‘ห้องเรียนแห่งอนาคต’ หมดยุคหน้าตรงเข้ากระดาน ผสานการเรียนศาสนาแนวใหม่

ระดมความเห็นวิธีแก้ปัญหาชุมชน ถ่ายทอดผ่านภาพวาด

ปัญหาการศึกษาไทยถูกพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำอีก หาแนวทางความเป็นไปได้ที่หลากหลาย แต่สุดท้ายก็ยังไม่พ้นจากปัญหาเก่าๆ

ที่สุดแล้วการศึกษาไทยอาจออกจากการเรียนรู้แบบท่องจำเดิมๆ ไม่ได้ หากไม่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนและบทบาทหน้าที่ของครูและนักเรียน

โรงเรียนศาสนศึกษา ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ก็เผชิญปัญหานี้ เมื่อผู้เรียนสะท้อนว่าการเรียนแบบเดิมนั้นน่าเบื่อ ยิ่งการเป็น “โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม” ที่พัฒนามาจากโรงเรียนปอเนาะแบบเดิม คือมีการสอนวิชาสามัญควบคู่กับวิชาอิสลามศึกษา ทำให้นักเรียนต้องเรียนเพิ่มจากปกติสัปดาห์ละ 40 คาบ มาเป็นสัปดาห์ละ 50 คาบ

เนื้อหาวิชาจำนวนมากในเวลาจำกัดทำให้การเรียนเป็นไปแบบท่องจำ ขาดกิจกรรมที่กระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจ

Advertisement

อีกหนึ่งปัญหาที่สะท้อนออกมาคือ นักเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ใช้ภาษามลายูในชีวิตประจำวัน มีจำนวนมากสื่อสารภาษาไทยกลางได้ไม่คล่องแคล่ว ส่งผลให้ขาดความกล้าแสดงออก และทักษะการสื่อสารความคิด

หนึ่งแนวทางที่โรงเรียนทดลองเพื่อแก้ปัญหาคือการเข้าร่วม โครงการ Samsung Smart Learning Center “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งนำแนวคิด “ห้องเรียนแห่งอนาคต” ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาร่วมกับกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบผู้เรียนมีส่วนร่วม หรือ Active Learning โดยครูทำหน้าที่เป็นโค้ชหรือผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้

ผ่านมา 2 ปี การเปลี่ยนรูปแบบการสอนเริ่มเห็นผลแล้วในเบื้องต้น

Advertisement
วาริท จรัณยานนท์
ใช้เทคโนโลยีช่วยในการศึกษาศาสนา เช่น จากเดิมท่องอัลกุรอ่านกับครูตัวต่อตัว เปลี่ยนมาให้ท่องหน้าชั้นพร้อมเปิดจอให้เพื่อนช่วยกันดู

การศึกษาศตวรรษที่ 21 เด็กต้องพร้อมสู่อนาคต

ร.ร.ศาสนาศึกษาเป็น 1 ใน 47 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการของซัมซุง

วาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการ Samsung Smart Learning Center เล่าว่า โครงการนี้เริ่มมาได้ 5 ปีแล้ว ทางซัมซุงมุ่งสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่อยู่แล้ว จึงทำโครงการตอบแทนสังคมในเรื่องการศึกษา

“ที่ผ่านมามีคนพูดเรื่องการศึกษาศตวรรษที่ 21 มามาก แต่ยังไม่มีกระบวนการให้เกิดขึ้นจริง โครงการนี้จึงพัฒนาเรื่อยมา มีจุดมุ่งหมายว่าทำอย่างไรให้เกิดแอ๊กทีฟ เลิร์นนิ่ง ที่เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนจากการตั้งคำถาม โดยครูอยู่ในบทบาทโค้ชมากกว่าจะบอกว่าถูกหรือผิด”

“ห้องเรียนแห่งอนาคต” คือการเตรียมเด็กให้พร้อมสู่อนาคต เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่นำเอาเทคโนโลยีมาเสริมคู่กับกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม ให้ค้นคว้าข้อมูลด้วยตนเองและทำงานร่วมกัน

วาริทเผยว่า จากการทำงานร่วมกับโรงเรียนในโครงการทั่วประเทศ ทำให้เห็นพัฒนาการของ “ห้องเรียนแห่งอนาคต” ที่แต่ละโรงเรียนนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทในพื้นที่อันแตกต่าง

โรงเรียนศาสนศึกษาได้นำแนวคิด การจัดการพื้นที่ทางกายภาพ การใช้เทคโนโลยี และการจัดการเรียนการสอน พัฒนาเป็นหลักสูตรใหม่ คือ “ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21”

“เป็นอีกบทพิสูจน์ที่ยืนยันว่า แนวคิดและกระบวนการ ‘ห้องเรียนแห่งอนาคต’ ของซัมซุงนั้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโรงเรียนที่มีบริบทแตกต่างหลากหลายอย่างได้ผลจริง” วาริทกล่าว

