ยิงไกลจากนอกกรอบ อาวุธลับเพื่อชัยชนะในยูโร2024

ยิงไกลจากนอกกรอบ อาวุธลับเพื่อชัยชนะในยูโร2024

ยูโร 2024 เข้าสู่การแข่งขันเกมที่สองของรอบแบ่งกลุ่มไปแล้ว ยังไม่มีคู่ไหนที่เสมอ 0-0 เลย หรือเรียกได้ว่ามีการยิงประตูเกิดขึ้นทุกคู่ ทั้งในแมตช์แรกของทุกกลุ่ม และในเกมที่สองของบางทีม

มีสถิติที่น่าสนใจในนัดแรกของรอบแบ่งกลุ่ม 12 แมตช์ มีการยิงประตูนอกกรอบเขตโทษถึง 11 ประตู เทียบกับในยูโร 2016 ตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์ มีการยิงไกลรวม 17 ประตู และในยูโร 2020 มีการยิงไกลนอกกรอบ 19 ประตู เมื่อดูจากเกมที่เหลือในยูโรครั้งนี้แล้ว การจะยิงไกลได้มากกว่าทั้งสองครั้งที่ผ่านมา มีโอกาสเกิดขึ้นมากทีเดียว

Advertisement

สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป(ยูฟ่า) เคยทำการสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นในยูโร 2020 ว่า แต่ละทีมนิยมที่จะครองบอลเข้าไปลุ้นประตูในเขตโทษมากกว่าการยิงไกลซึ่งมีโอกาสได้ประตูน้อยกว่ามาก

เมื่อพิจารณาสถิติการได้ประตูจากการยิงนอกกรอบในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ 14 ฤดูกาลหลังสุด มีเปอร์เซ็นต์ที่ลดลงมาเรื่อยๆ ฤดูกาล 2013-2014 เคยมีประตูจากการยิงไกลถึง 44.9 เปอรเซ็นต์​แต่หลังจากนั้นก็ลดลงมาเรื่อยๆ จนฤดูกาลที่เพิ่งจบไปเหลือที่ 32.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ดูเหมือนว่าโค้ชทั้งในระดับสโมสรในอังกฤษและทีมชาติในยุโรป ไม่ได้มองว่าการยิงไกลจะเป็นแนวทางในการพาทีมชนะได้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมในยูโร 2024 ถึงมีประตูจากการยิงไกลที่สวนทางกับเทรนด์ฟุตบอลในปัจจุบัน

Advertisement

มีทฤษฎี 2 ข้อที่สามารถนำมาตอบคำถามข้างต้นได้ ทฤษฎีแรก เป็นเรื่องทางจิตวิทยา คือ อารมณ์ของนักเตะที่เล่นให้สโมสรและทีมชาติมีความแตกต่างกัน ด้วยอารมณ์ร่วมในการรับใช้ชาติในทัวร์นาเมนต์ใหญ่อย่างยูโร เมื่อเห็นช่องทางที่จะซัดประตูให้ทีมชาติชนะได้ นักเตะบางคนเลือกที่จะยิงเพื่อจะได้เป็นฮีโร่ของประเทศ และไม่อยากปล่อยให้โอกาสนี้หลุดลอยไป ทำให้ได้เห็นประตูแบบสวยหยดย้อยในหลายแมตช์ของยูโรหนนี้

อีกทฤษฎี เป็นเรื่องของแทคติคที่แตกต่างกันในระดับสโมสรกับทีมชาติ หลายสโมสรในลีกใหญ่ของยุโรปมีโค้ชระดับโลกที่วางแผนให้ทีมสร้างสรรค์เกมในพื้นที่สุดท้ายของคู่แข่งได้หลากหลายกว่า มีนักเตะเชิงสูงที่เล่นด้วยกันแบบรู้ใจ เพราะซ้อมด้วยกันทุกวัน ทำให้ความเข้าใจกันเหนียวแน่นกว่าการเล่นทีมชาติ ที่มีบรรยากาศที่ต่างกับสโมสร ความรู้ใจอาจจะไม่เท่ากับในสโมสร เพราะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนนักเตะที่มารับใช้ชาติอยู่เรื่อยๆ และโค้ชหลายชาติก็ไม่ได้เป็นกุนซือขั้นเทพนัก ดังนั้นการที่โค้ชทีมชาติให้ลูกทีมยิงนอกกรอบเมื่อมีโอกาส ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการเพิ่มโอกาสที่จะได้ประตู

