“ผู้ว่าฯราชบุรี” ถกแผนกู้ระเบิดสมัยสงครามโลก คาดดำเนินการได้ในปีหน้า

ผู้ว่าราชการ จ.ราชบุรี เผยแผนปฏิบัติการเก็บกู้ระเบิดสงครามโลก จะต้องใช้ความระมัดระวังและความปลอดภัยขั้นสูงสุด อีกทั้งเครื่องมือที่จะตัดชนวนไทยยังไม่มี ปรับแผนเปลี่ยนเป็นสร้างสะพานแขวนแทน แต่การกู้ยังดำเนินการต่อไปคาดในปี 63
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดราชบุรี นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ในฐานะผู้บัญชาการ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การเก็บกู้ เคลื่อนย้ายและทำลายวัตถุระเบิดในแม่น้ำแม่กลอง เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้แทนเกี่ยวกับการเตรียมการเก็บกู้และเคลื่อนย้ายทำลายวัตถุระเบิด จำนวน 7 ลูก ที่จมอยู่ใต้น้ำใกล้สะพานจุฬาลงกรณ์เขตเทศบาลเมืองราชบุรี เพื่อเปิดทางการสร้างทางรถไฟทางคู่ โดยมี ร.ต.อ.พิริยะ ณ บางช้าง อัยการจ.ราชบุรี ในฐานะที่ปรึกษาศูนย์บัญชาการฯ พ.อ.พิสิฐ ปั้นทอง รองผบช.มทบ.16 พ.อ.บุญญฤทธิ์ เลิศวัฒนเรืองชัย ผอ.กองกิจการพลเรือน กรมการทหารช่าง ผู้แทนสรรพาวุธทหารอากาศ (กองทำลายวัตถุระเบิด) ผู้แทนสรรพาวุธทหารเรือ (กองประดาน้ำและถอดทำลายอมภัณฑ์) ผู้แทนสรรพาวุธทหารบก (กองคลังแสงที่ 6) ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานท้องถิ่นว่า จะดำเนินการตัดชนวนที่จุดพบระเบิดบริเวณใต้น้ำโดยใช้อุปกรณ์แรงดันน้ำแรงดันสูง หลังจากนั้นจะเคลื่อนย้ายไปทำลายที่กองคลังแสงที่ 6 กรมสรรพวุธทหารบก ต.อ่างทอง อ.เมือง จ. ราชบุรี เมื่อตัดตัวชนวนออกไปแล้วระเบิดก็จะไม่มีอันตราย หลังจากนั้นก็จะนำไปจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จังหวัดได้เตรียมดำเนินการต่อไป

นายชยาวุธ กล่าวว่า โดยเครื่องตัดชนวนแรงดันสูงทางกองทัพเรือมีอยู่ แต่เป็นอุปกรณ์ที่กองทัพเรือใช้สำหรับการตัดชนวนระเบิดบนบก แต่อุปกรณ์ตัดชนวนชุดนี้เป็นระเบิดที่ใช้อยู่ใต้น้ำ ทางผู้เชี่ยวชาญหน่วยต่างประเทศได้มีการพูดคุยกันว่าไม่ควรเคลื่อนย้าย เนื่องจากเป็นระเบิดแบบหน่วงตั้งเวลา ซึ่งหากเคลื่อนย้ายจะมีความเสี่ยงเกิดระเบิดขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีตัดวงจรที่ตัวระเบิด แต่อุปกรณ์นี้เรายังไม่มีใช้

นายชยาวุธ ทางจังหวัดจะได้ตั้งงบประมาณผ่านทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไปยังรัฐบาล กรณีถ้าเกิดกระทรวงมหาดไทยเห็นว่าไม่อยู่ในขอบข่ายของการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็คงจะต้องเสนอรัฐบาล ขอใช้เงินงบกลางมาในการจัดซื้ออุปกรณ์ตัดชนวน รวมทั้งค่าใช้จ่ายเรื่องเก็บกู้ เบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ เรื่องการอพยพประชาชน การตั้งโรงครัว การดูแลความปลอดภัยในการดูแลทรัพย์สินและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพราะได้มีการตีความว่าเป็นภัยคุกคามทางอากาศ ซึ่งจะได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้งว่าเข้าข่ายหรือไม่ เพื่อดำเนินการเรื่องนี้ซึ่งได้ให้เวลาประมาณ 2 เดือนในการแจ้งหน่วยที่เกี่ยวข้องในการคำนวณค่าใช้จ่าย อุปกรณ์ต่างๆ และจัดการประชุมยอดค่าใช้จ่ายอีกครั้งหนึ่ง โดยจะนำเสนอผ่านกระทรวงมหาดไทยอีกครั้ง

“เมื่อมีการประมาณการค่าใช้จ่ายและมีการประชุมสรุปและรายงานผ่านกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอตั้งงบประมาณขึ้นมา อย่างเร็วถ้าเกิดได้รับงบประมาณมาแล้ว ก็จะใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องมืออีกประมาณ 2-3 เดือน จากนั้นต้องไปผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวอีก อย่างเร็วก็จะประมาณปี 2563 แน่นอน จะประมาณกลางปี หรือท้ายปี เป็นกระบวนการที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามวิธีการเปลี่ยนเพื่อความปลอดภัยของประชาชนต่อชีวิตและทรัพย์สิน เมื่อวิธีการเปลี่ยนแผนก็ต้องเปลี่ยนตาม และเมื่อได้อุปกรณ์มาแล้วจากนั้นจะต้องฝึกซ้อมแผนโดยบริษัทผู้จัดทำจะต้องมาดำเนินการ มีการฝึกซ้อมจนมั่นใจในเครื่องมือนั้น ส่วนการสร้างทางรถไฟทางคู่นั้น ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีการเตรียมการออกแบบสร้างเป็นสะพานแขวน ซึ่งจะตีคู่ไปกับสะพานรถไฟ ซึ่งอนาคตจะกลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดราชบุรี โดยเฉพาะเขตเมืองราชบุรี เป็นเขตอนุรักษ์เมืองเก่าด้วย สรุปเรื่องการสร้างรถไฟทางคู่จะรอกู้ระเบิดไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการสร้างสะพานของ รฟท. ใหม่เป็นการสร้างสะพานแขวนในช่วงโครงการดังกล่าว” นายชยาวุธกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image