ทางโครงการกำลังเปิดรับสมัครโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วม ในปีการศึกษา 2561/2562 อ่านรายละเอียดได้ที่ www.samsungslc.org

อัสมะ หะยีมอหะมะสอและ
จัดโต๊ะเรียนนั่งเป็นกลุ่ม สะดวกในการทำกิจกรรม

‘บูรณาการศาสนา’ โจทย์ใหม่ที่ท้าทาย

ศาสนศึกษามีนักเรียนอยู่ 1,369 คน นับถือศาสนาอิสลามทั้งหมด สอนตั้งแต่อนุบาลถึง ม.6 ในหลักสูตรสามัญคู่กับอิสลามศึกษา

จากปัญหาวิชาเรียนเยอะกว่าโรงเรียนทั่วไป ทำให้เด็กเบื่อหน่ายการเรียนและมีปัญหาด้านการสื่อสารอันเป็นปัญหาในพื้นที่ ทางโรงเรียนจึงได้เข้าร่วมโครงการหวังเห็นทางออกของปัญหา โดยเริ่มเปิด “ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21” จัดรูปแบบการเรียนใหม่ใน ม.1 และ ม.4 ชั้นละหนึ่งห้องเรียน และเริ่มเห็นผลเมื่อเข้าปีที่ 2

ห้องเรียนบูรณาการฯ เริ่มจากที่ครูในโรงเรียนไปอบรมกระบวนการจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่กับทางโครงการ จากนั้นกลับมาก่อตั้งชุมนุม Samsung Discovery Club ลองนำกระบวนการที่เรียนรู้มาใช้และเห็นผลในทิศทางที่ดี

เมื่อมั่นใจว่ากระบวนการนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงกับนักเรียน จึงจัดทีมครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนมาร่วมกันทำหลักสูตร ปรับปรุงอาคารเรียนและสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้

“ห้องเรียนอิสลามศตวรรษที่ 21 เป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก”

อัสมะ หะยีมอหะมะสอและ ผู้อำนวยการ ร.ร.ศาสนศึกษากล่าว และว่า เมื่อเริ่มแรกผู้ปกครองทราบว่าจะบูรณาการวิชาศาสนาให้น้อยลง ก็เกิดคำถาม มีความกังวลว่าหลักการปฏิบัติและความเชื่อจะน้อยลง โรงเรียนก็พยายามอธิบายว่า ไม่ได้ลดเนื้อหา แต่เป็นการจัดกลุ่มเนื้อหาต่างๆ เข้าด้วยกัน

“ตอนนี้เริ่มเห็นพัฒนาการเด็กในเรื่องการแสดงออกและความคิดสร้างสรรค์ เด็กอยากเรียนมากขึ้น ถือเป็นความสำเร็จหนึ่งที่เห็น” อัสมะกล่าว

สุนันต์ สะซีลอ
ครูทำหน้าที่โค้ช ช่วยกันสอนเป็นทีม สังเกตพฤติกรรมนักเรียนง่ายขึ้น

หมดยุคหน้าตรงเข้ากระดาน

หนึ่งในครูผู้พัฒนาหลักสูตร “ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21” สุนันต์ สะซีลอ ครูที่ปรึกษาโครงการฯ ร.ร.ศาสนศึกษา กล่าวว่า จากการเข้าอบรมทำให้ได้ไอเดียเรื่องการเตรียมความพร้อมผู้เรียนสู่โลกอนาคต และหาสิ่งรอบตัวมาใช้ให้การเรียนการสอนสนุกขึ้น ครูต้องปรับกระบวนการเชื่อมโยงเนื้อหาอิสลามศึกษาและวิชาสามัญเข้าด้วยกัน โดยได้การเขียนแผนการสอนจากโครงการ ซึ่งจะสอนผ่านกิจกรรมทั้งหมด โดยแยกส่วนจากห้องเรียนเดิมและจัดบรรยากาศใหม่

“ผู้เรียนต้องพร้อมทำกิจกรรม นั่งแยกเป็นกลุ่ม ไม่ใช่หันหน้าตรงเข้ากระดานและครูต้องเป็นนักจัดกระบวนการ ในคาบบูรณาการจะมีครู 8 คนกระจายไปโค้ชตามกลุ่ม ให้นักเรียนลองพูดคุยกับเพื่อน โดยเห็นความปลี่ยนแปลงในเด็กที่บอกว่าทำไม่เป็น แต่เห็นเพื่อนแล้วอยากทำได้บ้าง”

เรื่องปัญหาวิชาเรียนที่มากเกินไป แก้โดยการรวมเนื้อหาวิชาที่มีความใกล้เคียงเข้าด้วยกัน สอดแทรกหลักอิสลาม ทำให้ลดจำนวนคาบเรียนได้ เช่น มีวิชาใหม่ “สุขภาวะและวิถีชีวิตเชิงสร้างสรรค์” จากวิชาสุขศึกษาและจิตวิทยา นำประเด็นสังคมและปัญหาวัยรุ่นมาสอน เช่น เรื่องคุณแม่วัยใส เด็กแว้น โดยเน้นสุขภาวะการใช้ชีวิต สุขภาวะมุสลิม เปรียบเทียบหลักการของอิสลามและสากล

