กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผ่านไป 1 ปี กับบทบาทหน้าที่ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT

กีรติ กิจมานะวัฒน์
ผ่านไป 1 ปี กับบทบาทหน้าที่
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT

ในวันนี้ หากจะให้นึกถึงชื่อซีอีโอคนรุ่นใหม่ ที่มีความสามารถโดดเด่น คุมการบริหารจัดการองค์กรที่มีมูลค่าเป็นแสนๆ ล้านบาท และครบเครื่องในฝืมือ กับความสามารถจัดการสิ่งต่างๆ ฝ่าฟันทุกปัญหา จนผ่านพ้นไปได้ในทุกสถานการณ์

ชื่อต้นๆ ที่ทุกคนนึกถึง คือ ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. (AOT)

ซึ่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT ถือเป็นผู้บริหารแกนหลักหนึ่งในการร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ ในการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว และการลงทุน เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

Advertisement

จากวันที่ได้เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT ในเดือนเมษายน 2566 ถึงวันนี้ ผ่านไป 1 ปีเศษ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

เมื่อถามถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นฮับการบินของ ทอท. ดร.กีรติเล่าว่า

“ในส่วนของการเดินหน้านโยบายฮับการบินของประเทศไทย ทาง ทอท.ได้รับโจทย์มาจากท่านนายกรัฐมนตรีในเรื่องของการรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยว รวมไปถึงการเปิดประตูให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ และอยากเดินทางมา รวมไปถึงการสร้างความประทับใจในการเข้าสู่ประตูของประเทศไทยด้วย

Advertisement

เพราะฉะนั้น หน้าที่ในการดูแลสนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ได้มุ่งเน้นในเรื่องของการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ จุดแรกที่เราได้ดำเนินการ คือลดความยาวแถวคอยและระยะเวลาการรอคอยในจุดที่ผู้โดยสารต้องใช้บริการต่างๆ ก็จะมีทั้งจุดเช็กอิน จุดตรวจค้น จุดตรวจหนังสือเดินทาง

ในส่วนแรก จุดเช็กอิน ทอท.มีนโยบายให้สายการบินต่างๆ เปิดให้ผู้โดยสารเช็กอินที่เคาน์เตอร์ล่วงหน้า 4 ชั่วโมงก่อนเวลาขึ้นเครื่อง เพราะเราพบว่า พฤติกรรมของผู้โดยสารส่วนใหญ่จะที่เดินทาง จะมาถึงสนามบินล่วงหน้าอยู่แล้ว 4-5 ชั่วโมงก่อนเดินทาง ซึ่งถ้าไม่เปิดเคาน์เตอร์เช็กอิน ก็จะทำให้เกิดภาพของผู้โดยสารตกค้างบริเวณจุดพักคอยเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นเราอยากให้ผู้โดยสารเช็กอินได้เร็ว และสามารถเข้าไปในจุดพักคอยภายในอาคารผู้โดยสารได้ ซึ่งตรงนั้นมีร้านอาหาร มีร้านค้าต่างๆ ให้ผู้โดยสารได้จับจ่ายใช้สอย

ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสายการบินต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบินไทย ซึ่งเป็นสายการบินหลักของประเทศ ที่มีการเปิดให้บริการเช็กอินล่วงหน้าได้ 12 ชั่วโมง คือแทบจะเรียกว่าเช็กอินได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นจุดที่ให้ผู้โดยสารที่มาถึงก่อนไม่ต้องรอนาน สามารถที่จะเข้าไปที่เคาน์เตอร์เช็กอินได้เลย แล้วเข้าไปรอข้างใน

นอกจากนี้ ทอท.ได้ติดตั้งระบบที่เรียกว่า บริการเช็กอินด้วยตนเอง หรือ Self Check-In และระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ หรือ Self Bag Drop เพื่อให้ผู้โดยสารที่ไม่อยากจะรอคิวที่เคาน์เตอร์ สามารถเลือกเช็กอินผ่าน Self Check-In ของสายการบินที่เปิดให้บริการได้ ขณะนี้มีประมาณ 35 สายการบินที่ให้บริการ Self Check-In ซึ่งทำให้ผู้โดยสารสามารถเช็กอินได้ด้วยตัวเองและลดระยะเวลาในการคอย ทั้งนี้ บริการ Self Check-In และ Self Bag Drop ก็ทำได้ล่วงหน้า 6 ชั่วโมงก่อนเวลาเดินทาง

