การศึกษายุคจับมือไว้ ไปด้วยกัน! สมศ. ลุยสร้างกลไกใหญ่ พาอินไซด์ ‘ปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง’ หวังเปลี่ยนอย่างเป็นรูปธรรม

การศึกษายุคจับมือไว้ ไปด้วยกัน! สมศ. ลุยสร้างกลไกใหญ่ พาอินไซด์ ‘ปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง’ หวังเปลี่ยนอย่างเป็นรูปธรรม

การศึกษายุคจับมือไว้ ไปด้วยกัน! สมศ. ลุยสร้างกลไกใหญ่
พาอินไซด์ ‘ปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง’ หวังเปลี่ยนอย่างเป็นรูปธรรม

จะยุคสมัยใด ‘การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ’ ยังคงเป็นวลีที่จริงเสมอ เพราะการศึกษาคือเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ ยิ่งการศึกษามีคุณภาพมาตรฐานเท่าไหร่ โอกาสที่ประเทศไทยจะมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่การจะทราบได้ว่าการศึกษามีคุณภาพมาตรฐานหรือไม่ หรือมีมาตรฐานดีในระดับใด จำเป็นต้องมีการตรวจวัดและประเมินด้วยหลักเกณฑ์ที่น่าเชื่อถือ ทันสมัย และได้มาตรฐานสากล

ดังนั้นจึงเป็นเวลากว่า 23 ปี ที่ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยยกระดับและพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยให้มีคุณภาพมาตรฐานเทียบเท่าสากล ผ่านการประเมินคุณภาพภายนอกซึ่งเป็นระบบที่เข้ามาช่วยสะท้อนสภาพที่แท้จริงของสถานศึกษาและคุณภาพการเรียนการสอนว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดหรือไม่ ทำให้สถานศึกษาได้เห็นจุดแข็งและจุดที่ควรพัฒนาของตนเองได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากนั้น การประเมินยังเป็นกลไกช่วยแนะแนวทางการยกระดับและพัฒนาให้แก่สถานศึกษาว่าควรจะพัฒนาไปในทิศทางใดอีกด้วย

ที่ผ่านมา กล่าวได้ว่า สมศ.มุ่งมั่นประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยใช้รูปแบบการประเมินที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทและเป้าหมายของสถานศึกษาเน้นสะท้อนภาพความเป็นจริง พร้อมให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์แก่สถานศึกษา ไม่ได้ประเมินเพื่อตัดสินผลว่าผ่านหรือไม่ผ่าน แต่มุ่งหวังให้สถานศึกษานำผลจากการประเมินไปประยุกต์ใช้ในการวางแผน กำหนดทิศทางการพัฒนา และปรับปรุงคุณภาพการศึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนาและเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

Advertisement

และจากการติดตามผลการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาที่เข้ารับการประเมินทั่วประเทศ พบว่า มีสถานศึกษาจำนวนมากที่นำผลการประเมินของ สมศ.ไปใช้วางแผน ปรับปรุง ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน รวมถึงใช้ในการกำหนดเป้าหมายในแผนพัฒนา ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่สถานศึกษาที่นำผลการประเมินของ สมศ. ไปประยุกต์ใช้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ช่วยปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง อีกทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาได้อย่างแท้จริง เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อีกทั้งยังได้เห็นความร่วมมือร่วมใจทั้งจากครูผู้สอน ผู้ประเมิน ผู้นำสถานศึกษา ที่พร้อมใจกันเฟ้นหาแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทต่างๆ เพื่อทำให้คุณภาพการศึกษาเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ดังตัวอย่างเช่น โรงเรียนอนุบาลวัดต้นสน (บุญมีโชติวิทยา) จังหวัดเพชรบุรี และโรงเรียนเทศบาลวัดศรีปิงเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ภาณุพงศ์ เยี่ยมยงวรรณ