และวิชาบูรณาการมีหน่วยการเรียนรู้เชื่อมโยงท้องถิ่น 6 หน่วยต่อ 1 ปีการศึกษา ได้แก่ 1.ล่องน้ำหาต้นสาย 2.ไลฟ์สไตล์สายบุรี 3.ย้อนรอยบ้านเรา 4.นักสืบพันธุ์กำปง 5.SME ของดีเมืองสาย 6.ใส่ใจวัยใส

วิชาบูรณาการจะแทรกอยู่ในตารางเรียน 2 ครั้ง/สัปดาห์ ครั้งละ 4 คาบ เนื่องจากเป็นการเรียนในรูปแบบกิจกรรมไม่สามารถทำได้ในคาบเดียว

การเรียนแต่ละครั้งจะมีกิจกรรมที่หลากหลายจากการระดมสมองของกลุ่มครู เช่น เล่นตอบคำถามผ่านแอพพลิเคชั่น Kahoot, แสดงละครเสนอปมปัญหา, วาดภาพเสนอวิธีแก้ปัญหา, แลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนหาข้อสรุป และถอดบทเรียนให้ข้อคิดเชื่อมโยงอิสลามศึกษา

ตารางเรียนเก่า
ตารางเรียนใหม่

ลบความน่าเบื่อด้วยกิจกรรม

ครูสุนันต์บอกว่า การเรียนแบบเน้นกิจกรรมทำให้ความคิดเด็กเปิดกว้างมากขึ้น จากที่กลัวว่าทำแล้วจะผิด ก็กล้าคิดกล้าทำ หาวิธีการแก้ปัญหาได้ดี โดยมีการรวมกลุ่มกันทำ

“ดูแล้วคล้ายว่าโครงการจะเน้นเรื่องเทคโนโลยี แต่ที่จริงเน้นการทำกิจกรรมและการลงสู่ชุมชน จากที่ครูกลัวการลงสู่ชุมชน เพราะกังวลว่าจะเกิดสถานการณ์ต่างๆ แต่เมื่อลองไปแล้วพบว่าชุมชนยินดีอ้าแขนรับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เด็กๆ เองก็ชอบ”

ครูสุนันต์เผยว่า ตัวอย่างการบูรณาการวิชาอิสลามศึกษา จะเน้นพูดคุยถึงการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น สื่อสารว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เช่น อิสลามมีความเชื่อว่าห้ามจับสุนัข แต่ก็มีข้อยกเว้นบางอย่าง ซึ่งเด็กบางคนที่อยู่แต่กับที่บ้านจะไม่รู้เรื่องข้อยกเว้นนี้มาก่อน

“ช่วงแรกผู้ปกครองไม่เข้าใจว่าบูรณาการอย่างไร แต่เมื่อพูดคุยกันแล้วได้เสียงสะท้อนว่า พฤติกรรมเด็กเปลี่ยนไป เด็กกลับไปบอกพ่อแม่ว่ามีความสุขกับการเรียนมากขึ้น กระตือรือร้นที่จะเรียนมากขึ้น ปกติปอเนาะเรียน 6 วัน แต่เราเรียน 5 วัน เด็กก็ขอเพิ่มวันเรียนอีก 1 วัน เพราะสนุก

“ตัวครูเองก็ต้องปรับตัว กว่าจะโค้ชได้ต้องเข้าใจ จากเดิมที่ถือไม้เรียวมาสอนก็ต้องปรับวิธีคิด หาวิธีการสอนที่สนุก สื่อสารให้เด็กสนใจได้”

ด้านนักเรียน ม.4 รายหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการสะท้อนความเห็นว่า การเรียนแบบเดิมรู้สึกว่าน่าเบื่อ คล้ายถูกบังคับให้เรียน ไม่อยากเรียน แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงมาเรียนแบบนี้แล้วสนุก เพราะได้ทำกิจกรรม ถ้าจะให้เรียน 7 วันก็ได้ ชอบที่ได้เรียนกับเทคโนโลยี

แน่นอนว่าความสนุกเป็นเพียงหน้าด่านที่ดึงดูดให้เด็กสนใจจะเรียนรู้ สิ่งที่ตามมานั้นคือการเพิ่มเติมทักษะที่ผู้เรียนขาด สิ่งเหล่านี้มาจากครูที่ทำหน้าที่โค้ช เพื่อให้เด็กจับต้องสิ่งที่เรียนได้ว่าจะนำไปใช้ในชีวิตอย่างไร และเข้าใจเนื้อหาสาระที่เรียนมากขึ้นเมื่อได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ

“ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21” กำลังพัฒนาสู่การเป็นหลักสูตรอย่างเป็นทางการ

น่าสนใจที่ว่าอาจเป็นต้นแบบให้โรงเรียนอื่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่มีปัญหาและบริบทแวดล้อมเดียวกันได้

ลงพื้นที่เรียนรู้จากชุมชน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image