ส่วนที่ 2 คือ จุดตรวจค้น ทาง ทอท.ได้เพิ่มเจ้าหน้าที่และช่องการตรวจค้น จากเดิมในหนึ่งช่องการตรวจค้นจะมีแค่เครื่องตรวจร่างกาย (Body Scanner) ขณะนี้ ทอท.ได้เพิ่มการเดินผ่านเครื่องตรวจวัตถุโลหะ (Walk Through) ทำให้ผู้โดยสารสามารถเลือกใช้ได้ทั้ง Body Scanner หรือ Walk Through ทำให้เกิดประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการผ่านช่องทางเพิ่มขึ้นอีก 40% ผู้โดยสารใช้เวลาน้อยลง จากเดิมจะอยู่จุดนี้ 35 นาที กลายเป็นเหลือเพียงประมาณ 14 นาทีเท่านั้น

ขณะเดียวกันในจุดตรวจหนังสือเดินทาง ทอท.ได้ติดตั้งระบบ Auto Gate ที่ทำให้ลดการใช้เจ้าหน้าที่ เพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการให้บริการ ปัจจุบัน ทอท.จัดซื้อไว้ทั้งหมด 80 เกต ติดตั้งไปแล้ว 20 เกต ที่บริเวณโซน 2 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และจากการทดลอง ผู้โดยสารให้การตอบรับเป็นอย่างดี เพราะใช้เวลาแค่ 20 วินาทีเท่านั้น เพราะฉะนั้นการดำเนินการส่วนนี้ทำให้แถวคอยของผู้โดยสารขาออกลดลงไปอย่างมาก และลดการใช้เวลา จาก 35 นาที เหลือเพียง 12 นาทีเท่านั้น ถือเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายและเพิ่มความประทับใจให้ผู้โดยสาร

นอกจากนั้น ปัจจุบัน ทอท.กำลังเริ่มดำเนินการในเรื่องของการปรับแต่งพื้นที่สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อเพิ่มพื้นที่ส่วนกลางให้กับผู้โดยสาร ไม่ว่าจะพื้นที่สนามเด็กเล่น พื้นที่ทำงาน แบบ Coworking space และพื้นที่พักคอยผู้โดยสาร ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่เรายังไม่เคยมีมาก่อน แต่เราจะปรับและทำเพื่อให้ผู้โดยสารมีพื้นที่ส่วนกลาง สามารถที่จะพักและรอเครื่องบินได้อย่างสะดวกสบาย และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ส่วนที่ 2 ทอท.ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับผู้โดยสาร หรือ Capacity คือการเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินหลังใหม่ Satellite 1 หรือ SAT-1 ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปัจจุบันมีเที่ยวบินที่เข้าไปใช้อาคาร SAT-1 มากถึง 150 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งอาคาร SAT-1 เป็นจุดที่ผู้โดยสารให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นอาคารใหม่ มีความโอ่โถง จึงกลายเป็นจุดเช็กอินใหม่ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

รวมทั้งในเดือนกันยายน 2567 นี้ ทอท.เตรียมจะเปิดให้บริการรันเวย์เส้นที่ 3 ที่เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากเดิม 64 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 98 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ซึ่งจะลดปัญหาเรื่องจอดรอเตรียมเทกออฟ และปัญหาสายการบินต้องบินวนรอแลนดิ้ง

ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดนี้ เพื่อเพิ่มความสะดวก ดึงดูดสายการบินและนักเดินทางให้เลือกประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบิน และไม่ใช่เฉพาะเป็นแค่จุดหมายปลายทาง หรือ destination แต่ยังเลือกเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายเครื่องเพื่อให้ไทยเราเป็นฮับการบินของภูมิภาคอย่างแท้จริง”

ดร.กีรติ ฉายภาพถึงความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร และเทรนด์ของการเดินทางจากนี้ ไว้ว่า

“สิ่งที่เราพยายามดำเนินการ คือเราต้องการเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้สามารถรองรับผู้โดยสารในระยะสั้นได้ถึง 80 ล้านคนต่อปี ซึ่งปัจจุบันการเพิ่มอาคาร SAT-1 และรันเวย์เส้นที่ 3 ทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 60 ล้านคนต่อปีแล้ว ส่วนการก่อสร้างอาคารเทอร์มินอลหลังใหม่ ส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก และอาคารเทอร์มินอล 2 ด้านทิศใต้ ต้องใช้เวลา 3-5 ปีในการดำเนินการ

เพราะฉะนั้นในระยะสั้น เราจึงพยายามปรับคุณภาพการให้บริการให้รวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มขีดความสามารถไปได้ถึงประมาณ 80 ล้านคนต่อปี และหากว่าไปรวมกับท่าอากาศยานดอนเมืองที่สามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 30 ล้านคนต่อปี จะส่งผลให้ทั้ง 2 ท่าอากาศยานมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ถึง 110 ล้านคนต่อปี ซึ่ง ทอท.มองว่าเพียงพอต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน

