การดวลจุดโทษ สิ่งที่น่ากลัวกว่าความพ่ายแพ้

การดวลจุดโทษ สิ่งที่น่ากลัวกว่าความพ่ายแพ้

ฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ เมื่อเข้าถึงรอบน็อกเอาต์ บ่อยครั้งที่การหาผู้ชนะต้องมาจากการดวลจุดโทษ ซึ่งเป็นเหมือนศัตรูตัวฉกาจของนักเตะบางคน เพราะเมื่อได้รับหน้าที่เป็นหนึ่งในคนที่ต้องสังหารจุดโทษแล้ว ความกดดัน ความกังวล ย่อมถาโถมใส่นักเตะคนนั้นอย่างมาก

การส่งบอลเข้าประตูไปได้ เหมือนเป็นหนทางเดียวที่จะรอดพ้นจากการถูกตำหนิ แต่ถ้าทำไม่ได้ นอกจากจะเป็นรอยด่างในความรู้สึกของตัวผู้ยิงเองแล้ว คำวิจารณ์ ด่าทอ หรือการเป็นแพะรับบาป จะเกิดขึ้นทันที

โรแบร์โต้ บาจโจ้ อดีตดาวยิงทีมชาติอิตาลี ที่พลาดจุดโทษสำคัญ จนส่งให้บราซิลคว้าแชมป์โลก 1994 ยังคงไม่ลืมความผิดพลาดในวันนั้น “จนถึงวันนี้ผมยังรับมันไม่ได้จริงๆ มันยังตามมาหลอกหลอนผมอยู่เลย”

Advertisement

คริส วอดเดิ้ล อดีตกองหน้าทีมชาติอังกฤษ ที่ยิงจุดโทษพลาดในเกมรอบรองชนะเลิศ ยูโร 1990 ทำให้แพ้เยอรมันตะวันตก ชวดเข้ารอบชิง บอกว่า “เหมือนผมตกขอบโลกไปอยู่ในที่ที่ไม่มีเสียงอะไรเลย”

แกเร็ธ เซาธ์เกต ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษในยูโร 2024 เคยพลาดจุดโทษในยูโร 1996 รอบรองชนะเลิศ จนทีมแพ้เยอรมนี เคยให้สัมภาษณ์ว่า “เหมือนการก้าวเดินจะไม่มีวันสิ้นสุด และต้องพบเจอว่าค่ำคืนมันมืดมนขนาดไหน”

PHOTO : AP

แม้แต่คนที่เคยผ่านทั้งประสบการณ์ยิงเข้าและยิงพลาดอย่าง สตีเว่น เจอร์ราร์ด อดีตกัปตันทีมชาติอังกฤษ ยังยอมรับว่า “ความกดดันในสถานการณ์เหมือนกับว่าคนทั้งประเทศฝากความหวังไว้ที่คุณ คนเป็นพันล้านทั่วโลกกำลังจ้องมองคุณอยู่ มันกัดกินใจผมมากๆ”

Advertisement

“ออปต้า” บริษัทเก็บสถิติและข้อมูลด้านกีฬา ได้นำสถิติการดวลจุดโทษในยูโรและฟุตบอลโลกทุกครั้งที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า การดวลจุดโทษหาผู้ชนะ คนที่ยิงพลาดส่วนใหญ่จะเป็นนักเตะที่ยิงคนที่ 4 มากถึง 36.4 เปอร์เซ็นต์ ส่วน 3 คนแรกโอกาสพลาดจะน้อยกว่าที่ 24.6 เปอร์เซ็นต์ ในคนที่ 1 และ 3 ส่วนคนที่ 2 เคยพลาดมาแล้ว 25.4 เปอร์เซ็นต์ และจะมีโอกาสพลาดถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ในคนที่ 9

พอล แกสคอยน์ อีกหนึ่งนักเตะทีมชาติอังกฤษที่พลาดจุดโทษในรอบตัดเชือก ยูโร’96 ในบ้านเกิด ได้อธิบายความรู้สึกระหว่างการเดินไปในเขตโทษ เพื่อยิงจุดโทษว่า คนอื่นๆ คงไม่รู้หรอกว่ามันเป็นอย่างไร ในขณะที่เขาเดินไป เหมือนมีก้อนอะไรติดอยู่ในคอ รู้สึกเหมือนอยากร้องไห้ เพราะกังวลมากๆ ถ้าให้พูดจริงๆ คือ ไม่อยากทำหน้าที่นี้เลย

