เปิดจุดอ่อนอินทรีเหล็ก และแผนสองของนาเกลส์มันน์

เปิดจุดอ่อนอินทรีเหล็ก และแผนสองของนาเกลส์มันน์

หลังจากเริ่มต้น 2 นัดแรกได้อย่างร้อนแรง เจ้าภาพ เยอรมนี ก็มาสะดุดในเกมสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่ม ยูโร 2024

อินทรีเหล็กต้องไล่ตีเสมอ สวิตเซอร์แลนด์ 1-1 แบบหืดจับ โดยมาได้ประตูตีเสมอในช่วงทดเจ็บจาก นิคลาส ฟูลครูก แนวรุกจากโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์

แม้จะผ่านเข้ารอบมาได้ในฐานะแชมป์กลุ่ม แต่ความไม่แน่นอนเรื่องฟอร์มการเล่นของทัพอินทรีเหล็กก็ชวนให้เกิดคำถามว่า ลูกทีมของ ยูเลียน นาเกลส์มันน์ ดีพอจะไปถึงตำแหน่งแชมป์หรือไม่ หรือหากผิดหวัง จะเป็นการซ้ำแผลเก่าที่ทีมตกรอบเร็วในทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์อีกหรือเปล่า เพราะแฟนบอลเมืองเบียร์ยังหลอนกับฝันร้ายที่ทีมรักตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายในยูโรหนก่อน หรือการตกรอบแรกในฟุตบอลโลก 2 สมัยติดต่อกันอยู่เลย

Advertisement

1 แต้มจากเกมกับสวิสเป็นการเลือกใช้ “แผนสอง” กับการประสานงานของสองตัวสำรอง ฟูลครูกและ ดาวิด เราม์ หลังจาก “แผนแรก” ไม่เป็นผล

ก่อนศึกยูโรหนนี้จะเปิดฉาก นาเกลส์มันน์บอกว่าเขามี “แผนฉุกเฉิน” กรณีที่ทีมเจอปัญหาในสนาม อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคนถามเขาเรื่องนี้หลังเกมเตะนัดสุดท้ายรอบแบ่งกลุ่ม กุนซือหนุ่มกลับบอกว่า นี่ยังไม่ใช่แผนฉุกเฉินที่ว่านั้นแต่อย่างใด แต่เป็นผลจากความสามารถของตัวสำรองของทีม และการกล้าเล่นกล้าเสี่ยงจนผลลัพธ์ออกมาดี

Advertisement

นี่ถือเป็นแต้มสำคัญอย่างมากสำหรับเยอรมนี เพราะเป็นแต้มที่ช่วยให้ทีมการันตีแชมป์กลุ่ม เลี่ยงการปะทะกับทีมใหญ่อย่างแชมป์เก่า อิตาลี รวมถึงตัวเต็งอย่าง อังกฤษ หรือ ฝรั่งเศส ในสาย

แน่นอนว่าการเก็บแต้มอย่างทุลักทุเลย่อมไม่ใช่เรื่องน่าประทับใจนัก เช่นการไม่สามารถเอาชนะทีมเพื่อนบ้านรายนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2008 หรือการมีโอกาสสูงที่ต้องเจอกับของแข็งอย่าง สเปน ที่กำลังฟอร์มดีสุดสุดในรอบก่อนรองชนะเลิศ

ถึงกระนั้น สิ่งสำคัญกว่าคือการรักษาโมเมนตัม เพราะถ้าทีมแพ้จนเสียตำแหน่งแชมป์กลุ่ม จากบรรยากาศครึกครื้นใน 2 นัดแรก อาจกระทบกับความมั่นใจทั้งในหมู่นักเตะและแฟนๆ ได้

ในแง่สถิติ เทียบกับปี 2023 อินทรีเหล็กลงสนาม 8 นัด แพ้ถึง 5 นัด ในจำนวนนี้เป็นการพ่ายคาบ้านให้กับญี่ปุ่นและตุรกี ซึ่งผลงานย่ำแย่ดังกล่าวนำไปสู่การปลด ฮานซี่ ฟลิค ออกจากตำแหน่งบุนเดสเทรนเนอร์ และนาเกลส์มันน์เข้าไปรับช่วงในเดือนกันยายน

