมีเงินไม่พอใช้นั้นมี 2 วิธี

วิธีที่ 1 รัฐบาลแจกเงินสวัสดิการให้ไปเลย ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลใช้วิธีการนี้อยู่

ผลที่ตามมาคือรัฐบาลมีภาระเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจต้องใช้เงินงบประมาณ 4-7 แสนล้านบาทต่อปี จึงจะเพียงพอ

ส่วนวิธีที่ 2 สนับสนุนให้ประชาชนออมเงิน ซึ่งหวยเกษียณตอบโจทย์วิธีการนี้

แม้คำว่า “หวย” อาจจะฟังแล้วเข้าข่ายอบายมุข แต่สำหรับ “หวยเกษียณ” กลับได้รับการยอมรับ

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะแก่นของ “หวยเกษียณ” คือ “การออมเงิน”

การออมเงิน คือ “การสร้างความมั่นคงให้ชีวิต” ไม่ใช่ “การทำลายชีวิต” เหมือนการเล่นการพนัน

หวยเกษียณเป็นตัวช่วยแก้ปัญหา ไม่ใช่เป็นตัวปัญหา

หวยเกษียณจึงมีแต่เสียงขานรับ แต่กว่าจะดำเนินการได้ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 6 เดือน

6 เดือนนี้ถือเป็นเวลาที่ได้ตรึกตรองอีกครั้งว่า หวยเกษียณให้คุณหรือโทษ

หากให้คุณมากกว่าโทษ เชื่อว่านโยบายนี้จะมีโอกาสได้ใช้ในเร็ววัน

นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image