มีผลการศึกษาที่เผยแพร่ในการประชุมด้านการวิเคราะห์ข้อมูลกีฬาของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์(เอ็มไอที) เมื่อปี 2021 ที่ระบุว่า ถ้าทีมนั้นเพิ่มจำนวนในการยิงนอกกรอบ 10-20 เปอร์เซ็นต์ต่อเกม จากการพยายามใช้แนวทางอื่นๆ ในการทำประตู จะช่วยให้ทีมมีโอกาสได้ประตูเพิ่มขึ้น 0.5-1.15 ประตูต่อฤดูกาล ซึ่งการศึกษานี้ใช้คำพูดของ โยฮัน ครัฟฟ์ ตำนานลูกหนังชาวดัตช์ผู้ล่วงลับที่เคยบอกไว้ว่า “คุณจะไม่มีทางทำประตูได้เลย ถ้าคุณไม่ง้างเท้ายิง”

การศึกษาบอกอีกว่า การผ่านบอลอาจจะสร้างโอกาสในการยิงประตูที่ดีกว่าการยิงไกล แต่ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป แต่ถ้าไม่ลองเสี่ยงที่จะยิงไกล การจ่ายบอลไปเรื่อยๆ อาจจะไม่ได้ทำให้ทีมได้ยิงประตูในจังหวะนั้นก็ได้

เรื่องนี้สามารถนำผลงานของเบลเยียมในเกมที่แพ้สโลวาเกีย 0-1 มาทำให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นได้ เพราะบรรดานักเตะทีมเบลเยียมสร้างสรรค์โอกาสในเขตโทษให้ โรเมลู ลูกากู ยิงหลายต่อหลายครั้ง แต่กลับไม่ได้ประตูเลย ถ้าลองเปลี่ยนมาเป็นการยิงไกลในบางจังหวะ จะเป็นประตูหรือไม่ ก็คงตอบไม่ได้ แต่นักเตะระดับ เควิน เดอ บรอยน์, เลอันโดร ทรอสซาร์ ก็มีศักยภาพในการจบสกอร์จากนอกเขตโทษที่ไม่ธรรมดาอยู่แล้ว

โรมาเนียเป็นทีมที่ใช้การยิงนอกเขตโทษเล่นงานคู่แข่งที่ได้ผลมาแล้วในเกมชนะยูเครน 3-0 ซึ่งเกมนั้นทีมผีดิบยิงเข้ากรอบ 9 ครั้ง และเป็นการยิงจากนอกเขตโทษ 6 ครั้ง ซึ่งได้ประตูเบิกร่องจาก นิโคเล แสตนซิอู หลังจากนั้นโรมาเนียก็เล่นได้ง่ายขึ้น และคว้า 3 แต้มสำคัญไปในที่สุด

ถ้าถามหาการยิงไกลนอกเขตโทษแล้วเป็นประตูในรอบชิงชนะเลิศของศึกยูโร ในรอบกว่า 30 ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นเพียงประตูเดียวเท่านั้น ในเกมที่โปรตุเกส ชนะ ฝรั่งเศส 1-0 ที่สต๊าด เดอ ฟร้องซ์ มาจากฝีเท้าของ เอแดร์ ในนาทีที่ 109

ก็ต้องดูว่าจะมีทีมไหนที่ปรับเปลี่ยนมาใช้ทีเด็ดยิงไกลมากขึ้นอีกหรือไม่ ซึ่งเราอาจจะได้เห็นการได้ประตูจากการซัลโวนอกกรอบในรอบชิงชนะเลิศ ยูโร 2024 อีกครั้งก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image