ซึ่งถ้าเราดูเทรนด์จะเห็นว่าปัจจุบันนี้ แนวโน้มผู้โดยสารกลับมาเดินทางแล้วในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภูมิภาคยุโรป พบว่ามีปริมาณนักท่องเที่ยวเดินทางมาอยู่ที่ระดับเกินกว่าปี 2562 ถือว่านักท่องเที่ยวจากยุโรปฟื้นตัวประมาณ 100% แล้ว นอกจากนั้นมีภูมิภาคที่รัฐบาลไทยส่งเสริมด้วยมาตรการฟรีวีซ่า อย่างเช่น อินเดีย ซึ่งปัจจุบันนี้นักท่องเที่ยวเกิน 100% ไปถึงระดับ 125% ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ทำให้เห็นเทรนด์การเดินทางและการกลับมาของผู้โดยสารเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งมีภูมิภาคเดียวที่ยังต้องจับตามอง คือจีน เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวอยู่ที่ประมาณ 65% ต้องยอมรับว่ายังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เราเคยได้เมื่อปี 2562 ซึ่งก็ต้องติดตามเรื่องปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนเอง แม้ว่ามีมาตรการฟรีวีซ่ากระตุ้นการเดินทางแล้ว มีนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงระดับที่น่าพึงพอใจนัก อย่างไรก็ดี ทอท.ยังมองว่าเป็นโอกาสในอนาคตถ้านักท่องเที่ยวจีนกลับมาถึงระดับ 100% จะทำให้ปริมาณผู้โดยสารรวมกลับมาเกินกว่าปี 2562 ได้

ทอท.คาดว่าภายในปี 2568 หรือปีหน้า เราจะเห็นภาพปริมาณนักท่องเที่ยวที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเกิน 65 ล้านต่อปี มากกว่าตัวเลขในปี 2562 แล้ว และจะพัฒนาไปเรื่อยๆ จนเป็น 80 ล้านคนต่อปี ในปี 2570”

แล้วเมื่อไหร่ไทยจะเป็นฮับการบินของภูมิภาค ดร.กีรติ จึงได้ยกตัวอย่างไทยกับนานาประเทศ เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น“ก่อนอื่นต้องเปรียบเทียบว่าคู่แข่งของเราคือใคร อย่างคู่แข่งสำคัญที่เรามองคือสิงคโปร์ ปัจจุบันสิงคโปร์มีปริมาณผู้เดินทางประมาณ 80 ล้านคนต่อปี เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าท่าอากาศยานของประเทศไทยเทียบกับที่สิงคโปร์ได้หรือไม่ อยู่ที่เรื่องขยายขีดความสามารถ การกระตุ้นการเดินทาง และการรองรับการกลับมาของผู้โดยสารของไทย หากว่าสามารถพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปได้ถึง 80 ล้านคนต่อปี และท่าอากาศยานดอนเมืองอีก 30 ล้านคน “จะทำให้เราสามารถแข่งขันได้เทียบเท่าหรือมากกว่าสิงคโปร์” ซึ่งตรงนี้ก็เป็นจุดที่ ทอท.ตั้งเป้าเอาไว้ และมองว่าเป็นเป้าหมายที่ ทอท.ต้องพุ่งชนให้ได้

ส่วนความคืบหน้าของท่าอากาศยานในภูมิภาคนั้น แน่นอนว่าทั้งท่าอากาศยานเชียงใหม่และท่าอากาศยานภูเก็ตก็อยู่ในแผนที่ ทอท.จะพัฒนาเช่นกัน ปัจจุบันจะเห็นว่าเริ่มมีผู้โดยสารเข้ามาค่อนข้างหนาแน่นทีเดียว โดยเฉพาะท่าอากาศยานภูเก็ต มีผู้โดยสารระหว่างประเทศ เกินตัวเลขปี 2562 แล้ว สะท้อนว่าดีมานด์สูงมาก เพราะฉะนั้น ทอท.ก็กำลังเร่งรัดดำเนินการขยายขีดความสามารถของทั้งสองแห่ง ให้รองรับได้ 18 ล้านคนต่อปี ซึ่งปัจจุบันนี้ ทั้ง 2 ท่าอากาศยานในอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านคนต่อปี ซึ่ง ทอท.พร้อมที่จะลงทุน โดยมีวงเงินลงทุนประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท

เนื่องจากท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่งอยู่ในพื้นที่เมือง และมีข้อจำกัดในเรื่องของรันเวย์ ก็คือมีแค่รันเวย์เดียว ดังนั้น ทอท.กำลังมองไปข้างหน้าในอนาคต ด้วยการลงทุนเพิ่มเติม สำหรับท่าอากาศยานแห่งที่ 2 ของเชียงใหม่ ที่ทางรัฐบาลมองว่าจะเป็นท่าอากาศยานล้านนา ซึ่งก็เป็นท่าอากาศยานอินเตอร์เนชั่นแนลแห่งใหม่ของภูมิภาค รวมไปถึงท่าอากาศยานแห่งที่ 2 ของภูเก็ต คือ ท่าอากาศยานอันดามัน ที่มีขีดความสามารถประมาณ 20 ล้านคนต่อปี และรองรับผู้โดยสารอินเตอร์เพิ่มมากขึ้นด้วย”

ย้อนถึงความท้าทายช่วงที่ผ่านมาว่า “เนื่องจากว่าผมเป็นวิศวกรมาก่อน โดยเรียนจบวิศวกรรมที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วก็ไปเรียนต่อด้านวิศวกรรมที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ดังนั้น มุมมองการใช้ชีวิตและเป้าหมาย จะเน้นเรื่องของหลักวิศวกรรม หลักการวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล และการใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการจับ แล้วแก้ปัญหา แล้วก็ค้นหาแนวทางใหม่ๆ ในการที่จะให้บริการ

ซึ่งผมมองว่าเป็นหลักการสำคัญที่ใช้ในการผลักดันการพัฒนาและความก้าวหน้าขององค์กร มองว่าการที่ผมได้มาบริหาร ทอท. ในฐานะกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เป็นจุดที่พอดีกันกับความลงตัวในเรื่องของความต้องการขององค์กร ในแง่ที่ว่า ตอนนี้ ทอท.ต้องการพัฒนาและก่อสร้างสนามบินใหม่ๆ ต้องการขยายขีดความสามารถในการให้บริการ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

เพราะฉะนั้น จึงเป็นโอกาสที่ผมได้ใช้หลักการวิศวกรรมเข้ามาวิเคราะห์ปัญหาอะไรคือคอขวด ผู้โดยสารต้องการอะไร มีอะไรบ้างที่ ทอท.จะทำได้ในฐานะผู้ให้บริการท่าอากาศยานในการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ ถือว่าได้ทำงานตรงตามเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันของการขยายท่าอากาศยานต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปีที่อยู่ในตำแหน่ง ถือว่าเป็นประโยชน์ที่ทิ้งไว้ให้กับองค์กร”

ไม่แค่เต็มที่กับการทำงานในแต่ละวันเท่านั้น กับครอบครัวก็เต็มอิ่มด้วย

“ขอเรียนตรงๆ ว่า ผมเป็นครอบครัวที่มีลูกเล็ก อายุแค่ 2 ขวบเท่านั้น ดังนั้นผมต้องแบ่งเวลาให้กับครอบครัวบ้างและเป็นความโชคดีที่ผมมีภรรยาที่เข้าใจว่าตอนนี้งานค่อนข้างหนักมากใช้เวลาทำงานหนักมาก ส่วนใหญ่แล้วผมก็จะพยายามทุ่มเทงานในวันธรรมดาให้เต็มที่ ส่วนวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ พยายามจะไม่รับนัดหรือไม่รับเซ็นเอกสารหนังสือ เพื่อให้เวลากับครอบครัว

ตารางของวันหยุด เช้าวันเสาร์ ส่วนใหญ่กิจกรรมที่ทำประจำ คือ การพาลูกไปเดินรอบเกาะรัตนโกสินทร์พอดี เพราะอยู่ใกล้บ้าน หรือเดินไปวัดพระแก้ว วัดโพธิ์ ซึ่งนอกจากพาลูกและภรรยาไปเที่ยวแล้ว ก็ออกกำลังกายไปในตัวด้วย ดังนั้นผมให้ความสำคัญกับการใช้เวลากับครอบครัวในช่วงวันหยุด”

ในแวดวงกล่าวขานว่า เป็นคนร้องเพลงไพเราะ

“ผมชอบร้องเพลง เป็นเรื่องจริง เพื่อนๆ ต่างก็รู้ว่าผมชอบร้องเพลง เพราะผมชอบความสนุก ชีวิตในการทำงานมันต้องเครียดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราได้มีโอกาสอยู่กับเพื่อน การปลดปล่อยเป็นเรื่องที่ดีแล้ว เรื่องที่สนุก ส่วนแนวเพลงร้องได้ทุกแนว ทั้งเพลงไทยและเพลงสากล และชอบทุกแนวเช่นกัน ส่วนตัวชอบมากที่สุด คือละครเพลง”

ทีมเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image