ภาณุพงศ์ เยี่ยมยงวรรณ ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนอนุบาลวัดต้นสน (บุญมีโชติวิทยา) จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ตนเองเพิ่งย้ายมาเป็นผู้บริหารโรงเรียนอนุบาลวัดต้นสน (บุญมีโชติวิทยา) เมื่อปี พ.ศ.2564 ซึ่งการประเมินภายนอกผ่านพ้นไปแล้ว แต่มีโอกาสได้อ่านและศึกษาผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. และข้อเสนอแนะที่ได้รับ ทำให้รู้ถึงจุดเด่น จุดที่ควรพัฒนา และข้อเสนอแนะที่ สมศ.นำเสนอไว้ได้ทันที และสามารถนำมากำหนดเป็นวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ กลยุทธ์ และแนวทางการดำเนินงานในการพัฒนาสถานศึกษาร่วมกับผู้เรียน ครู คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน และเครือข่ายได้อย่างไร้รอยต่อโดยไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ ซึ่งจากรายงานผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ระบุว่าโรงเรียนอนุบาลวัดต้นสน (บุญมีโชติวิทยา) มีจุดเด่นในด้านการได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า ชุมชน ภาครัฐ และภาคเอกชน ในการระดมทรัพยากร และร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุกมิติ และควรได้รับการปรับปรุงพัฒนาในด้านกิจกรรมการเรียนการสอน โดยครูผู้สอนควรมีการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ จัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม และมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมมากยิ่งขึ้น (Active Learning) ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การระดมสมอง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการทำกรณีศึกษา เป็นต้น ซึ่งหลังจากโรงเรียนได้นำข้อเสนอแนะจาก สมศ. มาปรับใช้แล้ว ผลปรากฏว่าครูและนักเรียนมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น นักเรียนได้มีส่วนร่วมและสนุกสนานกับการเรียนมากยิ่งขึ้น และส่งผลให้ผลการเรียนดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

Advertisement

“นอกจากการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนแล้ว สิ่งที่ สมศ.แนะนำให้โรงเรียนพัฒนาควบคู่ไปด้วย คือการพัฒนานักเรียนให้มี Soft Skill หรือทักษะทางสังคมที่ใช้ในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งรวมถึงอุปนิสัยใจคอ บุคลิกภาพ ทัศนคติ และความคิดรวบยอดต่างๆ ที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เช่น ความฉลาดทางอารมณ์ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการพูดโน้มน้าวใจ ทักษะการฟัง ทักษะการบริหารคน ภาวะผู้นำ การปรับตัว ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทักษะการทำงานเป็นทีม อารมณ์ขัน เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่นในอนาคต

“ทั้งนี้อยากฝากถึงโรงเรียนต่างๆ ที่กำลังจะเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 5 นี้ รวมถึงโรงเรียนที่เข้ารับการประเมินไปแล้วว่าผลการประเมินคุณภาพภายนอกเป็นสิ่งสำคัญและควรนำไปปรับใช้ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหา ปิดจุดอ่อน และพัฒนาจุดแข็งได้จริง ซึ่งข้อเสนอแนะจากการประเมินคุณภาพภายนอกนี้มีการยกตัวอย่างที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ทำให้สถานศึกษาสามารถนำมาปฏิบัติตามได้ง่าย

“อีกทั้งยังเป็นคำแนะนำที่เหมาะสมตามบริบทของสถานศึกษาอีกด้วย” นายภาณุพงศ์กล่าวปิดท้าย

เบญจรัตน์ ธนเศรษฐ์สาคร

ขณะที่ เบญจรัตน์ ธนเศรษฐ์สาคร ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลวัดศรีปิงเมือง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า หลังจากโรงเรียนได้รับผลการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ.แล้ว ก็ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา คณะครู และผู้เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งผลการประเมินและร่วมกันวิเคราะห์หาแนวทางในการพัฒนาตามข้อเสนอแนะ โดยแบ่งเป็น 3 ด้านหลักๆ ได้แก่ 1.ด้านคุณภาพของผู้เรียน 2.ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ และ 3.ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ใน ด้านคุณภาพของผู้เรียน ได้เน้นให้ผู้เรียนเรียนอย่างมีความสุขทั้งทางร่างกายและจิตใจโดยได้ดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ควบคู่ไปด้วย ทั้งโครงการอาหารกลางวัน โครงการพัฒนาสุขภาพอนามัยของนักเรียน โครงการส่งเสริมกิจกรรมวันสำคัญ (วันเด็ก) โครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน

ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ ได้เน้นการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมด้วยการสำรวจความคิดเห็นและความต้องการของคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียน และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดมาตรฐานการศึกษา จัดทำแผนพัฒนา และแผนปฏิบัติการโดยคำนึงถึงสภาพที่แท้จริงของผู้เรียน สอดคล้องกับสภาพชุมชน และบริบทของสถานศึกษา รวมทั้งจัดหลักสูตรที่เหมาะสมกับความถนัดและความต้องการของนักเรียน นอกจากนี้ยังมีการจัดประชุมให้ความรู้กับผู้ปกครองในการดูแลนักเรียน เช่น การดูแลด้านโภชนาการ การดูแลสุขภาพอนามัย การสังเกตพฤติกรรมนักเรียน การใช้คู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (Developmental Surveillance and Promotion Manual: DSPM) รวมถึงการติดตามประเมินผลการพัฒนาเด็กให้มีพัฒนาการตามจุดเน้น และ ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยเน้นให้ครูจัดการเรียนการสอนผ่านกระบวนการคิดและปฏิบัติจริง ส่งเสริมให้ใช้กระบวนการสอนแบบ Active Learning, STEM Education ส่งเสริมความสามารถของผู้เรียนทั้งความเป็นเลิศทางวิชาการและตามความถนัดและความสนใจ ทั้งศิลปะ ดนตรี กีฬา นาฏศิลป์ รวมทั้งทักษะอาชีพ

โดย เบญจรัตน์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังจากนำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประเมินคุณภาพภายนอกไปปรับใช้พบว่า ผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาผู้เรียนให้มีความสุขทางร่างกายและจิตใจสูงกว่าค่าเป้าหมายที่สถานศึกษาตั้งไว้อย่างต่อเนื่อง ผู้บริหารมีระบบบริหารคุณภาพแบบใช้โรงเรียนเป็นฐานและมีการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น ส่วนสถานศึกษามีการยกระดับคุณภาพการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Active Learning เพิ่มเวลาให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง และมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมแนะแนวการเรียนเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนค้นพบตนเองเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น มีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นทักษะพื้นฐานอาชีพเพื่อมุ่งสู่การเป็นแบบอย่างที่ดี (Best Practice) และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการจากวงจรคุณภาพ PDCA เป็นนวัตกรรม SPM SMART+D Model

ตลอดจนการสร้างบรรยากาศในสถานศึกษาให้น่าเรียน ปลอดภัย ผู้เรียนมีความสุขโดยความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และองค์กรภาคีต่างๆ

“หากสถานศึกษาใดที่อยากได้รับการประเมินอยู่ในระดับดีและประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ต้องเริ่มจากการกำหนดกลยุทธ์ แนวทางปฏิบัติ และเป้าหมายที่ชัดเจน มีการจัดทำระบบติดตาม วิเคราะห์ข้อมูล ประเมินผล และนำผลการประเมิน ข้อเสนอแนะ และปัญหาต่างๆ มาปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานของสถานศึกษาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีนวัตกรรมการบริหารจัดการที่ตอบสนองตามบริบทของสถานศึกษา ส่งเสริมให้บุคลากรทุกคนในสถานศึกษามีส่วนร่วมรับผิดชอบ และตระหนักถึงบทบาทของตนในการพัฒนามาตรฐานการศึกษาตามบริบทของสถานศึกษา รวมทั้งควรจัดให้มีการอบรม สัมมนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรทางการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ

“และที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ ต้องมีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปกครอง ชุมชน องค์กรภาคีต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนา พร้อมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ผลงาน ความสำเร็จ และกิจกรรมต่างๆ ของสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและมีการสื่อสารกันอย่างใกล้ชิดระหว่างสถานศึกษา ผู้ปกครองและชุมชน” เบญจรัตน์ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image