จากสถิติน่าผิดหวังเมื่อปีที่แล้ว มาตอนนี้ทีมลงสนาม 7 นัด ยังไม่แพ้ใคร ยิ่งเกมล่าสุดตัวสำรองช่วยเปลี่ยนเกมได้ ยิ่งสื่อให้เห็นว่าอินทรีเหล็กชุดนี้มีตัวเลือกที่หลากหลายในทีม

แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่า เทียบกับ 2 นัดแรกกับ สกอตแลนด์ และ ฮังการี สวิตเซอร์แลนด์เป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่งและมาตรฐานดีกว่า และเผยให้เห็นจุดอ่อนหลายอย่างของเจ้าภาพออกมา

ทั้งการที่สองแข้งหนุ่ม จามาล มูเซียล่า และ ฟลอเรียน เวิร์ตซ์ เจาะแนวรับของอีกฝ่ายไม่เข้าจนโดนเปลี่ยนตัวออก ทั้งปัญหาในแนวรับที่ต้องเสี่ยงใช้งาน โจนาธาน ทาห์ กับ อันโตนิโอ รูดิเกอร์ ที่ต่างมีใบเหลืองติดตัว และเซ็นเตอร์ทั้ง 2 ตัวก็มีปัญหาการรับมือความเร็วและความแกร่งของกองหน้าสวิสอย่าง บรีล เอ็มโบโล่ และ แดน เอ็นดอย จนท้ายที่สุดทาห์ก็มาโดนใบเหลืองจนพลาดลงสนามให้ทีมในนัดต่อไป

ในแดนกลาง สองแข้งตัวเก๋า โทนี่ โครส และ อิลคาย กุนโดกัน ต่างเจอปัญหาในการปะทะกับ กรานิต ชาก้า และ เรโม ฟรอยเลอร์ ส่วน ไค ฮาเวิร์ตซ์ ก็พลิกเกมให้ทีมไม่ได้อย่างที่คาดหวัง

ถึงอย่างนั้น การที่ทีมฟอร์มไม่ดีแต่ยังเอาตัวรอดเก็บแต้มมาได้ ก็แสดงให้เห็นว่าม้านั่งสำรองของทีมมีดีพอ เช่นเดียวกับสภาพจิตใจที่มุ่งมั่นไม่ยอมแพ้

แต่ไหนแต่ไรมา เยอรมนีมักได้ชื่อว่าเป็น “ทัวร์นาเมนต์ทีม” คือมักทำได้ดีในเกมฟุตบอลระดับทัวร์นาเมนต์ แม้จะเริ่มต้นแย่ หรือทุลักทุเลไปบ้าง ก็มักจะตั้งหลักได้ และเข้ารอบลึกได้บ่อยครั้ง รวมถึงหัวจิตหัวใจอันแข็งแกร่ง ไม่หวาดหวั่นหรือถอดใจง่ายๆ

เครื่องหมายการค้าเหล่านี้หายไปหลังผลงานย่ำแย่ในทัวร์นาเมนต์หลังๆ และเกมเตะกับสวิตเซอร์แลนด์ก็เปิดแผลให้เห็นว่า อินทรีเหล็กอาจจะไม่ได้แกร่งอย่างที่คิดเมื่อเทียบกับ 2 นัดแรกซึ่งเจอกับคู่แข่งที่ค่อนข้างมาตรฐานห่างกัน

อย่างน้อยที่สุด เวลานี้นาเกลส์มันน์และทีมก็แสดงให้เห็นว่า “แผนสอง” ยังใช้ได้กรณี “แผนแรก” ไม่ได้ผล

ส่วน “แผนฉุกเฉิน” ที่กุนซือหนุ่มบอกว่าเป็นไพ่ตายจะถูกงัดมาใช้เมื่อไร และเป็นอะไร ต้องลุ้นกันในทัวร์นาเมนต์ที่เหลือ

 

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image