อลัน เชียเรอร์ ตำนานกองหน้าสิงโตคำรามที่ยิงประตูสูงสุดให้กับทีมชาติมาจนถึงทุกวันนี้ ยืนยันว่าการยิงจุดโทษเป็นเหมือนศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของเขา แม้ว่าจะทำหน้าที่นี้ได้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมั่นใจเต็มที่เมื่อต้องยิง

“มันเป็นที่สุดของความน่ากลัว ในระหว่างเดินไปยิง มันเครียดมากๆ เพราะไม่อยากให้เพื่อนทั้ง 10 คนที่ยืนอยู่ข้างหลังต้องผิดหวัง” ดาวยิงสูงสุดของทีมชาติอังกฤษกล่าว

เซาธ์เกตบอกว่า การยิงจุดโทษไม่เหมือนการซื้อลอตเตอรี่ และไม่เกี่ยวกับว่าจะซ้อมกับทีมชาติมากขนาดไหน ถึงแม้ว่าเราจะมีโค้ชจุดโทษที่เก่งมาก แต่สุดท้ายแล้วมันก็เป็นเรื่องของโชคมากกว่าทักษะ ในวันที่เขายิงพลาดในยูโร’96 แทนที่จะโฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองควบคุมได้ ทั้งการหายใจหรือจะยิงไปทางไหน แต่เขากลับกังวลว่าถ้ายิงไม่เข้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งเต็มไปด้วยความคิดด้านลบทั้งนั้น

เมื่อผ่านช่วงเวลาอันสาหัสในการยิงจุดโทษพลาดจนทีมตกรอบฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ใหญ่มาได้แล้ว นักเตะเหล่านั้นต่างมีจิตใจที่แข็งแกร่งขึ้น สจวร์ต เพียร์ซ ที่เคยยิงพลาดเช่นกันในฟุตบอลโลก 1990 ที่อิตาลี เขาร้องไห้ตั้งแต่จบเกม ในห้องแต่งตัว ระหว่างเดินทางกลับโรงแรม แต่เมื่อลงเล่นให้น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ในฤดูกาลถัดมา แฟนบอลทีมตรงข้ามเขาก็ใช้ประโยคว่า “เพียร์ซเป็นคนเยอรมัน” (เพราะพลาดจุดโทษจนทำให้เยอรมันตะวันตกกรุยทางไปเป็นแชมป์โลก) แต่เขาใช้ฝันร้ายนี้มาสร้างความแข็งแรงให้จิตใจ และเจ้าตัวก็ยอมรับว่า ฤดูกาลหลังจบฟุตบอลโลก 1990 เป็นซีซั่นที่เขาเล่นได้ดีที่สุดในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพแล้ว

หรือแม้แต่เซาธ์เกตเอง การที่เขาถูกเล่นงานอย่างรุนแรงในวันที่พลาดกับทีมชาติ ก็ทำให้ไม่กล้ารับหน้าที่อะไรเลยกับทีมชาติมาเกือบ 20 ปี เพราะกลัวว่าจะถูกตั้งคำถามในวันที่ผิดพลาดอีก แต่เมื่อมองในอีกมุมหนึ่ง ทำให้รู้ว่าสิ่งที่แย่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในฟุตบอลได้ผ่านไปแล้ว และจะไม่มีอะไรที่เจ็บปวดกว่านี้เกิดขึ้นกับเขาอีก ประสบการณ์ในวันนั้นได้เป็นแรงกระตุ้นและช่วยให้เข้าใจตัวเองได้มากขึ้น

จะมีสักกี่คนที่จะได้กุมความหวังของคนทั้งประเทศด้วยการทำหน้าที่ในการยิงจุดโทษสำคัญ ไม่ว่าจะเข้าหรือพลาด เมื่อเวลาผ่านไป ก็จะกลายเป็นหนึ่งในความทรงจำที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ลูกหนังไปโดยปริยาย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image